ถึงไทยแล้ว! 'วัคซีนโควิด-19'ล็อตแรก

ถึงไทยแล้ว! 'วัคซีนโควิด-19'ล็อตแรก

'วัคซีนโควิด-19'ล็อตแรกถึงไทยแล้ว 2 แสนโดส ชนิดเชื้อตายจากบ.ซิโนแวค นำเก็บคลังสินค้า กรมวิทย์สุ่มตรวจคุณภาพ-ความปลอดภัย 3 วัน ก่อนนำกระจายสู่ 13 จังหวัดแรก

เวลา 9.45 น.วันที่ 24 ก.พ.2564 ที่ เขตปลอดอากรและคลังสินค้า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ,Mr.Yang Xin อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยและแขกผู้มีเกียรติ เดินทางเข้าร่วม พิธี รับวัคซีนโควิด-19จากประเทศจีน"วัคซีนโควิด-19 คืนรอยยิ้มประเทศไทย"


จากนั้นเวลา 10.05 น.สายการบินไทยเที่ยวบิน TG675 เส้นทางปักกิ่ง-กรุงเทพฯขนส่งวัคซีน โควิด-19 จำนวน 2 แสนโดส น้ำหนัก 2.6 ตัน ของบริษัทซิโนแวค จากประเทศจีนเดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดย นายกรัฐมนตรี และแขกวีไอพี เดินทางเข้ารับวัคซีนจากเครื่องบิน ,เจ้าหน้าที่ลำเลียงตู้ควบคุมอุณหภูมิบรรจุวัคซีนออกจากเครื่อง,ลำเลียงตู้ควบคุมอุณหภูมิบรรจุวัคซีน ขึ้นรถขนส่งไปจัดเก็บยังคลังสำรองวัคซีนโควิด-19 องค์การเภสัชกรรม(คลังศรีเพชร DKSH) บริษัท DKSH ประเทศไทย จำกัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นจะมีการสุ่มวัคซีนส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพความปลอดภัยก่อนนำมาใช้ฉีดแข็มแรก คาดว่าจะใช้เวลาราว 3 วัน หากผ่านการตรวจสอบจึงจะนำมาใช้ให้กับคนไทย

161413853727

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ วัคซีนล็อตแรกที่รัฐบาลได้มอบให้กระทรวงสาธารณสุข โดยองค์การเภสัชกรรมจัดหาเร่งด่วน จำนวน 2 ล้านโด๊ส รองรับการระบาดโรคโควิด 19 ระลอกใหม่ เพิ่มจากแผนจัดหาเดิมที่กรมควบคุมโรคสั่งซื้อจากบริษัท Astra Zeneca  โดยวัคซีนล็อตนี้ เกิดจากการเจรจากับ บริษัท ซิโนแวค ไลฟ์ ซายน์ จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน (Sinovac Life Sciences Co.,Ltd., People’s Republic of China) ซึ่งเป็นบริษัทที่สามารถส่งวัคซีนให้ประเทศไทยได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ภายใต้การประสานงานจัดหา โดยสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย และมอบให้องค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ดำเนินการนำเข้า ขึ้นทะเบียนยากับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและกระจายไปสู่ประชาชน ฉีดให้กลุ่มเป้าหมายคนละ 2 โดส ห่างกัน 21 วัน และในเดือนมิถุนายนจะได้รับวัคซีนของแอสตราเซนเนกา 61 ล้านโดส เพื่อฉีดให้กับทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยโดยสมัครใจ สร้างภูมิคุ้มกันโรค ฟื้นเศรษฐกิจ คืนรอยยิ้มให้กับประเทศไทย  

