สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์วันที่ 22-26 มีนาคม 2564

สรุปภาวะตลาดเงินตลาดทุนรายสัปดาห์วันที่ 22-26 มีนาคม 2564

เงินบาทอ่อนค่าสุดในรอบ 4 เดือนครึ่งก่อนฟื้นตัวกลับบางส่วน ขณะที่หุ้นไทยดีดตัวขึ้นช่วงปลายสัปดาห์

สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท

เงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค แต่สวนทางเงินดอลลาร์ฯ ที่ได้รับแรงหนุนจากถ้อยแถลงที่สะท้อนความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของประธานเฟดและรมว.คลังสหรัฐฯ และจากข้อมูลผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาด นอกจากนี้เงินบาทยังถูกกดดันเพิ่มเติมจากตัวเลขการส่งออกของไทยในเดือนก.พ. ที่อ่อนแอ อย่างไรก็ดีกรอบการอ่อนค่าของเงินบาทชะลอลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวขึ้นของตลาดหุ้นและสกุลเงินเอเชียในภาพรวม

-  ในวันศุกร์ (26 มี.ค.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.08 หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 4 เดือนครึ่งที่ 31.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับ 30.85 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (19 มี.ค.)

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (29 มี.ค.-2 เม.ย.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 30.90-31.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.พ.ของธปท. สถานการณ์โควิด 19 และประเด็นของเรื่องวัคซีนทั่วโลก รวมถึงทิศทางบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชนของ ADP ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ดัชนี PMI และ ISM ภาคการผลิตเดือนมี.ค. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขายเดือนก.พ. ดัชนีราคาบ้านเดือนม.ค. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนมี.ค. ของจีน ยูโรโซน และอังกฤษด้วยเช่นกันด้วยเช่นกัน

สรุปความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย

หุ้นไทยปรับตัวขึ้นจากสัปดาห์ก่อน โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,574.86 จุด เพิ่มขึ้น 0.70% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 84,759.20 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.18% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 5.08% มาปิดที่ 449.95 จุด

- หุ้นไทยแกว่งตัวกรอบแคบช่วงต้นสัปดาห์เนื่องจากไร้ปัจจัยหนุนใหม่ ประกอบกับมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิด 19 ในต่างประเทศ และสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนและชาติตะวันตก ก่อนจะปรับตัวขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ ขานรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ นอกจากนี้หุ้นไทยยังปรับตัวขึ้นต่อในช่วงปลายสัปดาห์ตามหุ้นต่างประเทศ หลังข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนเพิ่มเติมหลังศบศ. เห็นชอบแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 

สำหรับสัปดาห์ถัดไป (29 มี.ค.- 2 เม.ย.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,565 และ 1,550 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,585 และ 1,600 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด 19 ทั่วโลก รวมถึงประเด็นเกี่ยวกับวัคซีนต้านโควิด 19 สถานการณ์ตึงเครียดระหว่างจีนและชาติตะวันตก ตลอดจนปัจจัยการเมืองในประเทศ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิต ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรและอัตราการว่างงานเดือนมี.ค. ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนมี.ค. ของยูโรโซนและญี่ปุ่น ยอดค้าปลีกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.พ. ของญี่ปุ่น