เช็คก่อนฉีด 'วัคซีนโควิด' แบบไหนคืออาการ 'แพ้วัคซีน' ต้องรู้!

เช็คก่อนฉีด 'วัคซีนโควิด' แบบไหนคืออาการ 'แพ้วัคซีน' ต้องรู้!

ประชาชน 13 จังหวัดแรกกำลังทยอยได้รับ "วัคซีนโควิด" โดยหลังฉีดวัคซีนอาจทำให้มีปฏิกิริยาได้ 2 แบบคือ "อาการไม่พึงประสงค์" และ "แพ้วัคซีน" แล้วอาการแบบไหนเรียกว่าแพ้วัคซีน ชวนเช็คให้ชัวร์

นับตั้งแต่ประเทศไทยฉีด "วัคซีนโควิด" เข็มแรกไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้มีประชาชนในกลุ่มเสี่ยงเบื้องต้น เข้ารับการฉีดวัคซีนแล้วหลายหมื่นราย และทางการกำลังทยอยฉีดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามแผนดำเนินงาน หนึ่งในข้อกังวลของประชาชน คงหนีไม่พ้นเรื่อง "อาการไม่พึงประสงค์" หลังฉีดวัคซีน หรือบางรายอาจถึงขั้น "แพ้วัคซีน" ได้

แล้วอาการทั้งสองอย่างแตกต่างกันอย่างไร? แบบไหนรุนแรงมากกว่ากัน? แล้วมีวิธีการดูแลตัวเองหลังฉีด "วัคซีนโควิด" อย่างไร? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

1. "อาการไม่พึงประสงค์" และ "แพ้วัคซีน" ไม่เหมือนกัน

มีข้อมูลจาก ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวเวชศาสตร์ระดับโมเลกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ ม.มหิดล และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2564 ที่เคยอธิบายไว้ในการแถลงข่าวที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข (8 มี.ค.64) ระบุว่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

กรณีประชาชนจำนวนมากกังวลเกี่ยวกับอาการที่อาจเกิดขึ้นหลังการรับวัคซีนโควิด 19 ขอชี้แจงว่าวัคซีน ยา หรือ สารเคมีใดๆ ที่ใช้กับร่างกายถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมที่ร่างกายไม่รู้จัก จะมีปฏิกิริยาเกิดขึ้นตามมาได้ 2 แบบ คือ อาการไม่พึงประสงค์ และ อาการแพ้วัคซีน ซึ่งอาจไม่ได้แพ้ที่ตัวไวรัสโดยตรง แต่อาจเป็นการแพ้ส่วนประกอบอื่นๆ ของวัคซีน

อาการ "แพ้วัคซีน" และ "อาการไม่พึงประสงค์" หลังได้รับวัคซีนนั้นมีความแตกต่างกัน ที่พบบ่อยในประเทศไทยมักเป็นอาการไม่พึงประสงค์ โดยพบเพียงร้อยละ 3.48 เท่านั้น ประชาชนควรชั่งใจระหว่างอาการข้างเคียงที่อาจเกิดเพียงเล็กน้อยกับผลดีที่ได้รับอย่างมาก จากการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค

2. "อาการไม่พึงประสงค์" ไม่รุนแรง หายได้เอง

สำหรับ "อาการไม่พึงประสงค์" หลังฉีดวัคซีนโควิด มักจะไม่มีความรุนแรง สามารถเกิดขึ้นได้ภายหลังฉีดวัคซีนทุกชนิด แบ่งได้ 2 ประเภท คือ

- อาการที่เกิดขึ้นเฉพาะที่ : เช่น ปวดบวมแดง เจ็บในตำแหน่งที่ฉีด โดยวิธีดูแลตัวเองหลังการฉีดวัคซีนคือ สามารถใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบช่วยบรรเทาอาการได้

- อาการแทรกซ้อนไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นทั่วร่างกาย : ได้แก่ มีไข้ต่ำๆ เหนื่อย คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ส่วนใหญ่อาการเหล่านี้จะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน

3. อาการ "แพ้วัคซีน" จุดสังเกตคือ "ผื่นแดง"

