'สัญลักข์' ลุยรีแบรนด์ บขส.ดึงดิจิทัล–เพิ่มรายได้นอนคอร์

'สัญลักข์' ลุยรีแบรนด์ บขส.ดึงดิจิทัล–เพิ่มรายได้นอนคอร์

“สัญลักข์” เดินหน้าลุยรีแบรนด์ บขส.ดึงดิจิทัล–เพิ่มรายได้นอนคอร์ เตรียมประมูลที่ดิน 4 แปลง เอกมัย ปิ่นเกล้า สามแยกไฟฉาย ชลบุรี

บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส.รัฐวิสาหกิจที่ให้บริการขนส่งมวลชนทั่วประเทศถึงเวลาต้องปรับแนวทางการบริหาร หลังจากที่ผ่านมาได้รับผลกระทบหลายด้านนับตั้งแต่การแข่งขันกับการขนส่งรูปแบบใหม่ทั้งสายการบินต้นทุนต่ำ รถตู้โดยสาร มาจนถึงผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19

"ปี 2564 บขส.ก้าวเข้าสู่ปีที่ 91 เป้าหมายสำคัญในปีนี้จะเป็นการรีแบรนด์ ปรับโฉม บขส.ให้แตกต่างจากที่เคยเป็นมา” สัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บขส.เริ่มฉายภาพกับกรุงเทพธุรกิจถึงเป้าหมายการปรับโฉม บขส.สู่การเปลี่ยนผ่านองค์กรครั้งสำคัญ ก้าวเข้าสู่บริการขนส่งสาธารณะในยุคสมาร์ทดิจิทัล โดยใช้ Smart Digital Technology เป็นหัวใจการดำเนินงาน หรือ Digital Transport 4 ด้าน ประกอบด้วย

1.SMART Station (Modern Bus) การพัฒนาเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัยให้สถานีขนส่งผู้โดยสารของ บขส. โดยเน้นความสะอาด สะดวกสบาย ปลอดภัย ซึ่งพัฒนาระบบการจองตั๋วโดยสาร ให้ผู้โดยสารจองผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นควบคู่การจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย และลดพื้นที่ห้องขายตั๋ว ลดการรับเงินสด ตามวิถีใหม่

รวมทั้งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของการจราจรในสถานี และเชื่อมต่อระบบขนส่งโดยสารสารธารณะอื่น และจะนำระบบ TOC : Transport Operation Center มาแสดงข้อมูลการเดินรถเรียลไทม์ เพื่อช่วยบริหารและควบคุมการเดินรถให้ดีขึ้น

“ในวันที่ 13 ก.ค.ปีนี้ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ บขส. โดยจะเปิดตัวแอพพลิเคชั่นจองตั๋ว ซื้อตั๋วผ่านระบบออนไลน์ และกำลังจะลงนามความร่วมมือกับบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT เพื่อติดตั้ง Wifi ในทุกสถานีของ บขส.รวม 95 แห่ง”

2.SMART Product & Service เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกรถโดยสาร นอกเหนือบริการเดิมที่มี รวมทั้งมีแผนเปิดให้บริการเส้นทางใหม่ที่เชื่อมเมืองหลักกับเมืองรอง รัศมี 300 กิโลเมตร ที่ไม่ใช่เป้าหมายของกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำ วางเส้นทางเป็นระบบขนส่งรอง หรือ Feeder เชื่อมรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) และเมื่อโควิด-19 คลี่คลาย บขส.จะเพิ่มเส้นทางจากเมืองหลักหรือเมืองรองไปประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว กัมพูชา เพื่อยกระดับเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอาเซียน

นอกจากนี้ บขส.จะหาโอกาสทางธุรกิจจากการสร้างธุรกิจใหม่ เพิ่มรายได้จากต้นทุนการเดินรถที่มีอยู่เดิม เช่น การสร้างพันธมิตร เพื่อให้บริการขนส่งพัสดุ หรือการทำข้อตกลงความร่วมมือการขนส่งกับ และหน่วยงานภาครัฐ ขยายช่องทางการสร้างรายได้ จากการขนนส่งสินค้าใต้ท้องรถ และลงทุนรถใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการ โดยขณะนี้ บขส.นำร่องเช่ารถขนส่งสินค้า 2 คัน เพื่อทดลองบริการขนส่งสินค้าเส้นทางภาคอีสาน

ขณะนี้ บขส.บอกกับกรุงเทพธุรกิจว่าอยู่ระหว่างจะขอปรับแก้มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อปลดล็อคให้ บขส.หารายได้จากการขนส่งสินค้า นอกเหนือจากให้บริการขนส่งผู้โดยสาร เพราะเห็นว่าแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจขนส่งสินค้ายังมีอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจุดแข็งของ บขส.ที่มีเส้นทางครอบคลุมทั้งประเทศ จะเป็นโอกาสที่ทำให้ บขส.สร้างรายได้เพิ่มขึ้น

