ไขข้อสงสัย 'ฟ้าทะลายโจร' รักษา - ป้องกัน 'โควิด-19' ได้หรือไม่

ไขข้อสงสัย 'ฟ้าทะลายโจร' รักษา - ป้องกัน 'โควิด-19' ได้หรือไม่

การระบาด "โควิด-19" ระลอกใหม่ “ฟ้าทะลายโจร” กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการดูแลผู้ป่วยควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การใช้ฟ้าทะลายโจรยังมีข้อจำกัด ซึ่งส่วนใหญ่ใช้รักษา แต่ยังไม่มีงานวิจัยว่าป้องกันโควิด 19 ได้ และข้อห้ามสำหรับบางกลุ่ม

ข้อมูลการศึกษา จาก กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ชี้ให้เห็นว่า “ฟ้าทะลายโจร” มีสารที่มีฤทธิ์ลดระดับสารที่ก่อการเกิดการอักเสบ การยับยั้ง การเพิ่มจำนวนของไวรัส รวมถึงการอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสเอง ทั้งในหลอดทดลอง และสัตว์ทดลอง ในประเทศไทยมีการศึกษาผ่านการพิจารณาจริยธรรมการศึกษาวิจัยในคนเรียบร้อยแล้ว พบว่า ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ระดับความรุนแรงน้อย ซึ่งได้รับการตรวจยืนยันการติดเชื้อภายใน 72 ชั่วโมง มีอาการดีขึ้นทุกราย หลังวันที่ 3 ของการได้รับสารสกัดฟ้าทะลายโจร โดยไม่มีผลข้างเคียงแต่อย่างใด

  • "ฟ้าทะลายโจร" ยับยั้งการแบ่งตัวไวรัส

เมื่อเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการศึกษานำร่องผลของยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาดสูงต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 หลังจากการวิจัยในหลอดทดลอง พบมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยังยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้ แต่ไม่มีฤทธิ์ในการป้องกันเซลล์จากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงไม่แนะนำให้รับประทานเพื่อการป้องกันโรคโดยที่ยังไม่มีอาการ

พร้อมกันนี้ ยังได้ขยายผลต่อยอดงานวิจัยในคน โดยร่วมโรงพยาบาลสมุทรปราการ ซึ่งดูแลผู้ป่วยจากนอกประเทศในสถานที่ที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) ผลการศึกษาเบื้องต้นในผู้ป่วยที่รับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจร ขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน ผู้ป่วยทุกรายมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 3 ของการได้รับสารสกัดดังกล่าว โดยพบว่า อาการไอ, เจ็บคอ, มีเสมหะ , มีน้ำมูก , ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ มีอาการดีขึ้น ผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียง ค่าการทำงานของตับและไต อยู่ในเกณฑ์ปกติ

  • ผู้ป่วยอาการดีขึ้น ไม่มีผลข้างเคียง

ทั้งนี้ จากกรณีที่มี การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ระลอกสอง ที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้ทำการศึกษานำร่องการใช้ฟ้าทะลายโจรในการรักษาผู้ป่วย โควิด - 19 ร่วมกับ โรงพยาบาลสมุทรปราการ จำนวน 6 ราย ซึ่งผลการศึกษาเบื้องต้น ในผู้ป่วยที่รับประทานสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ขนาด 180 มิลลิกรัม/วัน ผู้ป่วยทุกราย มีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่สามของการได้รับสารสกัดดังกล่าว โดยหากแยกรายละเอียดอาการ จะพบว่า อาการไอ, เจ็บคอ, มีเสมหะ , มีน้ำมูก , ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ มีอาการดีขึ้น ผู้ป่วยไม่มีอาการข้างเคียง ค่าการทำงานของตับและไต อยู่ในเกณฑ์ปกติ

   

  • ศึกษาระยะที่ 2 ประสิทธิภาพ ความปลอดภัย

จากการศึกษาวิจัยทางคลินิกเพิ่มเติม ระยะที่ 2 ที่ โรงพยาบาลสมุทรปราการ เพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของสารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาดสูงต่อระยะเวลาการหายจากอาการโรคโควิด-19 เพื่อยืนยันประสิทธิภาพของสมุนไพรฟ้าทะลายโจรในการร่วมรักษาโรคโควิด-19 โดยได้ออกแบบการศึกษาวิจัยเป็นแบบสุ่ม ซึ่งการศึกษาวิจัยนี้ต้องการอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 60 ราย ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 30 ราย และมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น จำนวน 42 ราย  

  

ทั้งนี้จะรวบรวมเก็บข้อมูลอาสาสมัครในโครงการทั้งหมดเพื่อส่งต่อตัวอย่างของอาสาสมัคร ให้แก่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการเพาะเลี้ยงเชื้อเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการวิจัยและเผยความก้าวหน้าของการวิจัยดังกล่าวต่อไป โดยการศึกษาและการติดตามผลการใช้ฟ้าทะลายโจรในผู้ป่วยโควิด –19 ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุขและกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย และยังได้รับการร่วมมือใกล้ชิดกับมหาวิทยาลัยระดับแนวหน้าหลายแห่ง อีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กรมการแพทย์แผนไทยฯ ต่อยอดวิจัย 'ฟ้าทะลายโจร' รักษาผู้ป่วยโควิด ระยะ 2

 

  • ขยายผลใช้ "ฟ้าทะลายโจร" 9 รพ.

