เมกะโปรเจคอีอีซี พร้อมเดินหน้า … จุดพลุการลงทุนรัฐ-เอกชน

เมกะโปรเจคอีอีซี พร้อมเดินหน้า … จุดพลุการลงทุนรัฐ-เอกชน

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ยืนยัน 4 โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซีพร้อมเดินหน้า จุดพลุการลงทุน ต่อยอดการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP)

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ยืนยัน 4 โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่อีอีซีพร้อมเดินหน้า จุดพลุการลงทุน ต่อยอดการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งขณะนี้ได้มีการลงนามสัญญาร่วมลงทุนไปแล้ว 3 โครงการ คือ ท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินตะวันออก ขณะที่อยู่ระหว่างรอลงนาม 1 โครงการ

ในช่วงที่ผ่านมา สกพอ.ได้อนุมัติโครงการหลักที่อยู่ใน EEC Project Listsครบไปแล้ว 5 โครงการ ตั้งแต่ 18 มิ.ย.2561 มูลค่าเงินลงทุนรวม 652,550 ล้านบาท แบ่งเป็นภาครัฐลงทุน 209,910 ล้านบาทหรือคิดเป็น 32%  ขณะที่ภาคเอกชนลงทุน 442,640 ล้านบาทหรือ 68% โดยภาครัฐคาดว่าจะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ 819,662 ล้านบาท และยังไม่นับรวมการจ้างงานที่จะสร้างผลตอบแทนทางการเงินในโครงการอีก 559,715 ล้านบาท

ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะ 3 วัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าเหลว ก๊าซธรรมชาติและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เงินลงทุนโครงการ 47,900 ล้านบาท (ภาครัฐ 12,900 ล้านบาท ภาคเอกชน 35,000 ล้านบาท) ปัจจุบันได้มีการลงนามสัญญาไปแล้วเมื่อ 1 ต.ค.62 จึงถือเป็นโครงการหลักโครงการแรกที่ผ่านขั้นตอนลงนามสัญญาร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2568

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่อุตสาหกรรมหลักกับท่าอากาศยาน 3 แห่ง ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิและอู่ตะเภา เงินลงทุนโครงการ 224,544 ล้านบาท แบ่งเป็นเอกชนลงทุน 107,318 ล้านบาท และรัฐลงทุน 117,226 ล้านบาท พร้อมทั้งมอบที่ดินบริเวณมักกะสัน 140 ไร่ และรอบสถานีศรีราชา 25 ไร่ ให้เอกชนนำไปพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ รวมถึงให้สิทธิ์การเข้าบริการการเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ โดยมีสัญญาสัมปทาน 50 ปี ปัจจุบันได้มีการลงนามสัญญาไปแล้วเมื่อ 24 ต.ค.62 ถือเป็นโครงการที่สองที่ผ่านขั้นตอนลงนามสัญญาร่วมลงทุนรัฐ-เอกชน ทั้งนี้ คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี 2568 เช่นกัน

สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น และเป็นท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 ของไทย เงินลงทุนรวม 290,000 ล้านบาท (ภาครัฐ 17,768 ล้านบาท ภาคเอกชน 272,232 ล้านบาท) ทั้งนี้ ได้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนแล้วเมื่อวันที่ 19 มิ.ย.63 จึงนับเป็นโครงการหลักโครงการที่สามที่ผ่านขั้นตอนลงนามสัญญาร่วมลงทุน

ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) วัตถุประสงค์เพื่อรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยจะดำเนินการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับรองรับเรือขนาดใหญ่เพิ่มศักยภาพในการรองรับตู้สินค้าจาก 11 ล้านทีอียูต่อปี เป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี เงินลงทุนโครงการ 84,360 ล้านบาท (ภาครัฐ 53,490 ล้านบาท ภาคเอกชน 30,870 ล้านบาท) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอลงนาม คาดว่าไม่เกินเดือนพ.ค 2564

 ในส่วนของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) วัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์กลางพัฒนาบุคลากรด้านการบินและนิคมอุตสาหกรรมการบินที่ทันสมัยที่สุดในภูมิภาค มูลค่าลงทุน 10,580 ล้านบาท ปัจจุบันแผนลงทุน MRO ยังรอพันธมิตรรายใหม่เข้ามาร่วมลงทุนและความชัดเจนของแผนฟื้นฟูกิจการ

ในช่วงที่ผ่านมา การลงทุนในพื้นที่อีอีซีอาจไม่เร่งแรงมากนัก เนื่องจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างไรก็ดี ทั้ง 4 โครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมเดินหน้าในปี 2564 และถือเป็นโครงการปักหมุดใหญ่เพื่อบูทโครงการและอุตสาหกรรมต่าง ๆในพื้นที่อีอีซี ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนา 5G ในพื้นที่อีอีซี เพื่อก้าวสู่เศรษฐกิจสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ โครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก เพื่อเข้ามายกระดับรายได้เกษตรกรไทยที่จะนำร่องในอีอีซีประเภทผลไม้ เช่น ทุเรียน อาหารทะเล ขณะที่ตั้งเป้ายอดการขอรับส่งเสริมการลงทุนอีอีซีภาพรวมในปี 2564 จะไม่ต่ำกว่าระดับ 3 ถึง 4 แสนล้านบาท