‘Supreme’ X ‘ยันต์หลวงพ่อคูณ’ กับความสำเร็จของ ‘ซูพรีม’ ที่ทำให้แบรนด์ฆ่าไม่ตาย

‘Supreme’ X ‘ยันต์หลวงพ่อคูณ’ กับความสำเร็จของ ‘ซูพรีม’ ที่ทำให้แบรนด์ฆ่าไม่ตาย

เมื่อแบรนด์สตรีทอย่าง ‘Supreme’ นำ ‘ยันต์หลวงพ่อคูณ’ มาทำเสื้อผ้าคอลเล็กชั่นล่าสุด ไปดูกันว่าอะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้แบรนด์ 'ซูพรีม' เขย่าวงการแต่งสตรีตคนไทยได้อย่างเปรี้ยง

เมื่อสตรีทแบรนด์ระดับโลกอย่าง Supreme เปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่ S/S 2021 และมีชิ้นเด่นในคอลเล็กชั่นที่ทำให้กลายเป็นประเด็นฮือฮาในไทย นั่นก็คือ เสื้อแจ็คเก็ตลายยันต์ “หลวงพ่อคูณ” ล่าสุดก็ได้เขย่าวงการศาสนา เพราะวัดบ้านไร่ได้ออกมาชี้แจงว่า ไม่ได้มีการขออนุญาตแต่อย่างใด

แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การออกแบบคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าครั้งล่าสุดนี้ น่าสนใจตรงที่ พวกเขาเริ่มฉีกออกจากกรอบเดิมๆ ที่ยึดติดแต่กับลายโลโก้ในกรอบสี่เหลี่ยมหรือที่เรียกว่า “Box Logo” อันเป็นอัตลักษณ์ของแบรนด์มาอย่างช้านาน

และถ้าเพ่งดูดีๆ ก็จะเห็นอีกอย่างคือ การออกแบบตัวอักษร Typography รูปพระพุทธเจ้าที่เราคุ้นตา แต่กลับซ่อนตัวอักษร NY และ SUPREME ไว้แบบเนียนๆ

แล้วนี่ก็ไม่ใช่ครั้งแรกที่แบรนด์สตรีทอย่าง Supreme กล้าเดิน “สายมู” เอาความเชื่อและศาสนามาเป็นต้นทางในการออกแบบ เพราะ 3 ปีที่แล้วพวกเขาเคยวางขายลายเสื้อหนุมาน และพวงกุญแจพระพิฆเนศเขย่าวงการศาสนาพราหมณ์ เมื่อปี 2018 และนับเป็นไอเท็มที่ถูกพูดถึงใน Pop-culture Things มากๆ 

ที่ผ่านมาของความว้าวในแบบ Supreme ไม่ใช่แค่การหยิบจับความแหวก ความขบถ แตะในสิ่งที่คนไม่กล้าแตะ หรือหยิบสิ่งที่คนคิดไม่ถึงว่าจะทำ แต่ Supreme ทำ อาทิ ธูป ไม้ขีดไฟ ถังดับเพลิง ค้อน ที่สูบลมจักรยาน หรือแม้กระทั่ง “อิฐบล็อก” ที่ประทับตรา Supreme ลงไปก็ยังมีขายมาแล้ว 

และก็คงไม่น่าแปลกใจ ถ้าอีกหน่อยเราจะได้เห็น Supreme นำเทคโนโลยี AI มาออกแบบเสื้อผ้าให้ออกมาอย่างว้าวได้แน่นอน

161355881245

ประเด็นที่น่าสนใจจึงไม่ได้อยู่ที่ความแปลก เพราะใจความสำคัญที่น่าจะโฟกัสนั้นน่าจะอยู่ตรง “การออกแบบที่ไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่” ของ Supreme มากกว่า ที่ทำให้พ้นจากความเสี่ยงที่เหล่าสาวกหรือผู้บริโภคเกิดความรู้สึกอิ่มตัวหรือเริ่มเบื่อจนทำให้แบรนด์ตายไป

ประกอบกับอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญของแบรนด์ที่สร้างการรับรู้ที่เกินกว่าแค่ “Awareness” แต่อยู่ในระดับที่ทำให้คนกรูกันแย่งชิงมาครอบครอง นั่นก็คือ “การจำหน่ายสินค้าคอลเล็กชั่นนั้นๆ ในจำนวนจำกัด” โดยเฉพาะการไปคอลแลบกับแบรนด์อื่นๆ จนสร้างความแปลกใหม่ได้ตลอด

เมื่อของรุ่นลิมิเต็ดถูกออกแบบอย่างจำกัดจำนวน ทำให้เห็นคนซื้อสองประเภท ประเภทแรกคือซื้อเพราะอยากได้สินค้าที่ Supreme คอลแล็บจริงๆ แบบแรกยังไม่ชี้ชัดอะไร แต่อีกแบบที่กำลังจะพูดถึงคือ ผู้ซื้อแบบซื้อเพื่อนำไป Resell ขายต่อ ซึ่งในส่วนของกลุ่มหลังนี้ มักจะเก็งกำไรได้สูง 