ทั้งนี้ กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ได้ขยายผลการรักษา 9 รพ.ของรัฐ มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการกว่า 280 ส่วนใหญ่ไม่มีอาการรุนแรงและหายเป็นปกติทุกราย

แพทย์หญิงอัมพร  เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมมือกับ 9 โรงพยาบาลของรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย โรงพยาบาลนครปฐม โรงพยาบาลสมุทรสาคร โรงพยาบาลราชบุรี โรงพยาบาลบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โรงพยาบาลกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสงคราม  โรงพยาบาลปทุมธานี  โรงพยาบาลแม่ระมาด จังหวัดตาก  โรงพยาบาลสนามนาดี จังหวัดสมุทรสาคร และ โรงพยาบาลสนามชมดาว จังหวัดระยอง ร่วมกระบวนการศึกษาวิจัย

โดยได้จ่ายยา "ฟ้าทะลายโจร" ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงน้อย ร่วมกับการรักษาทางแพทย์แผนปัจจุบัน จำนวน 280คน ซึ่งได้บันทึกข้อมูลผู้ป่วยเสร็จสิ้นแล้ว จำนวน 260รายส่วนอีก 20 ราย กำลังอยู่ในขั้นตอนการประมวลผลการรักษาพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 1–5 ตามลำดับ และไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง ซึ่งผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก

   

  • ฟ้าทะลายโจรใช้รักษา ไม่ใช่ป้องกัน

แพทย์หญิงอัมพร ระบุว่า ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด –19 ถ้าท่านใด มีอาการคล้ายหวัด ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดศีรษะ ควรกินยาฟ้าทะลายโจรทันทีหากกินยาฟ้าทะลายโจรแล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของอาการ และไม่ควรกินยาฟ้าทะลายโจรเพื่อการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีหลักฐานทางวิชาการเพียงพอว่าฟ้าทะลายโจรสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้

  • "ฟ้าทะลายโจร" บรรเทาไข้หวัด

ปัจจุบันนอกจากการนำฟ้าทะลายโจรวิจัยเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ระยะต้นแล้ว ยังถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับประชาชน ในการดูแลตนเองหากมีอาการป่วยทั่วไปไม่มาก อาทิ “ฟ้าทะลายโจรแห้ง สำหรับแก้ไข้” ของ อภัยภูเบศร รับประทานครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

และ “ผลิตภัณฑ์สารสกัดฟ้าทะลายโจรในรูปแบบแคปซูล” ของ บริษัท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย จำกัด (ไทยเฮิร์บ) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนขององค์การเภสัชกรรม ได้มี ซึ่งมีสารแอนโดรกราโฟไลด์ เป็นส่วนประกอบไม่ต่ำกว่า 20 มิลลิกรัม ต่อ 1 แคปซูล โดยมีคุณสมบัติช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ อาการของโรคหวัด (common cold) เช่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยวางจัดจำหน่ายตามร้านขายยา โมเดิร์นเทรด และโรงพยาบาลกว่า 60 สาขาทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ฟ้าทะลายโจร ยังมี "ข้อควรระวัง" และในกลุ่มที่ห้ามใช้ ดังนั้น ควรศึกษาและอ่านรายละเอียดให้ดีโดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์และกำลังให้นมบุตร

  • ข้อห้าม "ฟ้าทะลายโจร"

แม้ว่าฟ้าทะลายโจรจะมีงานวิจัยออกมาว่าสามารถรักษาโควิด-19 ในระยะต้นได้ แต่การนำไปใช้ยังต้องระมัดระวัง ซึ่งที่ผ่านมา กรมการแพทย์แผนไทยฯ ได้ระบุ ข้อควรระวังของการใช้ฟ้าทะลายโจร ได้แก่ ห้ามใช้ยาฟ้าทะลายโจรในหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้ป่วยที่มีอาการไข้เจ็บคอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วไม่หาย หรือ มีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ ยา ควรหยุดใช้ และพบแพทย์

  • แพ้ "ฟ้าทะลายโจร" มีอาการอย่างไร

หากมีอาการแพ้ "ฟ้าทะลายโจร" เช่น เกิดผื่น ลมพิษ หน้าบวม ริมฝีปากบวม หายใจลำบาก ให้หยุดใช้ยาทันทีและไม่ใช้อีก รวมทั้งควรระวังในผู้ที่ใช้ยาวาร์ฟาริน แอสไพริน โคลพิโดเกรล ยาลดความดันโลหิต และการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะอาจทำให้แขนขาชา หรืออ่อนแรง

หากท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ฟ้าทะลายโจร สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน ฟ้าทะลายโจร โทร. 065 504 5678 หรือ ช่องทาง www.facebook.com/dtam.moph และ Line @DTAM หรือ สอบถามรายละเอียดที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ โทร. 0-2149-5678 หรือเว็บไซต์ www.dtam.moph.go.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :  'ฟ้าทะลายโจร' ทางเลือกรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ระยะเริ่มต้น