'ยานยนต์' แชมป์ลงทุน EEC ไตรมาส 1 ตั้งโรงงานใหม่โต 10%

'ยานยนต์' แชมป์ลงทุน EEC ไตรมาส 1 ตั้งโรงงานใหม่โต 10%

ไตรมาส 1 ปี 2564 อยู่ในช่วงระบาดรอบโควิด-19 รอบใหม่จากต้นตอคลัสเตอร์สมุทรสาครและบ่อนใน จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง แต่การตั้งโรงงานใหม่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์เปิดกิจการและขยายโรงงานนอกนิคมอุตสาหกรรม ตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค.2564 พบว่า หากแยกเฉพาะการเปิดกิจการโรงงานในอีอีซี คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีโรงงานเปิดใหม่ 86 แห่ง จ้างงานเพิ่ม 2,803 คน และมีเงินลงทุน 9,871 ล้านบาท 

ขณะที่ช่วงเดียวกันของปี 2563 มีโรงงานเปิดใหม่ 90 แห่ง จ้างงานเพิ่ม 2,628 คน และมีเม็ดเงินลงทุน 8,933 ล้านบาท ซึ่งเมื่อดูยอดเงินสูงทุนในปี 2564 สูงกว่าปี 2563 ถึง 938 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.5% ซึ่งถือเป็นแนวโน้มที่ดีที่นักลงทุนยังคงมีความมั่นใจขยายการลงทุนในอีอีซีต่อเนื่องแม้ว่าจะมีโควิด-19

ส่วนการขยายการลงทุนในอีอีซีรอบ 3 เดือนแรกของปีนี้ มี 5 โรงงาน จ้างงานเพิ่ม 506 คน และมีเงินลงทุน 1,463 ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีโรงงานขยายกิจการ 35 โรง จ้างงานเพิ่ม 3,683 คน เงินลงทุน 16,819 ล้านบาท สาเหตุที่ลดลงเนื่องจากในปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการรายใหญ่หลายรายได้ขยายการลงทุนไปแล้ว

โรงงานที่เปิดใหม่ในอีอีซีในปี 2564 แบ่งเป็น 6 อันดับแรก คือ 1.อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มีมูลค่าลงทุน 3,520 ล้านบาท 2.อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 1,481 ล้านบาท 3.อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ 1,119 ล้านบาท 4.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากพืช 557 ล้านบาท 5.อุตสาหกรรมพลาสติก 482 ล้านบาท 6.อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะ 405 ล้านบาท

161919438145

“แม้อยู่ช่วงวิกฤติโควิด-19 แต่ผู้ประกอบการมั่นใจลงทุนตั้งโรงงานใหม่และมีเม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น สะท้อนว่านักลงทุนมั่นศักยภาพไทย ซึ่งคาดว่าหลังการระบาดจะมียอดลงทุนเพิ่มขึ้นมาก”

สำหรับยอดรวมการเปิดโรงงานใหม่ทั่วประเทศช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ มี 594 โรงงาน มีการใช้แรงงาน 19,495 คน มูลค่าเงินทุน 45,569.72 ล้านบาท และเมื่อพิจารณาปี 2563 (ม.ค.-มี.ค.) มูลค่าเงินทุนเพิ่มขึ้น 41.17% โดยกลุ่มที่มีการประกอบกิจการโรงงานจำนวนมากสุด 4 อันดับแรก ได้แก่ 

1.อุตสาหกรรมผลิตยานพาหนะและอุปกรณ์รวมทั้งการซ่อมยานพาหนะและอุปกรณ์ มีมูลค่าเงินทุน 6,962.78 ล้านบาท สัดส่วน 14.62% ของมูลค่าเงินทุนทั้งหมด 

2.อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ มูลค่าเงินทุน 5,838.8 ล้านบาท สัดส่วน 12.26% ของมูลค่าเงินทุนทั้งหมด 

3.อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง 5,508.12 ล้านบาท สัดส่วน 11.56% ของมูลค่าเงินทุนทั้งหมด 

4. อุตสาหกรรมอาหาร3,604.69 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.57% ของมูลค่าเงินทุนทั้งหมด

จากมูลค่าเงินที่เพิ่มขึ้นของโรงงานแสดงให้เห็นว่าอุตสาหกรรมสำคัญลงทุนเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 เพราะเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวส่งผลให้การผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ดังนี้ 

1.การผลิตยานยนต์ ภาพรวมคาดว่าในปี 2564 จะมีการผลิต 1.5 ล้านคัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการผลิตยานยนต์เริ่มส่งสัญญาณดีขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีก่อน ส่วนหนึ่งได้รับอานิสงส์จากการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ พร้อมทั้งมีมหกรรมยานยนต์ 2 ช่วง ในเดือน ก.ค. และ ธ.ค. 2563 โดยเฉพาะรถปิคอัพที่ขยายตัวได้มีตลาดหลักในออสเตรเลีย รองลงมา คือ ฟิลิปปินส์ นิวซีแลนด์ และซาอุดิอาระเบีย

2.อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวอย่างชัดเจนในอุปกรณ์กึ่งตัวนำและวงจรรวม (Semiconductor, IC) ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และสมาร์ทโฟน โดยเติบโตตามตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลกจากการส่งออกไปสหรัฐ จีนและเกาหลีใต้ ตามวิถีชีวิตใหม่ที่ทำงานที่บ้านและการศึกษาผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น

การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับอานิสงส์จากการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า สายไฟฟ้า ตู้เย็น และกระติกน้ำร้อนที่ยังคงขยายตัวได้ตามคำสั่งซื้อทั้งภายในและต่างประเทศ ที่ขยายตัวตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใช้เวลาภายในที่พักอาศัยมากขึ้น อีกทั้งการส่งออกไปตลาดสหรัฐ จีน และออสเตรเลียเพิ่มขึ้น

3.อุตสาหกรรมการผลิตถุงมือยาง ถุงมือทางการแพทย์ เพราะผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโควิด-19 โดยขยายตัวจากการส่งออกไปสหรัฐเป็นหลัก ถัดมา คือ สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และจีน

4.การผลิตอาหาร ขยายตัวทั้งตลาดภายในและต่างประเทศตามความต้องการสำรองอาหารและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โครงการคนละครึ่ง , เราชนะ , เรารักกัน ส่งผลให้ผู้บริโภคจับจ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ทั้งปลาทูน่ากระป๋อง ผักและผลไม้กระป๋อง บะหมี่สำเร็จรูป และนมพร้อมดื่ม โดยเฉพาะข้าวโพดหวานกระป๋องที่ต้องการเพิ่มในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ขณะที่การผลิตน้ำตาลหดตัวเพราะภัยแล้งทำให้ผลผลิตอ้อยน้อยกว่าปีก่อนจึงมีน้ำตาลทรายดิบนำมาแปรสภาพเป็นน้ำตาลทรายน้อย

ดังนั้นจากตัวเลขการเปิด-ปิดจำนวนโรงงานปี 2564 แสดงให้เห็นว่าไทยมีศักยภาพผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เพราะมูลค่าเงินทุนเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสำคัญ และนักลงทุนเชื่อมั่นเนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง รวมทั้งไทยเริ่มฉีดวัคซีนและมีแผนการฉีดวัคซีนที่ชัดเจน และรัฐบาลเริ่มมีมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าและโลกดีขึ้นต่อเนื่อง โดยดูจากค่าดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (พีเอ็มไอ) ของประเทศสำคัญ เช่น จีน สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่อง