'ฟ้าทะลายโจร' ใช้อย่างไร ? ให้ปลอดภัยต่อตับ

'ฟ้าทะลายโจร' ใช้อย่างไร ? ให้ปลอดภัยต่อตับ

จากความสับสนของสังคมในปัจจุบันที่ว่า ตกลงแล้ว “ฟ้าทะลายโจร” ป้องกันโควิด ได้หรือไม่ แล้วต้องทานปริมาณเท่าไหร่ อย่างไร จึงจะช่วยบรรเทาอาการป่วย หรือ ยับยั้งไวรัส ในผู้ป่วยโควิด 19 ที่อาการไม่หนัก ให้ได้ผล และไม่เป็นอันตรายต่อตับ

ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการศึกษานำร่องผลของยาสารสกัด "ฟ้าทะลายโจร" ขนาดสูงต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 หลังจากการวิจัยในหลอดทดลอง พบมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยังยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรคโดยที่ยังไม่มีอาการ       

โดยมีการศึกษาแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ “ในหลอดทดลอง” ผลที่ออกมา คือ ตัวยาสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนไวรัสในเซลล์ แต่ไม่สามารถป้องกันการเข้าเซลล์ของไวรัสได้ ดังนั้น สามารถใช้ในการรักษา แต่ไม่สามารถป้องกันได้ ขณะที่ “ทดสอบในมนุษย์” พบว่า การเข้าไปอยู่ในร่างกาย แนวโน้มเห็นผลว่าตัวฟ้าทลายโจร สามารถลดอาการอักเสบ นำมาสู่ “การทดลองในผู้ป่วยโควิด” ซึ่งจะมีทั้งคนที่ได้รับยาหลอก และ ยาจริง

  • ทดสอบผู้ป่วยโควิด 304 ราย

แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวในการเสวนา หมอแผนปัจจุบัน หมอแผนไทย หมอแผนจีน ตอบทุกข้อสงสัย ไขทุกข้อข้องใจ  “ฟ้าทะลายโจร ป้องกัน  รักษาโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ ?” ผ่านคลับเฮ้าส์ ว่า  ความก้าวหน้างานวิจัยฟ้าทลายโจร  พบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 ที่มีอาการเล็กน้อย ปานปลาง 304 ราย  ทุกรายอาการดีขึ้น จนหายเป็นปกติ มีส่วนน้อย 5-6 ราย ที่มีผลข้างเคียงเล็กๆ น้อยๆ ประเด็นสำคัญ คือ 304 ราย ไม่มีรายใดเกิดอาการลุกลามเพิ่มเติม จนใส่ท่อช่วยหายใจ หรือไวรัสลงปอด เข้าไอซียู ทุกคนดีขึ้นค่อนข้างเร็ว กว่ากลุ่มที่ไม่ได้ใช้ยา

“มีเพียง 1 ราย เท่านั้น ที่เชื้อไปปอด ทั้งๆ ที่ใช้ฟ้า "ทะลายโจร" แต่เป็นรายที่ได้รับยาไม่ตามโดสที่แนะนำ ดังนั้น จะเห็นว่าการใช้ฟ้าทลายโจร มีผลทำให้กลุ่มอาการน้อย อาการไม่รุนแรงขึ้น และต่อจากนี้จะมีการเก็บข้อมูลให้ลึกขึ้นต่อไป”  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

ทิศทางการเดินหน้าของงานวิจัย จากการระบาดครั้งใหม่ น่าจะเป็นโอกาสที่ดี ใช้วิกฤติให้เกิดการเรียนรู้ โดยที่ผ่านมา ได้รับงบประมาณ สนับสนุนจาก สธ. ในการจัดหาฟ้าทะลายโจร เข้ามาช่วยเหลือกลุ่มอาการเล็กน้อย และติดตามไปด้วย ในช่วงที่ผู้ป่วยจำนวนมาก ผลลัพธ์ที่พบว่า 304 ราย อาการไม่แย่ลง แทนการใช้ฟาวิพิราเวียร์ที่ต้องสั่งจากต่างประเทศ แต่เปลี่ยนมาใช้ฟ้าทะลายโจร ขณะนี้ มีการเตรียมพร้อมยาเพียงพอ 77 จังหวัดทั่วไทย

