‘คลัง’ แจงแล้ว ทำไม ‘เงินดิจิทัล’ ให้ร้านค้าเบิกเงินสดในรอบแรกไม่ได้?

‘คลัง’ แจงแล้ว ทำไม ‘เงินดิจิทัล’ ให้ร้านค้าเบิกเงินสดในรอบแรกไม่ได้?

"คลัง" เปิดเหตุผลเงื่อนไขใช้ "เงินดิจิทัล" ร้านค้าถอนเงินสดไม่ได้ในรอบแรก หวังลดโอกาสทุจริต เพิ่มผลกระทบเศรษฐกิจแบบทวีคูณ ระบุร้านค้าถอนเงินสดได้ต้องอยู่ในระบบภาษีแวต ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มาตรา 40 (8) หรือภาษีเงินได้นิติบุคคล

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคัง เปิดเผยว่า การตั้งเงื่อนไขการใช้จ่ายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต มีส่วนสำคัญที่แตกต่างจากโครงการอื่น คือการล็อกเงินในระบบในการใข้จ่ายครั้งแรกของประชาชนกับร้านค้า ซึ่งร้านค้าจะไม่สามารถถอนเป็นเงินสดได้ทันที โดยมุ่งหวังประโยชน์ 2 ข้อ คือ

1.การันตีได้ว่าเม็ดเงิน 500,000 ล้านบาท จะลงสู่ระบบเศรษฐกิจทั้งหมด ผ่านร้านค้าขนาดเล็กในระดับอำเภอ (878 อำเภอ)

2.ลดโอกาสและแรงจูงใจของร้านค้าในการแลกเปลี่ยนเป็นเงินสด    

"การล็อกเงินในการใช้จ่ายรอบแรกก็จะเป็นการการันตีว่าตัวทวีคูณทางการคลัง (Multiplier Effect) อย่างน้อยที่สุดจะได้ 1 เท่า รวมทั้งลดโอกาสและแรงจูงใจที่ร้านค้าจะแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดให้ก็จะน้อยลง เพราะร้านค้าเองก็ไม่ได้รับเงินสดทันที"

 

นายลวรณ กล่าวต่อว่า การออกแบบระบบไม่ให้ร้านค้าสามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินสดทันทีเป็นการปิดช่องโหว่ ซึ่งยอมรับว่าอาจไม่จูงใจร้านค้าขนาดเล็ก แต่เสียอย่างก็ต้องแลกกัน โดยโครงการดิจิทัลวอลเล็ตต้องการให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นจะทุจริตง่ายๆ ไม่ได้แล้ว และเงิน 500,000 ล้านบาทก็จะลงไปที่ร้านค้าขนาดเล็กทั้งหมด

ขณะที่ในรอบที่สองเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขเชิงพื้นที่และขนาดร้านค้า โดยร้านค้าที่จะสามารถถอนเป็นเงินสดได้นั้นต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ประกอบด้วย 

1.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT) ผู้มีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี 

2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร 

3.ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) 

"เงื่อนไขร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดได้จะต้องอยู่ในระบบภาษี ซึ่งเปิดกว้างให้ทั้ง 3 รูปแบบข้างต้น จึงเชื่อว่าระบบจะป้องกันการรั่วไหลและมั่นใจว่าจะเกิดผลทวีคูณกับเศรษฐกิจ เบื้องต้นรัฐก็จะได้คืนภาษี 7% จากมูลค่า 5 แสนล้าน" 

นายลวรณ กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาระบบของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต จะต้องมีความฉลาดและมีการตรวจสอบซ้ำ รวมทั้งสามารถบ่งชี้เบาะแสที่ผิดปกติได้ หากมียอดการใช้จ่ายสูงผิดปกติ นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่นด้วย ซึ่งรัฐบาลเองก็มีบทเรียนจากการทำโครงการที่ผ่านมา

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังได้เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายฯ ในการตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบและการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการ ซึ่งมีรองผู้บังคับการตำรวจแห่งชาติ หรือผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานคณะอนุกรรมการ ซึ่งจะรับผิดชอบตรวจสอบ วินิจฉัย การเรียกเงินคืน ร้องทุกข์ กล่าวโทษ การดำเนินคดีกระทำความผิดที่เข้าเงื่อนไขได้ทันที 

"การตั้งคณะอนุกรรมการด้านการตรวจสอบฯ จะทำให้มีการตรวจสอบและรับมือกับการกระทำความผิดต่อเงื่อนไขโครงการ และสามารถดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็ว เพื่ออุดช่องว่างของการดำเนินโครงการ"

ธปท.ห่วงความเสี่ยงทุจริตโครงการ

ทั้งนี้ ความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ตตอนหนึ่งระบุว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบควรกำหนดกลไกลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริต ในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะประเด็นที่ปัญหาพึงคาดหมายได้ตั้งแต่เริ่มแรก เช่น

(1) แนวทางการตรวจสอบรายได้และทรัพย์สินของผู้เข้าร่วมโครงการให้เป็นไปตามคุณสมบัติที่กำหนด

(2) การป้องกันการลงทะเบียนเป็นร้านค้าปลอม

(3) การกำหนดประเภทและขนาดของร้านค้าเพื่อรองรับ เงื่อนไขการใช้จ่าย

(4) ประเภทสินค้าต้องห้ามและมาตรการป้องกันในการห้ามไมให้มีการซื้อสินค้าดังกล่าวที่มีประสิทธิภาพ

(5) การตรวจสอบว่ามีการซื้อขายสินค้าจริง และป้องกันไม่ให้มีการขายลดสิทธิ์ (discount) เป็นต้น

ด้วยเหตุผลและข้อสังเกตข้างต้น ธปท. จึงมีความเห็นว่า การพิจารณากรอบหลักการและรายละเอียดต่าง ๆ ของโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นโครงการที่มีรายละเอียดการดำเนินการซับซ้อน ใช้งบประมาณจำนวนมาก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระการคลังของประเทศในระยะยาว และมีความเสี่ยงต่อการรั่วไหลหรือทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ควรดำเนินการด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง (Due Care) และมีกระบวนการที่ถูกต้องรัดกุม (Due Process) อย่างเต็มที่