เสี่ยง ! คลัสเตอร์ 'แรงงานเถื่อน' เร่งสกัด'โควิด'ชายแดนใต้

เสี่ยง ! คลัสเตอร์ 'แรงงานเถื่อน' เร่งสกัด'โควิด'ชายแดนใต้

ตัวเลขคนไทยเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซียทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมายประมาณกว่าแสนคน ในขณะแรงงานต่างชาติ เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม มีตัวเลขรวมกัน 2-3 เท่าของแรงงานไทย นี่คือ 'คลัสเตอร์' ที่ 'พล.อ.ประยุทธ์' กังวล

การอพยพ 'แรงงานเถื่อน' จากประเทศมาเลเซีย อาจกลายเป็น'คลัสเตอร์'ใหม่ซ้ำเติมการระบาด 'โควิด' รอบสามในประเทศไทย และกระทบแผนควบคุมโรคของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่หวังให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อปัจจุบันซึ่งอยู่ที่หลักพัน ลดระดับลงมาสู่หลักร้อย และหลักสิบภายในเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้

ทันทีที่ 'มาเลเซีย'ประกาศใช้มาตรการผลักดันต่างชาติออกนอกประเทศ โดยเฉพาะแรงงานผิดกฎหมาย ที่มีทั้งคนไทย  เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม หวังจัดระเบียบควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศที่พุ่งสูงเฉลี่ยวันละ 2,000 คน ส่งผลให้ไทยต้องตรึงเข้มชายแดนตั้งแต่จังหวัดสตูล สงขลา ยะลา และนราธิวาส ป้องกันผู้ที่หลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ท่ามกลางข้อกังวลของ 'พล.อ.ประยุทธ์'

'กองทัพภาคที่ 4' ได้สรุปตัวเลขคนไทยเดินทางไปทำงานในประเทศมาเลเซียทั้งแบบถูกกฎหมายและผิดกฎหมายประมาณกว่าแสนคน ในขณะแรงงานต่างชาติ เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม มีตัวเลขรวมกัน 2-3 เท่าของแรงงานไทย

โดยก่อนหน้านี้แรงงานไทยได้ทยอยเดินทางกลับประเทศตั้งแต่โควิดระบาดเมื่อเดือน เม.ย.2563 จนถึงปัจจุบัน ยอดประมาณ 30,000 คน เป็นการเดินทางถูกกฎหมาย 25,000 คน ลักลอบผ่านช่องทางธรรมชาติ 5,000 คน  

พล.ท.เกรียงไกร ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 (มทภ.4)ได้ระดมทุกหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้ง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ด่านตรวจคนเข้าเมือง และกองกำลังป้องกันชายแดน กางแผนรองรับสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมอำนวยความสะดวกคนไทยที่ประสงค์จะเดินทางกลับอย่างถูกกฎหมาย 4 ด่านหลัก คือ สุไหงโก-ลก ด่านเบตง  ด่านสะเดา และด่านวังประจัน 

ทั้งหมดต้องผ่านการคัดกรองโควิด-19 เข้มงวด หากพบใครเสี่ยง มีไข้ จะถูกส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลทันที โดยเตรียมรถพยาบาลฉุกเฉิน รอรับตัวที่หน้าด่านทั้ง 4 ด่าน ส่วนผู้ที่อาการปกติส่งไปกักตัวในสถานที่รัฐจัดเตรียมไว้ให้จนครบ 14 วันตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุข

ควบคู่การบังคับใช้กฎหมายเข้มงวดกับผู้ลักลอบเข้ามาตามช่องทางธรรมชาติโดย มทภ.4  สั่งจับตาพิเศษชายแดนฝั่งจังหวัดนราธิวาสและสงขลา เพราะมีช่องทางธรรมชาติหลายจุด ที่สามารถลักลอบเข้ามาได้ ประกอบกับทั้ง 2 จังหวัดเป็นพื้นที่สีแดงที่ต้องควบคุมสูงสุดตามประกาศ ศบค. 

"ผมห่วงทางจังหวัดนราธิวาส ที่มักมีผู้ลักลอบเข้ามาทางฝั่ง อ.ตากใบ อ.แว้ง และ อ.สุไหงโกลก โดยข้ามแม่น้ำเข้ามา ยิ่งช่วงนี้หน้าแล้งน้ำแห้ง ทำให้สามารถข้ามมาได้โดยสะดวก ยิ่งมาเลเซียผลักดันมาอาจทำให้มีคนแอบลักลอบเข้ามามากยิ่งขึ้น โดยก่อนหน้านี้สามารถจับกุมได้ต่อเนื่อง แต่ได้นำเข้ากักตัวสังเกตอาการทั้งหมด" มทภ.4 ระบุ

เช่นเดียวกับ พล.ต.ไพศาล หนูสังข์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส ระบุว่า  สถานการณ์การระบาดโควิด- 19  ทำให้มาเลเซียยกระดับมาตรการ ตามกฎหมายของมาเลเซีย คาดว่าคนไทย เมียนมา กัมพูชา ลาว อาจมีการลักลอบเข้ามาโดยผิดกฎหมายมากขึ้น จึงต้องมีการปฏิบัติในการควบคุมพื้นที่ เตรียมพร้อมทั้งคน เครื่องมือ สกัดกั้นตามแนวชายแดน 3 มิติ คือ ทางอากาศ ทางน้ำ และทางบก 

ทั้งนี้ มทภ.4 ยกระดับมาตรการป้องกันตามแนวชายแดน และส่งชุดปฏิบัติการจรยุทธทั้งแนวชายแดนทางบกและทางน้ำ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยฝั่งติด จ.สตูล มอบหมายให้ กองกำลังป้องกันชายแดน กองกำลังเทพสตรี ประสานกับกองทัพเรือภาค 3 ร่วมกันลาดตระเวน ตรวจเข้มจุดที่เป็นเกาะ แก่ง ที่คาดว่าอาจมีการลักลอบเข้ามาทางเรือ

ส่วนพื้นที่ฝั่งชายแดน อ.สะเดา จ.สงขลา ซึ่งมีแนวรั้วชายแนวที่มีระยะทางยาว ได้สั่งการหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารราบที่ 5 เพิ่มความเข้มงวดลาดตระเวน ตรวจสอบ ควบคู่ไปกับซ่อมแซ่มรั้วที่ถูกลักลอบตัดทำลาย 

แม้ 'กองทัพภาคที่ 4' จะมีมาตรการเข้มข้นป้องกันชายแดนใต้ แต่งานด้านการข่าวยังพบความเคลื่อนไหว ขบวนการนำพาแรงงานข้ามชายแดนผิดกฎหมาย เพราะผลพวงจากมาตรการของมาเลเซีย ทำให้ค่าหัวแรงงานต่างชาติ โดยเฉพาะ กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม ลาว พุ่งสูงประมาณ 12,000-26,000 บาท /คน

นี่คือ 'คลัสเตอร์' ใหญ่ ที่ 'พล.อ.ประยุทธ์' ห่วงใย เพราะหากหยุดขบวนการนี้ไม่ได้ ก็คงได้เห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อในไทยพุ่งสูงกว่าปัจจุบัน