กนง.รับ เศรษฐกิจโค้งแรกปี 64 ดิ่งต่อ พิษโควิดรอบใหม่

กนง.รับ เศรษฐกิจโค้งแรกปี 64 ดิ่งต่อ พิษโควิดรอบใหม่

กนง.มติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยที่ 0.50% พร้อมปรับจีดีพีปี64 ลดลงเหลือ 3% จาก3.2% หลังท่องเที่ยวฟิ้นช้า ผลกระทบโควิด รับเศรษฐกิจไตรมาสแรกดิ่งต่อ หากเทียบกับไตรมาส4 ปีก่อน

      จากผลกระทบไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่หรือโควิด-19 รอบใหม่ แม้จะไม่มีผลกระทบรุนแรงเท่า โควิด-19รอบแรก แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า ยิ่งเป็นประเด็นความเสี่ยงและซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแออยู่แล้ว ให้เปราะบางมากขึ้นไปอีก

     โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ที่อาจไม่ได้กลับมาเร็วเหมือนที่คาดการณ์ไว้ แม้ทั่วโลกจะเริ่มมีการฉีด “วัคซีน”โควิด-19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน แต่การ กลับมา และความมั่นใจในการท่องเที่ยว ยังคงต้องใช้เวลาในการกลับมาฟื้นตัวอีกระยะ

    ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย มีการเปิดผลประชุมกนง. ครั้งที่ 2ของปี 2564 เมื่อ 24 มี.ค.

    โดย “ทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส” เลขานุการ กนง. ระบุว่า การประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ ให้ “คงอัตราดอกเบี้ย”ไว้ที่ระดับเดิม 0.50% ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และยังคงเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำ

     แม้เศรษฐกิจไทย โดยรวมยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ เศรษฐกิจไทย ยังต้องการแรงสนับสนุนจากดอกเบี้ยต่ำอย่างต่อเนื่อง และควรรักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน หรือ Policy Space ที่อยู่จำกัดไว้ใช้ในจังหวะที่เหมาะสม

161659207073      ทั้งนี้ ในการประชุมกนง.ครั้งนี้ กนง.ยังมีการปรับประมาณการการขยายตัวเศรษฐกิจ หรือจีดีพีไทย ลงจากเดิมด้วย เป็นขยายตัวลดลงเหลือ 3% จากประมาณการเดิมเมื่อธ.ค.ปี 2563 ที่คาดอยู่ที่ 3.2% รวมถึงปรับจีดีพีปี 2565 ลดลงมาอยู่ที่ 4.7% ด้วย จากเดิม 4.8%

    น้ำหนักหลักๆที่กนง.มีการปรับจีดีพีคงครั้งนี้ ต้องยอมรับว่า หลักใหญ่ มาจาก ‘จำนวนท่องเที่ยว” ที่ลดลง และมาช้าลง เหลือ 3 ล้านคน จากคาดการณ์เดิมที่ 5.5 ล้านคน ซึ่งมีน้ำหนัก หรือผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ จากท่องเที่ยวที่หายไปครั้งนี้ มีมากกว่าผลกระทบ ‘โควิด-19รอบ2’ เสียอีก เพราะประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นสำคัญ และมีผลต่อจีดีพีสูงราว 12%

     ดังนั้น การที่เราพึ่งพา นักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ ‘เศรษฐกิจไทย’ฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆ

    “หากดูการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หลังจากนี้จะค่อยๆสูงขึ้น และกลับเข้าสู่ระดับใกล้เคียงกับ ก่อนเกิดโควิด-19 ได้ คือกลางปี 2565 ดังนั้น แปลว่าหากนับตั้งแต่ปลายปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาราว 2ปีครึ่ง ในการกลับมาฟื้นตัวใกล้ ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคก็เช่นเดียวกัน ที่พึ่งพาท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ก็มักเห็นการฟื้นตัวช้าเหมือนเราเช่นกัน”

     ขณะเดียวกัน แม้จะเห็นฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และปัจจัยบวก จาก “ส่งออก” ที่กลับมาฟื้นตัวได้เร็ว ตามการขยายตัวของประเทศคู่ค้า ทำให้ กนง.มีการปรับมูลค่าส่งออก ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 10% จากเดิมที่คาดอยู่ที่ 5.7%

     รวมถึงแรงบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ออกมาพยุงเศรษฐกิจต่อเนื่อง แต่ ภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวช้า และกระทบมากกว่าคาด ก็อาจไม่สามารถประคองให้เศรษฐกิจไทย ให้โตได้ระดับคาดการณ์เดิมได้!