บขส.ได้หารือกับเอกชนผู้ประกอบการขนส่งพัสดุ อาทิ แกร็บ และเคอร์รี่ เพื่อเป็นพันธมิตรในการกระจายสินค้าจาก บขส.สู่ประตูบ้านของลูกค้า ภายใต้แผน  Hub To Door อีกทั้ง บขส.ยังอยู่ระหว่างเตรียมเจรจานำเอาสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) เข้ามาจัดจำหน่ายในสถานีและเป็นตัวแทนขนส่งสินค้าด้วย ซึ่งหาก ครม.อนุมัติให้ บขส.ทำธุรกิจขนส่งสินค้า คาดว่าในอนาคตจะมีการลงทุนธุรกิจนี้ และมีความร่วมมือกับพันธมิตรมากขึ้น

161426083728

3.SMART Asset บขส.มีแนวคิดด้านการจัดการกับทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ที่แน่นอน โดยจะพิจารณาให้เอกชนเข้ามาร่วมพัฒนาแบบเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) ทรัพย์สินที่เป็นที่ดิน 4 แปลง รวมพื้นที่ 30 ไร่ มูลค่ากว่า 7,600 ล้านบาท คือ 

สถานีเอกมัย 7 ไร่ มูลค่าราว 2.5 พันล้านบาท สถานีปิ่นเกล้า 15 ไร่ มูลค่า 4.6 พันล้านบาท ที่ดินสามแยกไฟฉาย 3 ไร่ 428 ล้านบาท และสถานีชลบุรี 5 ไร่ มูลค่า 113 ล้านบาท

พื้นที่สถานีดังกล่าวมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์แบบผสมผสาน หรือ มิกซ์ยูส ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้ให้กับ บขส.ในส่วนของธุรกิจที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับการเดินทาง (นอนคอร์) โดยเบื้องต้น บขส.อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารประกวดราคา นำร่องในส่วนของที่ดินที่พร้อมพัฒนาทันที 2 แปลง คือ สถานีชลบุรี และสถานีสามแยกไฟฉาย คาดว่าประกาศเอกสารประกวดราคา (ทีโออาร์) ภายใน 3-6 เดือน หรือไม่เกินเดือน ส.ค.นี้

ส่วนที่ดินอีก 2 แปลง คือ สถานีเอกมัย และสถานีปิ่นเกล้า เนื่องจากปัจจุบัน บขส.ยังใช้เป็นสถานีขนส่ง เป็นจุดจอดรถให้บริการ ดังนั้นต้องดำเนินการย้ายสถานีให้เสร็จก่อน จึงจะเปิดประมูลได้ โดยคาดว่าจะประมูลทั้ง 2 แปลงดังกล่าว ภายในปี 2565 โดยทุกแปลงที่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุน จะมีสัญญาสัมปทาน 30–50 ปี ซึ่ง บขส.จะเปิดกว้างให้เอกชนลงทุนโครงการทุกรูปแบบที่ประเมินว่าเหมาะสม และให้ผลตอบแทนสูง ซึ่งผลการศึกษาที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะพัฒนาในลักษณะมิกซ์ยูส

“ปีนี้เราจะเริ่มพีพีพีในส่วนของแปลงที่มีความพร้อมก่อน อย่างสามแยกไฟฉายที่ผ่านมาเปิดให้เอกชนเสนอโครงการแล้วหลายครั้งยังไม่ได้การตอบรับ ปีนี้เราจะทดลองให้เอกชนทำสัญญาเช่าระยะสั้น 3 ปีก่อน หากพบว่ามีกำไรดี ก็จะเปิดให้พีพีพีระยะยาว ซึ่งขณะนี้มีเอกชนสนใจมาหารือแล้ว โดยจะพัฒนาเป็นสมาร์ท ปาร์คกิ้ง หรือที่จอดรถครบวงจร”

และกลยุทธ์การขับเคลื่อนองค์กรส่วนที่ 4.SMART Firm ด้วยแนวคิด “องค์กรต้องดำรงอยู่ได้บนผลกำไรของตนเอง” 

ดังนั้นพนักงานทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ต้นทุนของหน่วยงาน มีการนำเอาเทคโนโลยี มาบริหารจัดการ รวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล ส่วนปฏิบัติการ ให้สอดคล้องกับสภาวะรายได้การเดินรถที่จะมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยขณะนี้พบว่าพนักงานทุกฝ่ายเริ่มปรับตัว และลดค่าใช้จ่ายส่วนของสำนักงานไปได้มากถึง 30%