พิษโควิดทุบผู้ประกอบโรงแรมปิดชั่วคราว 80%

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) ผู้ประกอบการโรงแรมอ่วมพิษโควิดระลอก 3 ทุบอัตราเข้าพักหล่นฮวบเหลือ 5% "ทีเอชเอ" ชี้แนวโน้มปิดกิจการชั่วคราวกว่า 80% คาดยาวถึงเดือน ต.ค. ยกเว้นโรงแรมใหญ่สายป่านยาว

ผู้ประกอบการโรงแรมอ่วมพิษโควิดระลอก 3 ทุบอัตราเข้าพักหล่นฮวบเหลือ 5% "ทีเอชเอ" ชี้แนวโน้มปิดกิจการชั่วคราวกว่า 80% คาดยาวถึงเดือน ต.ค. ยกเว้นโรงแรมใหญ่สายป่านยาว หวังยาแรงมาตรการคุมเข้มได้ผลหนุนสถานการณ์คลี่คลาย เตรียมปรับแผนหั่นราคาแรงชิงลูกค้าเพื่อความอยู่รอด

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอก 3 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมอย่างหนัก ซ้ำเติมสถานการณ์ที่เลวร้ายอยู่แล้ว โดยสมาคมฯ สอบถามสมาชิกอย่างไม่เป็นทางการถึงผลกระทบในเดือน เม.ย. พบว่าอัตราเข้าพักเฉลี่ยลดลงจาก มี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 30% เหลือเพียง 5%

"โรงแรมกว่า 80% ของสมาชิกสมาคมฯ อาจงดให้บริการชั่วคราวไปจนถึงเดือน ต.ค. จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย และรัฐบาลกระจายการฉีดวัคซีนให้แก่คนไทยได้จำนวนมากพอสมควรที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้"

สมาคมฯ ยังได้ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรมเดือน มี.ค. ก่อนระบาดรอบใหม่ โดยสำรวจโรงแรม 128 แห่ง พบว่า มีการเปิดกิจการ 48% เปิดให้บริการบางส่วน 41% และปิดกิจการ 11% มีโรงแรมขนาดใหญ่สายป่านยาวเท่านั้นที่ยังเปิดกิจการ ส่วนโรงแรมที่ปกติรับเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติขณะนี้ปิดกิจการแล้วทั้งหมด
ขณะที่อัตราการเข้าพักเฉลี่ยตลอดเดือน มี.ค.อยู่ที่ 20% ยกเว้นภาคตะวันออก (ชลบุรี) มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยสูงกว่าอยู่ที่ 30% ส่วนอัตราการจองห้องพักเดือน เม.ย. ซึ่งมีวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์ เฉลี่ยอยู่ที่ 20% ยกเว้นโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวทางภาคใต้ เช่น กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี มีอัตราการจองห้องพัก 30%

"สำรวจสภาพคล่องของโรงแรมเดือน มี.ค. ส่วนใหญ่ระบุว่ามีสภาพคล่องดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน หรือหากเปิดดำเนินการ จะมีเงินจ่ายพนักงานถึงแค่เดือน พ.ค.นี้"

ด้านอัตราการจ้างงานอยู่ที่ 55% เทียบก่อนโควิด-19 และ 66% ของการจ้างงานเป็นการจ้างประจำ โดยโรงแรมในภาคใต้กลับมาจ้างงานน้อยที่สุด 40% ของอัตราจ้างงานในช่วงก่อนโควิด ซึ่งการจ้างงานส่วนใหญ่ยังคงให้พนักงานลางานโดยไม่รับค่าจ้าง (Leave without Pay) ใช้วันลาประจำปี สลับกันมาทำงาน

อย่างไรก็ดี สมาคมฯ เตรียมสำรวจ "ลมหายใจของผู้ประกอบการโรงแรม" อีกครั้ง จากก่อนหน้านี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่เวลานี้ต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้้งจากเดิมคาดการฟื้นตัวชัดเจนและเข้าสู่สภาวะปกติราวปี 2566 โดยกลุ่มโรงแรมระดับลักชัวรีจะกลับมาเร็วกว่าภาพรวม หรือในปี 2565

"แต่หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ได้เร็ว โอกาสที่โรงแรมจะฟื้นคืนชีพได้คงยาก และต้องยืดเวลาออกไปอีก"

ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ปรับระดับพื้นที่ของสถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะมาตรการกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดหรือสีแดงเข้ม 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ บังคับใช้วันที่ 1 พ.ค. ทำให้ภาคธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารได้รับผลกระทบจากมาตรการอีกรอบแต่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อร่วมยุติการระบาดระลอก 3 โดยห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มของบุคคลมากกว่า 20 คน กระทบธุรกิจโรงแรมด้านตลาดการจัดประชุมสัมมนาโดยตรง รวมทั้งงดนั่งรับประทานในร้าน หรือสถานที่เพื่อการออกกำลังกาย ยิม ฟิตเนส ให้ปิดให้บริการ

"ตอนนี้ธุรกิจโรงแรมมีลูกค้ามาใช้บริการน้อยอยู่แล้ว ทั้งฝั่งห้องพักและบริการอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) และเกิดขึ้นกับโรงแรมในทุกภูมิภาค ไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อด้านท่องเที่ยวของลูกค้า"

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ธุรกิจโรงแรมในกรุงเทพฯ ได้ทำโปรโมชั่นเสนอขายแพ็คเกจห้องพักเมื่อจองตรงกับโรงแรม เพื่อกระตุ้นการเข้าพักในช่วงโลว์ซีซั่น โปรโมชั่นส่วนใหญ่หมดเขตเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้ โดยต่างคาดหวังรับลูกค้าที่งดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทางช่วงโควิดรอบใหม่ระบาด สามารถซื้อแพ็คเกจสเตย์เคชั่น ใช้เวลาพักผ่อนที่โรงแรมแทน แต่หลังมาตรการคุมเข้มล่าสุด จำเป็นต้องปรับแผนการทำตลาดใหม่ทั้งระยะสั้นและหลังสถานการณ์คลี่คลายที่จะการแข่งขันช่วงชิงลูกค้าเพื่อความอยู่รอดจะรุนแรงยิ่งขึ้น