โควิดฉุด"หุ้นห้าง-ร้านอาหาร"ปิดเร็วขึ้น-ลูกค้าวูบ!

โควิดฉุด"หุ้นห้าง-ร้านอาหาร"ปิดเร็วขึ้น-ลูกค้าวูบ!

ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง เนื่องจากรอบนี้เป็นเชื้อสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์มาจากอังกฤษสามารถระบาดได้เร็วขึ้นถึง 1.7 เท่า จึงทำให้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและกระจายไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ

ประกอบกับสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์ซึ่งประชาชนเดินทางกันเยอะ ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้มีการระบาดมากขึ้น นำมาสู่การยกระดับมาตรการคุมเข้มของภาครัฐ

โดยที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (16 เม.ย.) มีมติปรับโซนพื้นที่ควบคุมโรคระบาดใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ พื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือ พื้นที่สีแดง 18 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพฯ และปริมณฑล สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม นนทบุรี สมุทรสาคร และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ทั้งเชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา ตาก อุดรธานี สุพรรณบุรี สระแก้ว ระยอง และขอนแก่น

ส่วนอีก 59 จังหวัดที่เหลือ เป็นพื้นที่ควบคุม หรือ พื้นที่สีส้ม พร้อมทั้งให้ปิดสถานศึกษา งดการเรียนการสอน ปิดผับ บาร์ สถานบันเทิงต่างๆ อาบอบนวด ปิดสวนสนุก ห้ามจำหน่ายสุราในร้านอาหาร

แม้มาตรการรอบนี้จะไม่รุนแรงเท่ากับช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ที่มีการล็อดดาวน์ ห้ามการเดินทาง ปิง แต่แน่นอนว่าย่อมส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่มากก็น้อยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แน่นอนว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนี้ไม่พ้นภาคการท่องเที่ยวที่บาดเจ็บสาหัสมาตั้งแต่การระบาดรอบแรก พอสถานการณ์เริ่มจะดีขึ้นก็เกิดการระบาดรอบใหม่ขึ้นมาอีก ส่วนอีกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบไม่น้อย คือ บรรดาร้านค้าร้านอาหาร โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กๆ เนื่องจากต้องปิดให้บริการเร็วขึ้น

ขณะที่สมาคมผู้ค้าปลีกไทยและสมาคมศูนย์การค้าไทยมีมติออกมาก่อนหน้านี้ โดยขอความร่วมมือให้ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าทั่วประเทศ ปิดให้บริการเร็วขึ้นในเวลา 21.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. ที่ผ่านมา ไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

เมื่อเวลาทำการหายไป 1 ชั่วโมง ย่อมส่งผลต่อจำนวนลูกค้าที่เข้าใช้บริการ สแกนดูแล้วในตลาดหุ้นไทยบริษัที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นกลุ่มเซ็นทรัล ไล่มาตั้งแต่บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN เจ้าของพื้นที่ศูนย์การค้าในเครือทั้งหมด ซึ่งผลประกอบการจะได้รับผลกระทบจากจำนวนผู้ใช้บริการที่ลดลง และการออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่

ริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ CRC ที่ทำตัวห้างเซ็นทรัลและร้านค้าในเครืออีกมากมาย เช่น โรบินสัน, ท็อปส์, ร้านขายอุปกรณ์กีฬา “ซุปเปอร์สปอร์ต”, ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า “เพาเวอร์บาย”, ร้านขายอุปกรณ์สำนักงาน “บีทูเอส” ฯลฯ

ด้านบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL มีร้านอาหารหลายแบรนด์ เช่น เคเอฟซี, มิสเตอร์ โดนัท, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์, โยชิโนยะ, ชาบูตง, โอโตยะ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนตั้งอยู่ในห้างก็ต้องปิดเร็วขึ้นเช่นกัน

ส่วนบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC มีห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ซึ่งปกติปิดให้บริการในเวลา 23.00 น. ต้องปิดเร็วขึ้น 2 ชั่วโมง รวมทั้งร้านหนังสือเอเซียบุ๊คส

ด้านกลุ่มซีพีมี “โลตัส” ที่พึ่งจะปิดดีลเมื่อปีที่ผ่านมา โดยถือหุ้นผ่านบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL และบริษัท ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ในเครือของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF และห้างค้าส่ง “แม็คโคร” ของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) หรือ MAKRO

บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า มีมุมมองลบเล็กน้อยต่อหุ้นกลุ่มพาณิชย์ที่ต้องปิดให้บริการเร็วขึ้น โดยหุ้นที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ CRC ถัดมาเป็นตัว BJC ที่จะได้รับผลกระทบต่อสาขาที่เป็น Supercenter โดย Modern Retail Supply Chain (MSC) คิดเป็นสัดส่วน 65% ของรายได้รวม

แต่ถ้าหากมีการยกระดับเป็นมาตรการล็อกดาวน์เหมือนปี 2563 จะส่งผลกระทบต่อบรรดาร้านสะดวกซื้อด้วย ส่วนบริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ HMPRO มีบางสาขาที่จะได้รับผลกระทบ เช่น สาขาชัยพฤกษ์, สาขาประชาชื่น, สาขาพระราม 3, สาขาราชพฤกษ์, สาขาเดอะพา ซิโอ (กาญจนาภิเษก) และสาขารัชดาภิเษก ซึ่งคิดเป็น 6% ของสาขารวมทั้งหมด 95 สาขา