ถ้าให้นึกถึงคอลเล็กชั่นที่รีเซลโก่งราคากันแรงที่สุดแบบเห็นได้ชัดเจนคือ Supreme x Louis Vuitton เมื่อปี 2560 ที่แม้ขนาดตอนเปิดตัว ที่ประเทศไทยยังทำเอาห้างพารากอนแทบแตก  ขนาดกระเป๋าสตางค์ชายใบเล็กแบบ Wallet ไอเท็มคอลเล็กชั่นนี้ที่ราคาแทบจะเป็นมิตรกับคนซื้อที่สุด ได้วางขายในราคา 29,000 บาท คนยังเอาไปรีเซลต่อกันเกือบถึง 60,000 บาท ดังนั้นแทบไม่ต้องพูดถึงเลยว่า ของที่ราคาแพงที่สุดอย่างกระเป๋าแบ็คแพ็คที่วางขายในราคา 120,000 บาท เมื่อรีเซลแล้วโก่งราคาได้สูงถึง 7 แสนบาทกว่าๆ เลยทีเดียว (731,000 บาท)

อีกซักตัวอย่างนึงชัดๆ คอลเล็กชั่น Supreme x Takashi Murakami เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา ได้ออกเสื้อยืดคอกลมออกมาเพื่อการกุศล  โดยวางขายอยู่ที่ราคาประมาณ 1,900 บาท แต่เมื่อมีคนนำกลับมารีเซล ราคาดันพุ่งแรงสูงถึงประมาณ 4หมื่นบาทปลายๆ (45,000 บาท) ซึ่งถือเป็นการดั๊มป์ราคาที่โหดมาก

ด้วยของที่ผลิตอย่างจำกัด และยิ่งเป็นข้อพิสูจน์ที่ชี้ชัดว่า Supreme สร้างมูลค่าได้มากขนาดไหน จนทำให้คุณค่าของแบรนด์ที่เป็นจุดแข็งที่ฆ่าได้ยาก แถมยังไต่ระดับจากสตรีทแบรนด์ขึ้นเทียบรุ่นเท่ากับแบรนด์ไฮเอนด์ได้เลย

161355881293

หากให้เล่าเท้าความว่า อันที่จริงแล้ว Supreme เริ่มคอลแลบกับแบรนด์ดังและศิลปินดังระดับโลกได้อย่างไร เรื่องมันเริ่มจากที่ James Jebbia ผู้ก่อตั้งแบรนด์เป็นที่โด่งดังมาจากตอนเป็นคดีกับแบรนด์ CALVIN KLEIN เพราะมีคนมือดีเอาสติกเกอร์  Box Logo ไปแปะทับป้ายโฆษณาของเขา และเหตุการณ์นั้นก็ทำให้ซูพรีมถูกพูดถึงมากขึ้น นักออกแบบจึงเริ่มไอเดียแปลกใหม่ ออกแบบลายล้อเลียนแบรนด์สินค้าดังๆ เช่น Coca-cola และ Louis Vuitton จนเกือบโดนแบรนด์เหล่านี้เอาเรื่อง เลยระงับการขายไป แต่เหตุการณ์นี้ก็ได้จุดประกายให้แบรนด์เสื้อผ้า รองเท้า และศิลปินต่างๆ ได้มาร่วมงานกันกับ Supreme นับว่าเป็นไอเดียที่ชาญฉลาด

ความฉลาดของแบรนด์ Supreme ทำให้ตลาดสตรีตแวร์คึกคักอย่างมาก เพราะในระยะ 3-5 ปี อะไรที่ไม่เคยได้เห็นก็ได้เห็น ไม่ว่าจะเป็นการร่วมงานกับ RIMOWA, ROLEX, THE NORTH FACE หรือ NIKE ส่วนศิลปินดังระดับโลกที่เคยร่วมงานกันก็มี KAWS (2001), JEFF KOON (2006), Takashi Murakami (2007) อีกทั้งขนมที่โด่งดังอย่าง Oreo หรือลิปสติก Pat McGrath Labs

Supreme นับได้ว่าเป็นแบรนด์ที่กล้าฉีกกรอบการออกแบบคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าได้ชาญฉลาดมาก ปกติแล้วแบรนด์ทั่วไปถ้ามีจุดขายที่เป็นอัตลักษณ์แล้วจะไม่กล้าออกจากเซฟโซน แต่ซูพรีมกล้าที่จะไม่ยึดติดกับการทำคอลเล็กชั่นด้วยสไตล์ Box Logo แบบยุคแรกๆ

ยิ่งถ้ามองในแง่ธุรกิจ ก็ยิ่งเห็นชัดว่า Supreme ไปได้ไกลแค่ไหน เพราะจากบริษัทสเก็ตบอร์ดเล็กๆ จากนิวยอร์ก สามารถเติบใหญ่กลายเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงถึงกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังจากบรรลุข้อตกลงขายธุรกิจให้กับ “VF Corporation” อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่ในวงการแฟชั่นที่เป็นเจ้าของ Vans, The North Face และ Timberland

161355881210

อ้างอิง: CNBC, Supreme New York, Wrldwde.wordpress, NY Times, Highnobiety