แนวโน้ม 'ธุรกิจครอบครัว' ฟื้นตัวจากโควิด

แนวโน้ม 'ธุรกิจครอบครัว' ฟื้นตัวจากโควิด

ปีนี้นับเป็นปีที่จะประเมินความสามารถ "ธุรกิจครอบครัว" ให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ซึ่งบางธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กที่สภาพคล่องไม่พอ อาจผิดนัดชำระหนี้และปิดกิจการมากขึ้น แต่ในทางกลับกันจะเริ่มเห็นผู้นำรุ่นใหม่นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้และต่อยอดธุรกิจเดิม

รายงานผลสำรวจธุรกิจครอบครัวทั่วโลกประจำปี 2564 (ฉบับประเทศไทย) ของ PwC ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของผู้มีอำนาจตัดสินใจในธุรกิจครอบครัวใน 87 ประเทศและอาณาเขตทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของธุรกิจครอบครัวไทยในปี 2564 จะชะลอตัว เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปีนี้แนวโน้มเศรษฐกิจและกำลังซื้อจะเริ่มฟื้นตัว และจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานในปีหน้าปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนในวงกว้าง

ผู้บริหารธุรกิจครอบครัวไทยส่วนใหญ่คาดว่าในปีนี้ยอดขายและรายได้ของบริษัทจะยังคงไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งนอกจากประเด็นนี้ การจัดการสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจจะยังคงเป็นปัญหาอย่างมากสำหรับบริษัทขนาดเล็กที่มีเงินทุนหมุนเวียนจำกัด เพราะวิกฤติโควิด-19 มีความยืดเยื้อและกินระยะเวลานานเกินกว่า 1 ปี ซึ่งต่อจากนี้ไป เราน่าจะเห็นธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กและบริษัทอื่นๆ ที่มีสภาพคล่องไม่พอ มีการผิดนัดชำระหนี้และอาจมีปิดกิจการเพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

รายงานของ PwC ยังระบุด้วยว่าวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวไทยหันมาให้ความสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจในระยะยาว รวมถึงการขยายตลาด และฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ โดยธุรกิจครอบครัวไทยมากกว่าครึ่ง หรือ 56% มุ่งเน้นในการบริหารกลยุทธ์เพื่อความอยู่รอดและปกป้องธุรกิจที่เป็นธุรกิจหลัก (Core business) ขององค์กร นอกจากนี้ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และการเปลี่ยนองค์กรสู่ดิจิทัล (Digitalisation) ยังเป็นกลยุทธ์ที่ธุรกิจครอบครัวจะนำมาใช้ในอีกสองปีข้างหน้า

ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมากกว่าในอดีต เช่นเดียวกับเทรนด์และพฤติกรรมผู้บริโภค ฉะนั้น ธุรกิจครอบครัวที่ไม่ได้เตรียมรับมือ หรือปรับธุรกิจให้เหมาะสมกับกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้ จะมีขีดความสามารถในการแข่งขันน้อยและจะยิ่งดำเนินธุรกิจได้ยากลำบากขึ้น

เมื่อพิจารณาถึงความชัดเจนของบทบาท หน้าที่ และจุดแข็งของผู้นำธุรกิจครอบครัวไทย เปรียบเทียบกับธุรกิจครอบครัวทั่วโลก พบว่าธุรกิจครอบครัวไทยมีแนวโน้มที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้น้อยกว่า โดยมีเพียง 28% ของผู้นำธุรกิจครอบครัวไทยเท่านั้นที่ระบุว่า ธุรกิจมีความสามารถทางด้านดิจิทัลสูง เปรียบเทียบกับ 38% ของธุรกิจครอบครัวทั่วโลก

ขณะที่การสรรหาแหล่งเงินทุนและจัดการกระแสเงินสดฝ่าวิกฤติ ผลสำรวจพบว่า ธุรกิจครอบครัวทั่วโลกส่วนใหญ่ยังคงใช้แหล่งเงินทุนแบบดั้งเดิมในการขับเคลื่อนธุรกิจ เช่น กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และสินเชื่อจากธนาคาร ขณะที่ 25% ของธุรกิจครอบครัวไทยต้องการแหล่งเงินทุนเพิ่มในช่วงปีที่ผ่านมา (เปรียบเทียบกับทั่วโลกอยู่ที่ 21%)

ธุรกิจครอบครัวขนาดเล็กที่มีความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน หรือที่ปรึกษาทางธุรกิจน้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ อาจร่วมมือกับแพลตฟอร์มขนาดใหญ่อย่าง ซูเปอร์แอพพลิเคชั่น (Super Application) ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ครอบคลุมทุกบริการและกลุ่มผู้บริโภค หรือมีลูกค้าที่การเข้าใช้บริการเป็นประจำทุกวันอยู่แล้วเพื่อต่อยอดกิจการ ซึ่งแม้จะมีต้นทุนในการเข้าร่วม แต่จะเป็นการเพิ่มกระแสเงินสดให้เข้าสู่ธุรกิจได้อีกทางหนึ่ง

โดยภาพรวมแล้ว ปีนี้ถือเป็นปีที่จะประเมินความสามารถของธุรกิจครอบครัวในการดำเนินธุรกิจให้ผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 อย่างแท้จริง แต่ในทางกลับกัน เราจะเห็นผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่นำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้และใช้วิกฤติเป็นโอกาสในการต่อยอดธุรกิจเดิม หรือเกิดกิจการใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ที่จะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับการเติบโตของธุรกิจในโลกยุคนิวนอร์มอลต่อไป