ผู้ประกอบการแห่ขอจดสิทธิบัตรกัญชา หลังกม.ไฟเขียว

ผู้ประกอบการแห่ขอจดสิทธิบัตรกัญชา หลังกม.ไฟเขียว

กรมทรัพย์สินทางปัญญา เผย ผู้ประกอบการแห่ยื่นคำขอจดสิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร สิ่งประดิษฐ์ สินค้าต่างๆ รวมถึงอาหารและเครื่องดื่ม มากถึง 31 คำขอ ไฟเขียวแล้ว 2 คำขอ ด้านผู้ผลิตอาหาร คาดดันมูลค่าอาหาร-เครื่องดื่มจากพืช 2 ชนิดเพิ่มได้ 10% 

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงกรณีที่หลังจากพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฉบับที่ 7 พ.ศ.2562 ที่ผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 ก.พ.62 โดยได้เปิดช่องให้กัญชา และพืชกระท่อม นำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และยังได้ปลดล็อกให้นำส่วนต่างๆ ของกัญชา และกัญชง ยกเว้นช่อดอก และเมล็ดไปใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ว่า  ส่งผลให้ขณะนี้ มีผู้ประกอบการได้ยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร ที่เกี่ยวข้องกับกัญชา และกัญชงมากถึง 31 คำขอ แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ 6 คำขอผลิตภัณฑ์ยาสมุนไพร ที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ 4 คำขอเวชภัณฑ์ที่มีสารสกัดเป็นสารออกฤทธิ์ 3 คำขอเครื่องจักรและกรรมวิธีการสกัดจากกัญชา 11 คำขออุปกรณ์หรือชุดทดสอบสารสกัดจากกัญชา 3 คำขอผลิตภัณฑ์ปล่อยสารระเหยจากกัญขา 2 คำขอ และผลิตภัณฑ์ของใช้ในบ้านที่มีกัญชงเป็นองค์ประกอบ 2 คำขอ 

“หลังจากที่รัฐบาลปลดล็อคกัญชา และกัญชง ออกจากยาเสพติดแล้ว ที่คนมายื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร สิ่งประดิษฐ์ และสินค้าต่างๆ ที่มีส่วนผสมของกัญชาจำนวนมาก โดยล่าสุด กรมได้รับจดทะเบียน และออกอนุสิทธิบัตรไปแล้ว 2 คำขอ คือ กระถางผ้าเพาะปลูก และชุดเครื่องจักรสกัดน้ำมันกัญชาเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์”  

ส่วนคำขออื่นๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบคำขอ ตามพ.ร.บ.สิทธิบัตรพ.ศ.2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยสิทธิบัตร จะมีระยะเวลาในการตรวจสอบประมาณ 1 ปีกว่า แต่อนุสิทธิบัตร ใช้เวลาตรวจสอบน้อยกว่า ซึ่งกรมน่าจะรับจด และออกอนุสิทธิบัตรให้ได้เร็วกว่า ขณะที่คำขอจดทะเบียนสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร ที่ยื่นมาก่อนที่รัฐบาลจะปลดล็อกกัญชา และกัญชงนั้น กรมได้ละทิ้งทั้งหมดแล้ว  

161794745786

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ขณะนี้ ทราบว่า ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มหลายราย เริ่มทยอยยื่นคำขอจดสิทธิบัตรอาหารและเครื่องดื่มต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์แล้ว แต่กว่าจะผลิตอาหารและเครื่องดื่มออกขายได้จริง ต้องรอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกระเบียบเกี่ยวกับการกำหนดปริมาณของสารในกัญชา และกัญชง ที่จะใช้ในอาหารและเครื่องดื่ม  

ทั้งนี้เพราะผู้บริโภคแต่ละคน สามารถรับสารที่ให้ความเมาในกัญชา และกัญชงได้ไม่เท่านั้น บางคนรับได้นิดเดียวก็เมาแล้ว แต่บางคนรับได้มากกว่า อย.จึงต้องกำหนดปริมาณการใช้ให้ชัดเจน แต่เห็นว่า กัญชง น่าจะนำมาทำอาหารและเครื่องดื่มได้ง่ายกว่ากัญชา เพราะมีปริมาณสารให้ความเมาน้อยกว่ากัญชา สำหรับการใช้ใบสด ขณะนี้ เริ่มเห็นร้านอาหาร ร้านเบเกอร์รี่ ร้านขนม นำใบกัญชามาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารและเครื่องดื่มบ้างแล้ว 

“ขณะนี้ ผู้ประกอบการกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เริ่มมองถึงอนาคตของอาหารและเครื่องดื่มที่มีพืช 2 ชนิดนี้ เป็นส่วนประกอบกันมากขึ้นแล้ว เพราะเป็นทางเลือกใหม่ แต่คาดว่า ในไทยจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และน่าจะทำให้มูลค่าตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่มีพืช 2 ชนิดนี้เป็นส่วนผสม เพิ่มขึ้นประมาณ 10% จากมูลค่าตลาดรวมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศ ส่วนมูลค่าตลาดในต่างประเทศ ประเมินไม่ได้ เพราะแต่ละประเทศมีกฎระเบียบแตกต่างกัน” 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 ที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 19 ก.พ.62 นั้นได้เปิดช่องให้นำยาเสพติดประเภท 5 ได้แก่ กัญชา พืชกระท่อม ไปใช้ทางการแพทย์ ครอบคลุมถึงยาแผนโบราณ และยาสมุนไพร แต่ในระยะ 5 ปีแรกหลังการบังคับใช้ อนุญาตให้เฉพาะหน่วยงานรัฐ หรือหน่วยงานรัฐร่วมกับหน่วยงานอื่นเท่านั้น  

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ยังได้ออกประกาศกระทรวงเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.63 โดยกำหนดให้ กัญชา และกัญชงยังคงเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เพียงแต่ส่วนของกัญชา และกัญชงที่ได้จากการปลูกหรือผลิตในประเทศ (ยกเว้นช่อดอก และเมล็ดกัญชา) ได้แก่ ใบที่ไม่ติดกับช่อดอก กิ่ง ก้าน ลำต้น เปลือก รากและเส้นใย รวมถึงสารสกัดที่มี CBD (สารที่มีอยู่ในกัญชา ไม่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท หรือไม่ทำให้เกิดอาการมึนเมา) เป็นส่วนประกอบ และกากที่เหลือจากการสกัด ซึ่งต้องมี THC (สารในกัญชา ทำให้เกิดอาการมึนเมา) ไม่เกิน 0.2%, เมล็ดกัญชง น้ำมัน และสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 โดยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ วิจัย ผลิตภัณฑ์สุขภาพได้ 

ขณะที่ประชาชนสามารถใช้ส่วนต่างๆ ของกัญชา กัญชง นำไปประกอบอาหาร ทำยารักษาโรค เป็นต้น เพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ส่วนการนำเข้ากัญชา กัญชง สามารถทำได้ โดยขออนุญาตเป็นยาเสพติด ยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง และเส้นใยแห้ง ได้รับการยกเว้