161413855543

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัคซีนโควิด 19 ของซิโนแวค ที่ได้รับในวันนี้เป็นงวดแรกจำนวน 200,000 โดส เมื่อผ่านการตรวจสอบโดยศุลกากร เจ้าหน้าที่ อย. และเจ้าหน้าที่ขององค์การเภสัชกรรมแล้ว จะขนส่งไปยังคลังสำรองวัคซีนโควิด 19 ที่ศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จากนั้น องค์การเภสัชกรรมจะดำเนินการตรวจรับและส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพอีกครั้ง เมื่อผ่านทุกขั้นตอนแล้ว จะจัดส่งกระจายให้กับหน่วยบริการสถานพยาบาลให้เร็วที่สุด สำหรับวัคซีนงวดที่ 2 จำนวน 800,000 โดส จะส่งมอบในเดือนมีนาคม และงวดที่ 3 จำนวน 1 ล้านโดสในเดือนเมษายน 2564 รวมทั้งสิ้น 2 ล้านโดส โดยองค์การเภสัชกรรมได้ร่วมมือกับบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการจัดเก็บวัคซีนทั้ง 2 ล้านโดสนี้ ภายในห้องจัดเก็บยาเย็น และจะจัดส่งกระจายวัคซีนภายใต้มาตรฐานสากล ควบคุมอุณหภูมิไว้ไม่เกิน 2 – 8 องศาเซลเซียส ไปยังโรงพยาบาลตามแผนการฉีดให้กับประชาชนที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งบริษัท ดีเคเอสเอช (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้การสนับสนุนแก่รัฐบาลไทยในการดำเนินงานด้านการจัดส่งและกระจายวัคซีนป้องกันโควิด 19 จำนวน 2 ล้านโดสนี้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย


สำหรับแผนการกระจายวัคซีน 2 แสนโดสนั้น
ศบค.ให้ความเห็นชอบแผนกระจายวัคซีน 2 แสนโดสแรก โดยกระจายใน 13 จังหวัด ประกอบด้วย กลุ่มแรก พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 1 จังหวัด คือ สมุทรสาคร จำนวน 70,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 8,000 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 6,000 โดส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 46,000 โดส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 10,000 โดส กลุ่มที่ 2 พื้นที่ควบคุม 8 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ(ฝั่งตะวันตก) 66,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 12,400 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 1,600 โดส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 47,000 โดส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 5,000 โดส

ปทุมธานี 8,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 3,000 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 2,000 โดส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 2,000 โดส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1,000 โดส นนทบุรี 6,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 2,000 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 1,000 โดส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 2,000 โดส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1,000 โดส สมุทรปราการ 6,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 2,000 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 1,000 โดส ผู้ที่มีโรคประจำตัว 2,000 โดส และประชาชนทั่วไปและแรงงาน 1,000 โดส
ตาก (อ.แม่สอด) 5,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 3,000 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 2,000 โดส นครปฐม 3,500 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 2,500 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 1,000 โดส สมุทรสงคราม 2,000 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 1,500 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 500 โดส ราชบุรี 2,500 โดส เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า 2,000 โดส เจ้าหน้าที่ที่สัมผัสผู้ป่วย 500 โดส
และกลุ่มที่ 3 พื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม คือ ชลบุรี 4,700 โดส ภูเก็ต 4,000 โดส อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 2,500 โดส และจ.เชียงใหม่ 3,500 โดส โดยมอบให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด พิจารณาจัดสรรจำนวนวัคซีนให้แต่ละกลุ่มเป้าหมายตามสถานการณ์และบริบทของพื้นที่ ที่เหลืออีก 16,300 โดสสำหรับควบคุมการระบาดและฉีดให้บุคลากรในรพ.ที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยแต่ละคนจะต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 2 สัปดาห์ ทั้งนี้ ส่วนการวางแผนให้บริการวัคซีนโควิด-19ในรพ. จะให้บริการในรพ. 1,000 แห่ง วันละ 500 โดส เฉลี่ยต่อเดือนฉีดได้ 10 ล้านโดส แต่สัปดาห์แรกจัดบริการในโรงพยาบาล 50 แห่ง เริ่มจาก 100-200 โดสต่อวัน ระยะต่อไปพิจารณาขยายการให้บริการให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