สศช.ระบุปี63ปัจจัยโควิด-19 ทำช่องว่างรายได้คนไทยลด

สศช.ระบุปี63ปัจจัยโควิด-19  ทำช่องว่างรายได้คนไทยลด

สศช. ชี้โควิด -19 ทำช่องว่างรายได้คนไทยลดลง เหตุคนรวยมั่งคั่งลดลง 16.95% ส่วนคนจนมีรายได้เพิ่มขึ้น 19.87% แต่ภาพรวมทำคุณภาพชีวิตครัวเรือนไทยแย่ลง

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำไทยว่ามีสถานการณ์ที่ดีขึ้นโดยเมื่อวัดจากช่องว่างทางรายได้ระหว่างกลุ่มประชากร 10% ของประเทศ ที่มีรายได้สูงที่สุดกับกลุ่มประชากร 10% ที่มีรายได้ต่ำที่สุดจากการเก็บข้อมูลล่าสุดในปี 2562 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่าช่องว่างทางรายได้ลดลงจากเดิมในปี 2560 อยู่ที่ 19.29 เท่า เหลือ 15.94 เท่า และเป็นการลดลงต่อเนื่องจากในปี 2556 ที่ช่องว่างรายได้ระหว่างคนรวยที่สุดและคนจนที่สุดที่เคยแตกต่างกันมากถึง 34.85 เท่า

สำหรับการสำรวจข้อมูลสถานการณ์ความยากจนในปี 2563 ในช่วงครึ่งแรกของปีซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19อย่างหนัก หากแยกจำนวนผู้ที่มีรายได้ออกเป็น10กลุ่มที่มีรายได้สูงสุด และต่ำที่สุด พบว่าในภาพรวมคนไทยมีรายได้ลดลง 12.20% 

โดยกลุ่มคนที่มีรายได้มากที่สุด 10% แรกมีรายได้ลดลงมากถึง16.95% ขณะที่คนที่มีรายได้ต่ำที่สุด 10% มีรายได้เพิ่มขึ้น 19.87%เป็นผลมาจากการช่วยเหลือผ่านมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนได้ช่วยที่เกิดการระบาดของโควิดส่งผลให้กลุ่มคนรวยมีผลกระทบมากกว่าคนมีรายได้น้อยแต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้มีรายได้น้อยที่เพิ่มขึ้นก็มาจากการช่วยเหลือของภาครัฐ 

ส่วนเมื่อพิจารณาตัวเลขรายจ่ายช่วงโควิด-19พบว่า คนไทยมีรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคลดลง 4.29%สะท้อนให้เห็นว่า คุณภาพชีวิตของประชาชนกำลังลดลงในทุกกลุ่มรายได้

“ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผลกระทบของจากการระบาดของโควิด-19 ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตครัวเรือนและยังมีความเสี่ยงต่อการตกอยู่ในสภาวะคนยากจนได้ง่ายมากยิ่งขึ้นกว่าช่วงที่ไม่มีวิกฤติ”

ด้านนางสาว จินางค์กูร โรจนนันต์รองเลขาธิการ สศช. กล่าวว่าในแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่13 ที่จะใช้ในปี2566-70 ได้กำหนดมีเป้าหมายในการพลิกโฉมประเทศ คือการทำเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และสังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน

ในด้านของการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น มี3เรื่องหลัก คือ 1.การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี 2.ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ และ3.หาทางเลื่อนชั้นทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ผ่านมาตรการช่วยเหลือแบบมุ่งเป้า และฐานข้อมูลที่สามารถระบุคนจน ปัญหาและความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับหมุดหมายสำคัญในแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 13 ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสังคมแห่งโอกาสและความเสมอภาคได้แก่ หมุดหมายที่ 7 มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs ด้วยการส่งเสริมการ แข่งขันที่เปิดกว้างและเป็นธรรม สนับสนุนให้ SMEs ใช้ประโยชน์และพัฒนาเทคโนโลยีและ นวัตกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพ สามารถปรับตัวสู่ธุรกิจที่มีแนวโน้มความต้องการมากขึ้นในอนาคต เช่น green products, สินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุ, สินค้าแลบริการเพื่อสุขภาพ และการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และสนับสนุน วิสาหกิจเพื่อสังคมให้เติบโตต่อเนื่องและมีบทบาทในการพัฒนาชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

หมุดหมายที่ 8 มุ่งลดความเหลื่อมล้ำระหว่างพื้นที่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และการเข้าถึงบริการสธารณะที่มีคุณภาพ โดยการพัฒนาเศรษฐกิจตามศักยภาพของพื้นที่ และเชื่อมโยงระหว่างเมือง และชนบทโดยรอบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับกิจกรรม ทางเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงยกระดับศักยภาพและบทบาท ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการพัฒนาพื้นที่และเมือง

หมุดหมายที่ 9 การเลื่อนชั้นทางสังคมและลดความเหลื่อมล้ำเชิงรายได้และ ความมั่งคั่ง ด้วยมาตรการช่วยเหลือแบบมุ่งเป้าและฐานข้อมูลที่สามารถระบุคนจน ปัญหา ความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ นโยบายการเงินการคลังและกฎหมายที่สนับสนุนการ การะจายรายได้ การส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อลด Digital Divide และการศึกษาที่มีคุณภาพในระดับที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ พร้อมทั้งพัฒนาระบบความคุ้มครองทางสังคมให้มี ความเพียงพอ เหมาะสมกับบริบทชีวิตรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป มีการบูรณาการสอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการบนฐานของความยั่งยืนทางการคลังในอนาคตด้วย