'คนละครึ่ง' เฟส 3 รอ! 'กระทรวงการคลัง' เล็งเพิ่มสิทธิเงินเยียวยามากกว่า 15 ล้านคน

'คนละครึ่ง' เฟส 3 รอ! 'กระทรวงการคลัง' เล็งเพิ่มสิทธิเงินเยียวยามากกว่า 15 ล้านคน

"กระทรวงการคลัง" เตรียมเสนอมาตรการ "คนละครึ่ง" เฟส 3 ช่วยเงินเยียวยาโควิดระลอกใหม่ โดยมีแนวคิดเพิ่มจำนวนผู้ร่วมโครงการมากกว่า 15 ล้านคน และ ไม่จำกัดคุณสมบัติ

ความคืบหน้าของมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 กระตุ้นเศรษฐกิจอย่าง คนละครึ่ง ความคืบหน้าล่าสุด แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะออกแบบมาตรการคนละครึ่งเฟส 3 เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งจะให้จำนวนคนที่ได้รับสิทธิ์เงินเยียวยาในโครงการนี้ครอบคลุมให้มากที่สุด โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในลำดับต่อไป

แหล่งข่าวกล่าวว่า โครงการคนละครึ่งที่รัฐบาล ได้เริ่มนำมาใช้เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของคนในประเทศ เพื่อช่วยทดแทนรายได้ที่หายไปจากการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19นั้น มีคนที่ได้รับสิทธิ์ในโครงการคนละครึ่งทั้งสองเฟสแรกรวม 15 ล้านคน ซึ่งใช้งบประมาณรวมสองเฟสกว่า 5.2 หมื่นล้านบาท

'คนละครึ่ง' เฟส 3 รอ! 'กระทรวงการคลัง' เล็งเพิ่มสิทธิเงินเยียวยามากกว่า 15 ล้านคน

ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการคนละครึ่งที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง กำหนดให้คนไทยที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และไม่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิ์ได้ แต่ไม่เกิน 10 ล้านสิทธิ์ โดยจะได้รับเงินเยียวยาช่วยเหลือจากรัฐคนละ 3 พันบาท ซึ่งรัฐต้องใช้งบในโครงการนี้ 3 หมื่นล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามเกิดปรากฏการณ์ที่คนแห่เข้ามาลงทะเบียนเป็นจำนวนมาก จนบางครั้งทำให้ระบบของกรุงไทยล่ม และถูกวิจารณ์จากพรรคการเมืองฝ่ายค้านว่า โครงการประเภทนี้ทุกคนในประเทศควรได้รับสิทธิ์ ไม่ใช่ให้ต้องแย่งกันเช่นนี้

ดังนั้น ต่อมารัฐบาลได้ตัดสินใจเพิ่มสิทธิ์ในโครงการนี้อีก 5 ล้านสิทธิ์ โดยให้เงินช่วยเหลือคนละ 3.5 พันบาท และเพื่อให้เกิดความเท่าเทียม รัฐจึงเพิ่มเงินให้กับคนที่ได้รับสิทธิ์ในเฟสแรก 10 ล้านคน อีกคนละ 500 บาท โดยเฟสสองนี้ใช้งบ 2.25 หมื่นล้านบาท ซึ่งการใช้จ่ายทั้งหมดจะผ่านแอพลิเคชั่นเป๋าตังของกรุงไทย โดยการใช้จ่ายในทุกครั้งรัฐจะออกให้ 50% ของการใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 150 บาทต่อวัน

โครงการคนละครึ่งเฟสสามที่อยู่ในระหว่างการพิจารณานี้ จะพยายามขยายจำนวนคนที่จะได้รับสิทธิ์ให้ได้มากกว่า 15 ล้านคน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการเราชนะ ที่เป็นโครงการเยียวยาผลกระทบโควิด-19ที่รัฐบาลให้เงิน 7 พันบาทใส่กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์แก่ประชาชนที่ลงทะเบียนและมีคุณสมบัติที่กำหนด เช่น ต้องไม่เป็นผู้มีเงินได้พึ่งประเมินเกินกว่า 3 แสนบาทต่อปี และไม่เป็นผู้มีเงินในบัญชีเงินฝากเกินกว่า 5 แสนบาท ซึ่งโครงการเราชนะครอบคลุมคน 33 ล้านคน

สำหรับมาตรการคนละครึ่งในเฟสที่สามนี้ กระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการและเปิดกว้างสำหรับคุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ โดยคนที่เคยเข้าร่วมโครงการแล้ว ไม่จำเป็นต้องมาลงทะเบียนอีก ทำให้คนที่คาดว่าจะได้รับสิทธิ์จะมากกว่า 15 ล้านคนและ เม็ดเงินที่ใช้จะต้องมีมากกว่าที่ผ่านมา แต่ยังไม่สรุปว่า รัฐจะจ่ายเงินให้ต่อรายจำนวนเท่าเดิมหรือมากกว่า

ทั้งนี้ สำหรับระยะเวลาที่จะดำเนินโครงการคนละครึ่งเฟส 3 นั้น จะนำมาใช้ในช่วงหลังเดือนมิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นช่วงที่โครงการเราชนะในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ

แหล่งข่าวกล่าวว่า นอกจากโครงการคนละครึ่ง ที่เตรียมผลักดันออกมาแล้วนั้น กระทรวงการคลัง ยังเตรียมที่จะออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของคนมีกำลังซื้อหรือกลุ่มที่คนที่รายได้สูง เพื่อจูงใจให้คนกลุ่มนี้ใช้จ่ายในช่วงนี้ให้มากขึ้น

ด้านเม็ดเงินที่จะใช้ในโครงการกระตุ้นการใช้จ่ายดังกล่าว กระทรวงการคลังระบุว่า ยังมีเพียงพอ เนื่องจากเงินกู้ตาม พรก.เงินกู้เพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านบาท จนถึงปัจจุบันเหลือวงเงินตามกฎหมายนี้กว่า 2 แสนล้านบาท

สำหรับโครงการเราชนะ ที่เป็นมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด โดยใส่เงินในกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชนคนละ 7 พันบาท กระทรวงการคลังยังไม่มีแนวความคิดที่จะต่ออายุโครงการนี้ ส่วนโครงการเราเที่ยวด้วยกันนั้น เป็นมาตรการที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้พิจารณา

ทั้งนี้ โครงการคนละครึ่ง ถือว่าเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จของกระทรวงการคลัง ในการช่วยกระตุ้นการใช้จ่าย ซึ่งมีส่วนช่วยยอดขายของพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยกว่า 1 ล้านร้านค้าทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ อีกทั้งยังทำให้ประเทศไทยเข้าใกล้การเป็นสังคมไร้เงินสดมากขึ้น