กนช. วางแผนการจัดสรรน้ำ และการเพาะปลูกฤดูฝน ปี 64

กนช. วางแผนการจัดสรรน้ำ และการเพาะปลูกฤดูฝน ปี 64

กนช. วางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝน ปี 64 พร้อม เร่งฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบให้ใสสะอาด

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.64 ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งที่ 1/2564 โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมด้วย โดยเห็นชอบการวางแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกฤดูฝนปีนี้ และ 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 โดยมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงานที่ชัดเจน และเห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ 3 ระยะ   สรุปสาระสำคัญของการประชุม ดังนี้ 

รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยจากการติดตามผลการดำเนินการ 9 มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/64 พบว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการส่งผลให้ปัจจุบันยังไม่มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) ซึ่งในอีกประมาณ 1 เดือนจากนี้ ให้ทุกหน่วยงานติดตามเฝ้าระวัง เพื่อให้ช่วยเหลือประชาชนที่มีความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในพื้นที่เป้าหมายที่ได้มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะเรื่องน้ำอุปโภค - บริโภค มั่นใจว่า มาตรการต่าง ๆ ที่ดำเนินการในเชิงป้องกันจะสามารถบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนในช่วงปลายฤดูแล้งได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการปลูกพืชฤดูแล้งให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเคร่งครัด ไม่ให้ส่งผลกระทบกับน้ำต้นทุน ต้นฤดูฝนเพื่อเริ่มต้นการปลูกข้าวนาปีได้ตามแผน ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานควบคุมการจัดสรรน้ำและการลำเลียงน้ำจากอ่างฯ ให้เป็นไปตามแผนอย่างเคร่งครัด และมอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดหลักเกณฑ์และมาตรการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชให้สอดคล้องกับสภาพน้ำต้นทุนเพื่อการลดการใช้น้ำในระดับตำบล และจัดทำแนวทางการขับเคลื่อน (RoadMap) ให้เป็นรูปธรรมด้วย

ที่ประชุมเห็นชอบการวางแผนการจัดสรรน้ำ และการเพาะปลูกฤดูฝนปีนี้ และ 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2564 โดยมอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบกำหนดกรอบระยะเวลาการดำเนินงานที่ชัดเจน อาทิ การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม และฝนทิ้งช่วง การบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มน้ำเพื่อใช้รองรับน้ำหลาก ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ - กลาง และเขื่อนระบายน้ำ ปรับปรุงแห้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคูคลอง กำจัดผักตบชวา เตรียมความพร้อมเครื่องมือในการให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยเร็วก่อนเข้าสู่ฤดูฝน เพื่อมอบหมายหน่วยงานนำมาตรการต่าง ๆ ไปจัดทำแผนปฏิบัติการต่อไป 

พร้อมทั้ง เห็นชอบแผนปฏิบัติการพัฒนาฟื้นฟูสภาพแวดล้อมคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องเร่งดำเนินการ แบ่งเป็นระยะเร่งด่วน ปี 2564 ระยะกลาง ปี 2565-2570 และระยะยาว ตั้งแต่ปี 2571 เป็นต้นไป โดยมี 5 เป้าหมายหลัก คือ

  1. การเสริมสร้างความปลอดภัยในการสัญจรทางน้ำของประชาชน
  2. การปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์บริเวณคลองแสนแสบ
  3. การแก้ไขปัญหามลภาวะและคุณภาพน้ำในคลองแสนแสบ
  4. การป้องกันปราบปราม การบุกรุกทำลายทรัพยากรในคลองแสนแสบ
  5. การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในคลองแสนแสบ

ทั้งนี้ ก่อนปิดการประชุม รองนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้ เพื่อให้คลองแสนแสบใสสะอาดตามที่นายกรัฐมนตรีได้กำหนดเป้าหมายไว้ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทย เพื่อศึกษา วิเคราห์สถานการณ์ปัญหาในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ซึ่งครอบคลุม 4 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่าง และลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน