“โซนิค”โตรับกระแสอีอีซี หวั่นโลจิสติกส์จีนตีตลาด

“โซนิค”โตรับกระแสอีอีซี หวั่นโลจิสติกส์จีนตีตลาด

“โซนิค” รับอานิสงค์จาก อีอีซี เดินรถขนตู่คอนเทนเนอร์อีก 40 คัน คาด ปี 64 รายได้จากอีอีซี จะเพิ่มขึ้นอีก 50%เผยห่วงธุรกิจขนส่งจีนจะเข้ามาแข่งไทย กระทบรายย่อย ด้านท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 อาจไม่บูมอย่างที่คิดโรงงานโตไม่ทันท่าเรือ

ธุรกิจโลจิสติกส์มีแนวโน้มขยายตัวถึงแม้จะมีวิกฤติโควิด-19 รวมถึงบริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับประโยชน์จาก เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ยังคงสร้างโอกาสทางธุรกิจถึงแม้ว่าจะมีบริษัทขนส่งจากจีนเข้ามาเป็นคู่แข่งสำคัญ

สันติสุข โฆษิอาภานันท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โซนิค อินเตอร์เฟรท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ทำธุกิจโลจิสติกส์ครบวงจร ทั้งการนำเข้าและส่งออกจากไทยไปทั่วโลกในแบบวันสต็อปเซอร์วิสทั้งการให้บริการศุลกากรและด้านอื่น ซึ่งแบ่งเป็นการให้บริการขนส่งทางเรือ 60-65% ขนส่งทางบก 30-35% ที่เหลือเป็นการขนส่งทางอากาศ ในปีที่ผ่านมามีรายได้รวมกว่า 1.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 10% และมีกำไรเพิ่มขึ้นถึง 20% 

ทั้งนี้ แม้ว่าปี 2563 ทั่วโลกจะเจอวิกฤติโควิด-19 และมีปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ แต่จากการที่บริษัทมีความร่วมมือกับสายการเดินเรือต่างประเทศมานานทำให้จัดหาตู้คอนเทนเนอร์ให้ลูกค้าได้ รวมทั้งลูกค้าบริษัทมีหลากหลายอุตสาหกรรม บางอุตสาหกรรมอาจจะลดลง แต่บางอุตสาหกรรมก็มีการนำเข้าส่งออกเพิ่ม ทำให้ไม่กระทบการดำเนินงาน

“ปี 2564 โซนิค ตั้งเป้ายอดขายและผลกำไรเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% เพราะโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ทั่วโลกทยอยฉีดวัคซีน ทำให้การค้าระหว่างประเทศฟื้นตัว รวมทั้งบริษัทขยายจำนวนรถบรรทุกคอนเทนเนอร์ ทำให้รายได้จากการขนส่งทางบกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในอีอีซี ที่มีโอกาสขยายตลาดได้มาก ส่วนปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติในไตรมาส 2 ปีนี้ ส่วนการขยายธุรกิจในปีนี้จะร่วมมือกับบริษัทโลจิสติกส์ในฮ่องกงและสิ่งโปร์ ที่ได้หยุดชะงักไปในช่วงโควิด หากประสบความสำเร็จจะขยายธุรกิจได้มากขึ้น”

161556743162

สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในอีอีซี จะช่วยส่งเสริมธุรกิจโลจิสติกส์ในอีอีซีให้ขยายตัวมาก โดยเฉพาะการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพราะธุรกิจหลักของเราเป็นการให้บริการขนส่งทางเรือ ซึ่งแม้ปัจจุบันอีอีซีเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของบริษัท มีสัดส่วนรายได้ 30-40% โดยปี 2563 ได้เพิ่มรถขนส่งตู้คอนเทนเนอร์อีก 45 คัน มียอดการขนส่ง 2 พันตู้ต่อเดือน จากทั้งสิ้น 4.8 พันตู้ต่อเดือน และมั่นใจว่าในอีอีซีจะมีจำนวนลูกค้าเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ จากปริมาณลูกค้าที่เพิ่มขึ้น บริษัทจึงขยายกิจการไปสู่ธุรกิจลิสซิ่งเช่าซื้อรถบรรทุกหัวลากตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อขยายศักยภาพบริษัทพันธมิตรที่เข้ามาร่วมขนส่งกับ โซนิค โดยมีอัตราดอกเบี้ย และระยะเวลาการผ่อนชำระที่ดีกว่าธนาคารทั่วไป เพื่อตอบสนองความต้องการผู้ประกอบกิจการขนส่งเอสเอ็มอีได้ตรงจุด และบริษัทจะป้อนงานให้โดยตรง รวมทั้งจะช่วยฝึกอบรมมาตรฐานการบริการและการจัดการเพื่อให้มีมาตรฐานเท่ากับโซนิค 

สำหรับผู้ที่จะเข้าสู่ระบบลิสซิ่งต้องเข้ามาวิ่งรถกับเราไม่ต่ำกว่า 6 เดือน เพื่อคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีความตั้งใจและมีประสิทธิภาพเข้าร่วมโครงการนี้ โดยตั้งเป้าภายใน 6 เดือนนี้ จะขยายรถหัวลากจากธุรกิจลิสซิ่งได้ไม่ต่ำกว่า 40 คัน และจะขยายการให้บริการในอีอีซีเพิ่มได้อีก 50%

