จับชีพจรตลาด ‘รถยนต์’ ในวิกฤติโควิด ฉุดยอดขายร่วงยกแผง

จับชีพจรตลาด ‘รถยนต์’ ในวิกฤติโควิด ฉุดยอดขายร่วงยกแผง

จับชีพจรตลาด "รถยนต์" ในวิกฤติโควิด เปิดปี 2564 เดือนมกราคม ยอดขายรถยนต์ร่วงยกแผงลดลง 21.3% "โตโยต้า" ครองแชม์ยอดขายมากที่สุด ชิงมาร์เก็ตแชร์ไป 32.2%

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อยู่ยาวมาเกิน 1 ปี ทำให้ธุรกิจต่างบอบช้ำกับวิกฤติที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว หลังจากสถานการณ์เริ่มคลี่คลายได้ไม่นาน การแพร่ระบาดระลอกใหม่ก็เข้ามาซ้ำเติมอีกครั้ง ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ ที่กำลังจะเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤติต้องตั้งตัวกันใหม่ เช่นเดียวกับตลาด "รถยนต์" ที่ภาพรวมยอดขายเปิดต้นปี 2564 ร่วงยกแผง 

    

  • โควิด-19 ฉุดยอดขายรถยนต์ปี 63 ร่วง 21%

หากย้อนภาพกลับไปปี 2563 พบว่าภาพรวมตลาดรถยนต์มียอดขายรวมอยู่ที่ 7.92 แสนคัน ลดลงไปราว 21% เทียบกับปีก่อนหน้า แม้ตัวเลขที่ปรากฏออกมาค่อนข้างน่าเป็นห่วงกังวลอย่างมาก แต่ยังคงดีกว่าที่มีการประเมินไว้ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่า ในช่วงที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงแรกๆ อาจติดลบไปถึง 50% ขณะเดียวกันมีการประเมินว่าระดับที่แย่ที่สุดที่อุตสาหกรรมนี้สามารถรับได้อยู่ที่ราวติดลบ 30% เท่านั้น 

เมื่อไล่เรียงไทม์ไลน์ของการแพร่ระบาดในช่วงแรก สถานการณ์ภาพรวมรถยนต์เกิดขึ้น ดังนี้

  • มี.ค. - เม.ย.2563    ช่วงที่ตลาดภาพรวมแย่ที่สุด 
  • พ.ค.2563              สถานการณ์ตลาดเริ่มปรับตัวดีขึ้น 
  • พ.ย.2563              ปรับตัวดีขึ้นชัดเจน ยอดขายเพิ่มขึ้น 2.7% จากเดือนก่อน
  • ธ.ค.2563              สามารถสร้างยอดขายได้มากกว่า 1 แสนคันเป็นครั้งแรก ยอดขาย 1.04 แสนคัน หรือเพิ่มขึ้น 11% 

161425777337

   

  • วิกฤติระลอกใหม่ ซ้ำเติมยอดขายรถทุกเซกเมนท์

เมื่อเริ่มต้นปี 2564 เดือน ม.ค. ตลาดรถยนต์มียอดขายทั้งหมด 55,208 คัน ลดลง 21.3% โดย 3 อันดับแรกแบรนด์ที่มียอดขายสูงสุด คือ

1. โตโยต้า  ยอดขาย 17,758 คัน ลดลง 12.2% ครองส่วนแบ่งการตลาด 32.2%
2. อีซูซุ  ยอดขาย 15,248 คัน เพิ่มขึ้น 6.7% ครองส่วนแบ่งการตลาด 27.6%
3. ฮอนด้า  ยอดขาย 5,657 คัน ลดลง 50.4% ครองส่วนแบ่งการตลาด 10.2%

ทั้งนี้หากแบ่งตามเซกเมนท์ หรือประเภทรถยนต์ต่างๆ มียอดขายดังนี้

  • รถยนต์นั่ง ยอดขาย 16,104 คัน ลดลง 44.2%

- อันดับ 1 โตโยต้า  ยอดขาย 5,073 คัน
- อันดับ 2 ฮอนด้า   ยอดขาย 4,526 คัน
- อันดับ 3 มาสด้า   ยอดขาย 1,779 คัน

  • รถปิกอัพ (Pure Pick up) ยอดขาย 25,813 ตัน ลดลง 14.2%

- อันดับ 1 อีซูซุ       ยอดขาย 12,764 คัน
- อันดับ 2 โตโยต้า  ยอดขาย 8,519 คัน
- อันดับ 3 ฟอร์ด     ยอดขาย 1,962 คัน 

  • รถปิกอัพดัดแปลง (พีพีวี) ยอดขาย 4,294 คัน 

- อันดับ 1 โตโยต้า  ยอดขาย 1,975 คัน
- อันดับ 2 อีซูซุ       ยอดขาย 1,434 คัน
- อันดับ 3 มิตซูบิชิ   ยอดขาย 522 คัน

  • ตลาดรถยนต์ในเดือน ก.พ.64 จะเป็นอย่างไร?

"สุรศักดิ์ สุทองวัน" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มองทิศทางตลาดรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ว่า ตลาดรถยนต์ยังน่าจับตามอง แม้ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัจจัยหลักๆ คือ

1. ความพยายามในการแก้ปัญหา และการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภค ที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ช้อปดีมีคืน และ เราชนะ ที่ออกมาเพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชน อีกทั้งเพื่อให้สามารถจับจ่ายใช้สอบในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะเป็นส่วนช่วยสร้างกระแสหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

2. ผู้ประกอบการรถยนต์ ยังคงพยายามกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 2563 

  • นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ 
  • มีข้อเสนอพิเศษต่างๆ ได้แก่ แคมเปญส่งเสริมการขาย หรือเงื่อนไขทางการเงิน 

ปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2664 ตลาดรถยนต์ยังคงน่าจับตามอง ว่าจะมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีแค่ไหน