ด้วยความมุ่งหวังให้ฟ้าทะลายโจร ตอบโจทย์ คนไทยและส่งเสริมเกษตรกร บนพื้นฐานหลักการที่ถูกต้อง การทำงานครั้งนี้จะอยู่ที่ความยินยอมของผู้ป่วยและดุลพินิจแพทย์เจ้าของไข้ เดินหน้าไปตามความยินยอมของทุกฝ่าย และมีการติดตามศึกษา นำข้อมูลมาขยายประโยชน์มากขึ้น” พญ.อัมพร กล่าว  

  

  • ใช้ปริมาณเท่าไหร่จึงจะพอดี

สำหรับปริมาณการใช้ “ฟ้าทะลายโจร” กรมการแพทย์แผนไทยฯ ให้ข้อแนะนำ ดังนี้

- ใช้ในเชิงส่งเสริมสุขภาพ : ปริมาณ 20 มก.ต่อวัน (ไม่เกิน 5 วัน)
- ใช้รักษาผู้ป่วยไข้หวัด : ปริมาณ 60 มก.ต่อวัน (ครั้งละ 20 มก. 3 ครั้ง)
- การศึกษารักษากลุ่ม โควิด 19 :  ปริมาณ 180 มก. ต่อวัน (ครั้งละ 60 มก. 3 ครั้ง) 

“แต่แนะนำว่าควรใช้ไม่เกิน 5 วัน เพราะการใช้นานกว่านั้น ยิ่ง 180 มก. จะส่งผลต่อตับ และอยู่ในการแนะนำของแพทย์ ขณะที่ ในเชิงแพทย์แผนไทยเป็น ฟ้าทลายโจร เป็นยาเย็น หากกินนาน ส่งผลให้ตับไม่ดี มือเท้าเย็น ใจสั่น อ่อนเพลีย”  

“ยืนยันว่าฟ้าทะลายโจรไม่ใช่ยาหลัก และไม่ได้ใช้ในผู้ป่วยอาการรุนแรง แต่ลดความขาดแคลนยาแพง โดยใช้ในผู้ป่วยอาการน้อย และสกัดอาการให้หายเร็วขึ้น” อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าว 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ไขข้อสงสัย 'ฟ้าทะลายโจร' รักษา - ป้องกัน 'โควิด-19' ได้หรือไม่

 

  • สรุปแล้ว ยังควรทาน "ฟ้าทะลายโจร" หรือไม่

ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อธิบายว่า สรุปแล้วประเด็นหลักที่ต้องสื่อ คือ หนึ่ง จากข้อมูลที่ศึกษาติดตามคนไข้ที่ได้รับยา "ฟ้าทะลายโจร" ในการเก็บรวบรวมข้อมูล 304 ราย ข้อแนะนำ คือ ขอให้ใช้ฟ้าทะลายโจร ในกรณีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด 19 และมีอาการไม่รุนแรง ภายใต้การดูแลของแพทย์

“เพราะฉะนั้น ไม่แนะนำให้ผู้ป่วย ไปซื้อ "ฟ้าทะลายโจร" ตามร้านขายยามาใช้เอง เพราะไม่แน่ใจในเรื่องของปริมาณตัวยาที่มีอยู่ในท้องตลาด ด้วยความที่ฟ้าทะลายโจร พัฒนาจากสมุนไพร สามารถใช้ทั้งแพทย์แผนไทยและแผนปัจจุบัน และต้องใช้ไม่เกิน 5 วัน เพราะจะมีผลต่อการทำงานของตับ ซึ่งถือเป็นประเด็นสำคัญ” รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าว