“ขณะนี้โซนิคมีรถบรรทุกหัวลากคอนเทนเนอร์ 95 คัน แต่หากรวมกับรถหัวลากของพันธมิตรที่เข้าร่วมจะมี 145 คัน คาดว่าครึ่งแรกปีนี้จะเพิ่มรถหัวลากเข้ามาให้บริการจากธุรกิจลิสซิ่งไม่ต่ำกว่า 40 คัน และตั้งงบไว้ 200 ล้านบาท จะเพิ่มรถได้ 50 คัน และปี 2565 ตั้งเป้าไว้ที่ 300 ล้านบาท จะช่วยขยายธุรกิจของ โซนิค และพันธมิตรให้เข้มแข็ง”

ผลจากวิกฤติโควิด-19 และสงครามการค้าทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบซัพพลายเชนโลก จากอดีตที่บริษัทขนาดใหญ่จะมีฐานการผลิตหลักไม่กี่ประเทศ และแต่ละโรงงานจะใช้ระบบการผลิตแบบทันเวลาพอดี (Just In Time) เพื่อลดต้นทุนการสต็อกสินค้า เปลี่ยนเป็นการกระจายฐานการผลิตย่อยไว้หลายประเทศและเก็บสต็อกสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคระบาดจนต้องปิดโรงงาน 

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีโรงงานย่อยเข้ามาผลิตสินค้าทดแทนได้ ส่วนสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐทำให้จีนหันเข้ามาลงทุนในไทยและอาเซียนเพิ่มขึ้น ซึ่งสถานการณ์เหล่านี้ธุรกิจโลจิสติกส์ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการลงทุนจากจีนที่เข้ามาในไทย โดยมองว่าจะมีธุรกิจโลจิสติกส์และการขนส่งจากจีนเข้ามาตีตลาดไทยเพิ่มขึ้น โดยจะมาให้บริการบริษัทจีนในไทย

“การที่จีนย้านฐานการผลิตมาไทย จะทำให้ธุรกิจขนส่งได้รับประโยชน์จากการที่มีปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้น แต่แง่ลบจะต้องระวังธุรกิจขนส่งของจีนที่จะตามเข้ามาด้วย โดยมองว่าบริษัทขนส่งขนาดใหญ่คงได้รับผลกระทบไม่มาก โดยเฉพาะโซนิกมีกลุ่มลูกค้ากระจายหลากหลายอุตสาหกรรม หลายประเทศ และสัมพันธ์กับสายการเดินเรือที่เข้มแข็ง แต่บริษัทเล็กอาจได้รับผลกระทบ โดยปัจจุบันธุรกิจขนส่งในภาคเหนือถูกจีนมายึดครองแล้ว ดังนั้นรัฐบาลควรเตรียมรับมือไม่ให้เหมือนกับธุรกิจท่องเที่ยวกันผลไม้ที่ต้องเสียประโยชน์ให้จีน”

ส่วนการลงทุนขยายท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อรองรับการขยายตัวของอีอีซี นั้น มองว่าธุรกิจขนส่งทางเรืออาจจะไม่ได้ขยายตัวมากอย่างที่หวังไว้ เพราะโควิด-19 ทำให้การลงทุนชะลอตัวอุตสาหกรรมอาจจะโตไม่ทันท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และอุตสาหกรรมที่เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่มีราคาแพง แต่มีปริมาณสินค้าเพิ่มขึ้นน้อย

รวมทั้งเวียดนามทุ่มพัฒนาท่าเรือหลายแห่ง มีต่างชาติเช้าไปลงทุนมากทำให้มีสินค้าออกสู่ต่างประเทศเพิ่มขึ้น เป็นแรงดึงดูดสายการเดินเรือที่สำคัญให้มุ่งไปสู่เวียดนาม รวมทั้งในอนาคตสินค้าจากลาวและภาคอีสานของไทย อาจจะผ่านแดนไปออกที่ท่าเรือเวียดนามจะใกล้และสะดวกกว่าแหลมฉบัง ดังนั้นรัฐบาลควรเตรียมการรับมือและเพิ่มศักยภาพให้แข่งขัน

“ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทุ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพที่เป็นท่าเรือเป็นอย่างมาก แต่ไทยกลับไม่มีสายการเดินเรือเป็นของตัวเอง ต้องพึ่งพาเรือสินค้าของต่างชาติเกือบทั้งหมด ทำให้อำนาจการต่อรองต่ำ ต่างชาติอยากจะขึ้นราคา ขึ้นค่าปริการได้ตามใจชอบ โดยไทยไม่มีอำนาจต่อรอง ดังนั้นรัฐบาลควรมุ่งพัฒนาสายการเดินเรือควบคู่การพัฒนาท่าเรือ และการปรับปรุงระบบศุลกากร และการอำนวยความสะดวกต่างๆ จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด”