ค้าปลีกจี้รัฐเร่งอัดฉีด‘ซอฟท์โลน’หนุนสภาพคล่องฟื้นธุรกิจ 

ค้าปลีกจี้รัฐเร่งอัดฉีด‘ซอฟท์โลน’หนุนสภาพคล่องฟื้นธุรกิจ 

อุตสาหกรรมค้าปลีกมูลค่า4ล้านล้านบาทเผชิญสภาวะซบเซาของกำลังซื้อและสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง นับว่าเจอปัจจัยลบหลายเด้ง โดยเฉพาะช่วงล็อกดาวน์เกือบ 2 เดือนในปี 2563 รายได้หายวูบ! รวมทั้งช่วงต้นปี 2564 บางพื้นที่อยู่ในข่ายควบคุมจากการระบาดรอบสอง

อย่างไรก็ดีขณะนี้สถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลายในประเทศไทยและทั่วโลกทยอยฉีด วัคซีน”  นับเป็นสัญญาณบวกที่ดีต่อแนวโน้มธุรกิจ "ค้าปลีก" ที่น่าจะเข้าสู่ห้วงแห่งการฟื้นฟูอีกครั้ง ภายใต้แนวทางการช่วยเหลือจากภาครัฐที่บรรดาผู้ประกอบการเสนอพิจารณามาตรการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) จากภาครัฐเป็นการเร่งด่วนเพื่อต่อลมหายใจและเป็นแรงส่งในการขับเคลื่อนธุรกิจ!

ญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายพื้นที่ ธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการ เริ่มมีความมั่นใจในมาตรการการควบคุมของภาครัฐที่ได้ผล ทำให้ธุรกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ  แต่ก็ยังไม่เท่ากับช่วงก่อนมีการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในปี 2563 ถึงแม้จะมีข่าวสารจากทางภาครัฐยืนยันเรื่องการนำวัคซีนเข้ามาให้ประชาชนไทย ความเชื่อมั่นก็ยังไม่กลับมาเท่าเดิม

ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกไทยในทุกภาคส่วนของค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการต่อเนื่องทุกเดือน สำหรับเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นการสำรวจทางออนไลน์ระหว่างวันที่ 15-23 ก.พ. มีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามประกอบด้วยร้านค้าปลีกสินค้าทั่วประเทศ ซึ่งมีช่องทางจำหน่ายรวมกันกว่า 23,000 แห่ง และร้านค้าปลีกบริการภัตตาคารร้านอาหารที่มีช่องทางบริการกว่า 4,000 แห่ง รวมผลการสำรวจร้านค้าปลีกกว่า 27,000 แห่ง พบว่า ความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีต่อสถานการณ์ในเดือน ก.พ.2564 เพิ่มสูงขึ้น 43% เทียบเดือนก่อนหน้า  แต่ยังต่ำกว่าความเชื่อมั่นของเดือน ก.พ.2563

โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายสาขาเดิม (Same Store Growth) เดือน ก.พ.2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนม.ค. ไปในทิศทางเดียวกันทุกภูมิภาค สะท้อนจากค่าใช้จ่ายต่อบิล (Spending per Bill) และความถี่ในการจับจ่าย (Frequency of Shopping) เดือน ก.พ.เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดือนม.ค. 12% แต่ยังต่ำกว่าค่าใช้จ่ายต่อบิลในเดือนก.พ. 2563

ที่น่าสนใจพบว่ายอดการใช้บริการของผู้บริโภค (Traffic) เพิ่มขึ้น 20% หลังร้านค้าปลีกเปิดทำการได้ตามปกติ และ กำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มพื้นตัวจากเดือนม.ค. เป็นเพราะผู้บริโภคคลายความกังวลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และการใช้จ่ายสะพัดช่วงตรุษจีน”

161547130881

ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการแยกตามประเภทร้านค้าปลีก ทุกประเภทร้านค้าปลีก มีดัชนีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะร้านค้าปลีกประเภทภัตตาคาร ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่าค่าเฉลี่ยกลางระดับที่ 50 แต่กลับสวนทางกับร้านค้าประเภทสะดวกซื้อที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 เป็นผลจากร้านค้าประเภทสะดวกซื้อไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ เป็นต้น

สถานการณ์โควิดที่เริ่มคลี่คลายและการทยอยฉีดวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาด นับเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค และการฟื้นตัวของตลาดสินค้าและบริการต่างๆ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกังวลในเรื่องสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ซึ่งภาครัฐจะต้องเร่งให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าปลีก โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและย่อมในเรื่อง สภาพคล่อง” อย่างเร่งด่วนด้วยมาตรการภาษี การลดภาระค่าใช้จ่าย และสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์พิจารณาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) แก่ผู้ประกอบการอย่างจริงจังและรวดเร็ว

ด้วยสภาพคล่องที่เหลืออยู่ของผู้ประกอบการค้าปลีกจะสามารถดำเนินธุรกิจได้อีกเพียง 6 เดือน รัฐต้องเร่งเสริมสภาพคล่องเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้” 

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องพิจารณาแนวทางการจ้างงานแบบรายชั่วโมง เพื่อให้สอดคล้องกับการบริการต่อผู้บริโภคที่มาเป็นช่วงเวลา โดยให้ใช้กับ ธุรกิจค้าปลีก” และ ร้านอาหาร” เป็นการเฉพาะก่อน