ภาวะการลงทุนที่อึดอัด

ภาวะการลงทุนที่อึดอัด

ส่องแนวทางการลงทุน ในภาวะการลงทุนที่เริ่มเข้าสู่ช่วงอึดอัด จากความผันผวนที่เกิดขึ้นช่วงเดือนที่ผ่านมา ทั้งมาตรการการเปิดเมือง แผนการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ รวมถึงสถานการณ์เรือขนสินค้าขวางคลองซูเอตที่กระทบต่อหุ้นกลุ่มเดินเรือและโลจิสติกส์อย่างมาก

ภาพการลงทุนเริ่มเข้าสู่ช่วงอึดอัด ลองมาดูกันว่าผมจะเลือกลงทุนกันอย่างไรดี แต่ก่อนอื่นคงต้องขอเล่าเรื่องก่อน โดยเริ่มกันด้วยเรื่อง 2 - 3 เรื่อง เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อภาวะการลงทุน ทำให้เกิดความผันผวนในช่วงเดือนที่ผ่านมา แต่ความผันผวนแบบนี้ผมขอใช้คำว่าเป็นความผันผวนแบบไม่น่ากังวลมากนัก ทำให้นักลงทุนกระชุ่มกระชวยขึ้นมากกว่าที่จะกังวล

เริ่มจากการเปลี่ยนธีมการลงทุน โดยมาเล่นประเด็นเรื่อง เปิดเมือง ทำให้หุ้นกลุ่มที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ กลุ่มพาณิชย์ และ กลุ่มท่องเที่ยว รวมทั้งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ต่างตื่นตัวขึ้น ส่วนกลุ่มหุ้นเติบโต (Growth Stock) ก็แพ้หุ้นคุณค่า (Value Stock)ไป ตามระเบียบ

เรื่องที่ 2 คือแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของคุณโจ ไบเดน ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา มีทั้งแผนเยียวยา แผนกระตุ้น และแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน แต่ละแผนมีขนาดการลงทุนขนาดใหญ่ ส่งผลทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่ตื่นเต้นโดยเฉพาะตลาดตราสารหนี้ ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล อายุ 10 ปี ของสหรัฐอเมริกาเด้งขึ้นมาหลายรอบ และมาเคลื่อนไหวอยู่แถวๆ ร้อยละ 1.70 ด้วย การเด้งขึ้นดังกล่าวได้สร้างความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อทำให้ตลาดทุนมีความวิตกและปรับตัวลงเป็นช่วงๆ โดยลืมไปว่าเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น

สุดท้ายก็เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้คือ มีเรือขนสินค้าขนาดใหญ่โดนพายุทรายเกยตื้น ขวางคลองซูเอต ซึ่งเป็นทางเชื่อมการขนส่งสินค้าที่สำคัญ เชื่อมต่อทะเลเมดิเตอร์เรเนียนกับทะเลแดง เกือบสัปดาห์กว่าจะแก้ปัญหาได้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้หุ้นกลุ่มเดินเรือและโลจิสติกส์มีความผันผวนกันไป

ปัจจัยที่เกิดขึ้น ผมมองว่าเป็นสิ่งที่สร้างสีสันให้กับภาวะการลงทุนมากกว่าที่จะสร้างความกังวลในบ้านเรา มีการ Take Profit และ Rebound เป็นรอบๆ โดยเป็นการปรับตัวแคบๆ ไม่ลงลึก แต่ไม่ขึ้นเร็ว ในขณะที่ตลาดต่างประเทศ หุ้นขนาดใหญ่ได้รับความสนใจมากกว่า หุ้น Technology เพราะราคาไม่สูงมากและมีแนวโน้มเติบโตได้ดี เพราะได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง และแผนกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งก็สะท้อนภาพกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ที่เน้นลงทุนในกลุ่มที่ปรับตัวขึ้นช้ากว่าตลาด เป็นหุ้นคุณค่า และได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง รวมทั้งแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทุกความผันผวนของภาวะการลงทุน เป็นความสับสนที่เป็นบวกมากกว่าลบ ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวขึ้นเพราะกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งก็เป็นปัจจัยมาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ผมมองว่า ปัจจัยเหล่านี้เป็นความกังวลในเชิงบวก นอกจากนี้ ธีมเปิดเมืองก็จะส่งผลบวกต่อหุ้นคุณค่าและกดดันราคาหุ้นเติบโต แต่การฟื้นตัวแบบยาวๆ ก็จะทำให้หุ้นกลุ่มเติบโตจะกลับมาได้ในช่วงครึ่งหลังของปี การพักฐานเพื่อรอผลการดำเนินงาน ก็ถือว่าเป็นการปรับฐานที่ดี ก่อนที่จะเดินหน้าต่อ

การปรับตัวของตลาดทุนและตลาดเงินที่ผ่านมา เป็นการปรับฐานที่มีคุณภาพ ค่อยๆ ย่อยข่าวดีต่างๆ ที่ทยอยออกมา และมีการหยุดพักดูปัจจัยใหม่ๆ ไปเรื่อยๆโดยภาพใหญ่ที่มาจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่มาจากการเปิดเมืองและความคืบหน้าของวัคซีน COVID-19 การปรับฐานเพื่อรอผลการดำเนินงาน และตัวเลขเศรษฐกิจ ที่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น

ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้ทิศทางการลงทุนในระยะกลางถึงยาวที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และภาวะอึดอัดหรือในภาวะที่รอคอยปัจจัยต่างๆ ให้ค่อยๆ  เปลี่ยนแปลงแบบนี้ การกระจายสินทรัพย์เพื่อการลงทุนถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสมมากที่สุด โดยแบ่งครึ่งหนึ่งของพอร์ตเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น และตลาดเงิน อย่างละครึ่ง ส่วนที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งควรจะเป็นหุ้นทุน โดยแบ่งเงินลงทุนลงในตลาดหุ้นไทยประมาณ 20% และที่เหลือผมแนะนำให้กระจายการลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ยุโรป จีน และ สหรัฐอเมริกา

ผมยกตัวอย่างตลาดหุ้นของประเทศญี่ปุ่น หลังจากผ่านช่วงวัคซีน Covid-19 ไปแล้ว ผมมองว่า ตลาดหุ้นญี่ปุ่นเริ่มกลับมาน่าสนใจนะครับ แนวโน้มกำไรบริษัทจดทะเบียนฟื้นตัวแข็งแกร่ง แรงหนุนจากทั้งนโยบายการเงินและการคลัง โดยนายกรัฐมนตรี Yoshihide Suga ไม่เพียงสานต่อ Abenomics แต่พร้อมสนับสนุนการเติบโตผ่านการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวมีโอกาสฟื้นตัวขึ้น อาจจะมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงปลายปีกลับมาช่วยหนุนการใช้จ่ายในประเทศ สำหรับท่านใดที่ยังไม่มีการลงทุนในตลาดหุ้นประเทศนี้ ผมอยากแนะนำให้กระจายการลงทุนครับ