ต่อมาถ้าเป็นอาการ "แพ้วัคซีน" ศ.ดร.นพ.วิปร วิประกษิต อธิบายว่าโดยทั่วไปมักจะมีการเกิดผื่นแพ้ ซึ่งเกิดได้หลายรูปแบบ เช่น ผื่นแดงบนผิวหนัง ที่สังเกตได้ง่ายคือ ลมพิษ เป็นผื่นนูน มีขอบเขตชัดเจน อาจคันหรือไม่ก็ได้

ส่วนอาการแพ้ที่รุนแรง คือ อาจมีอาการหลอดลมตีบทำให้หายใจลำบาก, ผื่นขึ้นทั้งตัว, ไข้ขึ้นสูง, ปวดศีรษะรุนแรง, ปากเบี้ยว, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, เกล็ดเลือดต่ำ, มีจุดเลือดออกตามร่างกาย, อาเจียนมากกว่า 5 ครั้ง, ชัก, หมดสติ ซึ่งต้องรีบพบแพทย์ทันที

นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติแพ้ง่ายมาก่อน ควรมีการติดตามสังเกตอาการ มากกว่าคนที่ไม่มีประวัติแพ้มาก่อน ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่ต้องได้รับวัคซีนในระยะแรก ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนตามวัน/เวลา ที่ได้รับการนัดหมายจากโรงพยาบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความรุนแรงของโรค และลดอัตราการเสียชีวิต

161554382619

4. ผู้รับวัคซีนในไทย พบอาการไม่พึงประสงค์เล็กน้อย

การฉีดวัคซีนโควิด-19 จากซิโนแวค ในประเทศไทย ณ ช่วงต้นเดือนมีนาคม 2564 กระทรวงสาธารณสุข มีแถลงข่าวอัพเดทความคืบหน้าการดำเนินงานเป็นประจำ ล่าสุด.. (10 มี.ค.) ฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายไปแล้วกว่า 30,000 ราย พบผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์เพียงเล็กน้อย ร้อยละ 3.48 โดยหากแบ่งประเภทอาการ ส่วนใหญ่ที่พบคือ การอักเสบและปวดบริเวณที่ฉีด รองลงมาคือ ปวดเมื่อยเนื้อตัว, คลื่นไส้, มีไข้, อาเจียน, เป็นผื่น, ท้องเสีย, เหนื่อย เป็นต้น

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดรูปแบบการให้บริการฉีดวัคซีนรองรับ ตั้งแต่การซักประวัติอาการแพ้ การเฝ้าระวังสังเกตอาการเป็นเวลา 30 นาที และติดตามอาการในวันที่ 1, 7 และ 30 โดยใช้ Line Official Account “หมอพร้อม” บันทึกอาการที่ไม่พึงประสงค์เพื่อความปลอดภัย และเป็นข้อมูลในระดับประเทศต่อไป

5. แนวทางเฝ้าระวังอาการ "แพ้วัคซีน" รุนแรง

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ "แนวทางเฝ้าระวังอาการแพ้วัคซีนชนิดรุนแรง" เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบด้วย โดยระบุว่า หากฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเฉียบพลันของระบบผิวหนัง/เยื่อบุ หรือทั้งสองอย่าง (มีลมพิษขึ้นทั่วตัว คัน ผื่นแดง มีอาการบวมของปาก สิ้น เพดานอ่อน) ร่วมกับอาการอย่างน้อยหนึ่งอาการดังต่อไปนี้ จะเข้าข่ายอาการ "แพ้วัคซีน" รุนแรง นั่นคือ

161486676727

5.1) อาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล เสียงแหบ หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงฮื้อ-เสียงหวีด การทำงานของหลอดลมหรือปอดลดลง ระดับออกชิเจนในหลอดเลือดลดลง

5.2) ความดันโลหิตลดลง/การทำงานของระบบต่างๆ ล้มเหลว เช่น hypotonia (กล้ามเนื้ออ่อนแรง) เป็นลม อุจจาระ ปัสสาวะราด มีอาการของระบบทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน

5.3) ความดันโลหิตลดลงหลังจากรับวัคซีน ความดัน systolic ที่ลดลงมากกว่าร้อยละ 30 ของความดัน systolic เดิม

----------------------

ที่มา : สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 กระทรวงสาธารณสุข