     อีกทั้ง ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม หรือความเสี่ยงสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า คือ ประสิทธิผล การกระจายวัคซีน ว่าจะเป็นอย่างไร จะกลายพันธ์ หรือไม่ ซึ่งเชื่อมโยงกับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

      ท้ายที่สุดแม้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว แต่ลักษณะการฟื้นตัว ยังต่างกันมาก ดังนั้นเศรษฐกิจไทย ยังจำเป็น และต้องการแรงหนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจไทย ยังไม่เข้มแข็ง แม้ฟื้นตัว เศรษฐกิจไทยยัง “เปราะบาง”ยังมีความเสี่ยง ดังนั้นจำเป็นต้องการแรงกระตุ้นจากหลายเครื่องมือเข้ามาช่วย

     นอกจากนี้ ยังมีโจทย์ ที่คณะกรรมการกนง.มีการคุยกันในที่ประชุม ถึง การเข้าไปช่วยเหลือภาคประชาชนและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

    ขณะที่ด้านการเงิน แม้สภาพคล่องโดยรวมจะอยู่ระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึง จากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น ตามฐานะการเงินที่เปราะบาง

      โดยเฉพาะธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า และครัวเรือนที่ถูกกระทบเพิ่มขึ้น ดังนั้นการเข้าไปฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะถัดไปให้เข้มแข็ง ต้องไปดูเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้มีประสิทธิภาพ นโยบายภาครัฐต่างๆคงต้องปรับเปลี่ยนและให้เกิดความเพียงพอ เพื่อหนุนเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืนมากขึ้น

    สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ไตรมาสแรกปี 2564 นี้ ยอมรับว่า มีแนวโน้ม “ลดลง” หากเทียบกับไตรมาส 4 ที่ผ่านมา โดยจากข้อมูลของ สภาพัฒน์ มีการเปิดเผยจีดีพีในไตรมาส 4 ติดลบอยู่ที่ 4.2%

.    ซึ่งหลักๆ จากผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ แต่การบริหารจัดการ โควิด-19รอบนี้ ครั้งนี้ ที่ไม่ได้เข้มงวดเท่ากับการระบาดรอบแรก และมาตรการรองรับ และเยียวยาที่ทำได้เร็ว มีส่วนช่วยพยุงทำให้ “ผลกระทบ”ไม่ได้รุนแรงเท่าโควิด-19 รอบแรก

    “ทิตินันทิ์” ยังกล่าวอีกว่า ในการประชุมกนง.รอบนี้ มีข้อสังเกตอีกด้าน ที่น่าสนใจ คือ ดุลบัญชีเดินสะพัด ปี 2564 ที่คาดเกินดุลน้อยลง เหลือ 1.2 พันล้านดอลลาร์ จากคาดการณ์เดิมที่ 11.6 พันล้านดอลลาร์ จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงปัจจัยอื่น ที่ส่งผลให้ แรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาท “ลดลง”ด้วย ดังนั้นความกังวลของธปท.ที่มีต่อค่าเงินบาทแข็งค่าก็ลดลง จาก “ดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลน้อยลง

      แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องพวกนี้ ประมาทไม่ได้ เพราะอาจจะมีเรื่องเงินทุนที่ผันผวน ซึ่งต้องระวังอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับ การเร่งผลักดัน หรือสร้างระบบนิเวศของอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นกันชน และรักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทในระยะยาวได้

     “ที่ผ่านมา หากดูอัตราแลกเปลี่ยน เวลาสหรัฐมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เงินดอลลาร์ก็มักกลับไปแข็งค่า ส่งผลให้เงินบาท รวมถึงเงินสกุลในภูมิภาค กลับมาอ่อนค่า ประกอบกับเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าประเทศอื่นๆบ้าง ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยลง จึงทำให้ แรงกดดันของเงินบาทที่แข็งค่าจึงน้อยลง แต่ยังไงต้องบริหารจัดการค่าเงิน และติตามค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง”