ครม. เคาะ ‘3 กลุ่มอาชีพ 13 สาขา’ ปรับค่าจ้างเพิ่ม

ครม. เคาะ ‘3 กลุ่มอาชีพ 13 สาขา’ ปรับค่าจ้างเพิ่ม

กำหนดเพิ่มอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ '3 กลุ่มแรงงาน 13 สาขาอาชีพ' เพื่อให้ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 64 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล แถลงหลังการประชุม ครม. โดยมีมติเห็นชอบเกี่ยวกับการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ สำหรับแรงงานฝีมือ 

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีรับทราบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 10) ลงวันที่ 5 มกราคม 2564 ตามมติคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 โดยให้มีผลบังคับใช้หลังจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วันเป็นต้นไป โดยกลุ่มสาขาอาชีพ ประกอบด้วย

161357146786

1.กลุ่มช่างอุตสาหการ ได้แก่ 

ช่างกลึง ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 460-630 บาท/วัน

ช่างควบคุมเครื่องกลึง CNC ปรับอัตราค่าจ้าง เป็น 470-675 บาท/วัน

ช่างควบคุมเครื่อง Wire Cut ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 480 บาท/วัน

ช่างเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 465-630 บาท/วัน  

2.กลุ่มช่างไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ ได้แก่ 

ช่างไฟฟ้าภายนอกอาคารและช่างโทรคมนาคม (ไมโครเวฟและการสื่อสารดาวเทียม) ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 450 บาท/วัน

ช่างควบคุมด้วยระบบโปรแกรมเมเบิ้ลลอจิกคอนโทรลเลอร์ (Programmable Logic Controller: PLC) ปรับอัตราค่าจ้างเป็นระหว่าง 450 -540 บาท/วัน

ช่างไฟฟ้าสำหรับอุตสาหกรรมการจัดประชุม การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้า (MICE : Meetings Incentives Conventions Exhibitions) ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 440 บาท/วัน

ช่างติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 450 บาท/วัน 

3.กลุ่มช่างเครื่องกล ได้แก่ 

พนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยกไฟฟ้า พนักงานควบคุมเครื่องจักรรถยกใช้เครื่องยนต์ ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 430 บาท/วัน

ช่างตั้งศูนย์และถ่วงล้อรถยนต์ ช่างซ่อมรถจักรยานยนต์ ปรับอัตราค่าจ้างเป็น 415 บาท/วัน

 ทั้งนี้ สาขาอาชีพพนักงานขับรถบรรทุก ได้ชะลอการออกประกาศฯ ไว้ก่อน เพื่อจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาอาชีพพนักงานขับรถบรรทุกให้ครอบคลุมรถบรรทุกทุกประเภทก่อน จึงนำมาพิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือต่อไป

สำหรับการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 3 กลุ่มแรงงาน 13 สาขาอาชีพดังกล่าว เป็นไปตามที่กระทรวงแรงงาน โดยคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 20 ได้ออกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 4 มีนาคม 2563 โดยมีการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ก่อนหน้านี้แล้ว รวม 83 สาขาอาชีพ เพื่อให้ลูกจ้างที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติในแต่ละสาขาอาชีพและแต่ละระดับได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม เป็นธรรม สอดคล้องกับทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ และการจ้างงานในตลาดแรงงาน ประกาศดังกล่าวยังมีผลใช้บังคับในปัจจุบัน (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 เรื่อง การกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ) อีกทั้งจากเดิมที่คณะกรรมการค่าจ้างได้ประกาศ เรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 9) ลงวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2561 กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 308 – 330 บาท โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป ซึ่งมีผลทำให้อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือในบางสาขาอาชีพต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จึงจำเป็นต้องมีการทบทวนอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