"ศึกนอก - ศึกใน” กัดกร่อน ความมั่นคง “รัฐบาล"

"ศึกนอก - ศึกใน” กัดกร่อน ความมั่นคง “รัฐบาล"

หลังจากนี้ เชื่อว่ารัฐบาลต้องเผชิญกับศึกหลายด้าน ทั้ง "ใน และ นอก" สภาฯ หลังจาก ญัตติตีความแก้รัฐธรรมนูญส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจัยที่เกิด คือ ตัวแปรสำคัญ ที่สั่นคลอนเรือเหล็กของ "รัฐบาลทหาร"

       ความไม่เป็น “มงคล”​ กับการเมืองไทย ตามที่ “บัญญัติ บรรทัดฐาน นักการเมืองอาวุโส ของพรรคประชาธิปัตย์” เตือนไว้ระหว่างการประชุมรัฐสภา วาระพิจารณาญัตติส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัรฐสภา ได้เกิดขึ้นแล้ว

         หลังจากที่รัฐสภา 366 เสียง เห็นควรส่งเรื่องให้ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ตีความ

        แม้ตามเนื้อหาจะขอให้ วินิจฉัย “หน้าที่และอำนาจ” ของสมาชิกรัฐสภา ว่าจะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ได้เพียง แก้รายมาตรา หรือ แก้ทั้งฉบับ ที่ทำผ่านกลไกตัวแทน คือ “สภาร่างรัฐธรรมนูญ” ตามที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ เสียงข้างมากกรรมาธิการฯ รัฐสภา เห็นชอบ

  
         เพราะทันที ญัตติที่ว่านี้ ถูกรับรอง เกิดกระแสความไม่พอใจเกิดขึ้นแบบสอดรับ ไม่เฉพาะฝั่ง “พรรคฝ่ายค้าน” ที่เป็นคู่แค้นในทุนเดิม แต่ยังมี “ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล” ที่มีความรู้สึกถูกหักหลัง

    
          รวมถึง ภาคประชาชน กลุ่มที่ต้องการเห็นการเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยตัวแทนของประชาชน คือ “ส.ส.ร.”

161297055560

      เพราะสิ่งที่พวกเขา ทั้ง 3 กลุ่มต้องการตรงกัน มีเหตุผลหลัก คือ การสร้างกติกาประเทศ ด้วยโดยประชาชน เพื่อประชาชน และขจัดระบบสืบทอดอำนาจ ที่ซ่อนกลไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

         แม้ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล จะไม่แสดงออกแจ่มชัดถึงความไม่พอใจ

        แต่สิ่งนี้ได้กลายเป็น รอยบาดหมาง ที่เป็นนแผลดำฝังใจ ที่เตรียมผันเป็น "ศึกในสภาฯ”

        กับการฝากรอยแผลไว้ครั้งนี้ แน่นอนว่า “พลังประชารัฐ” ที่เป็นพรรคของ รัฐบาลทหาร ฐานะแกนนำรัฐบาล ย่อมรู้ดีแก่ใจ แต่พวกเขาหาได้ใส่ใจ เพราะเมื่อยังมีฐานะเป็นแกนนำรัฐบาล และ มี รองนายกรัฐมนตรี - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และพี่ใหญ่ที่เคารพของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม” ค้ำยันเป็นร่มเงา ทำให้ยังมีความได้เปรียบที่สุดเวลานี้

161297065028

        ส่วนข้อกินแหนงแคลงใจ ที่เกิดขึ้น มุกเดิมที่ พลังประชารัฐ เคยใช้ คือ "ค่อยหาทางจัดการเคลียร์ภายหลัง"

         อย่างไรก็ดี ในประเด็นการขัดขวาง กระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ส่งผลไปถึง การเมืองนอกสภาฯ

          และล่าสุดนั้น “ม็อบคณะราษฎร และแนวร่วม” ปลุกเป็นกระแสเคลื่อนไหวใหญ่อีกครั้ง

           แม้ครั้งก่อน จะปลุกไม่ขึ้น เพราะปฏิบัติการตั้งรับอย่างเหมาะเจาะของ รัฐบาลและรัฐสภาเสียงข้างมาก แต่ครั้งนี้แตกต่าง

        เพราะมีปัจจัย ทั้งเจตนาล้มกระบวนการการแก้รัฐธรรมนูญโดยประชาชน และ ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะผลกระทบจากโควิด-19 รวมถึง สถานการณ์ต้านรัฐบาลทหาร ในประเทศเมียนมา เชื่อว่า กระแสที่ม็อบคณะราษฎร จะใช้เป็นประเด็นโดมิโน่ เขย่า และ กัดกร่อน ความมั่นคงของ “รัฐบาลทหาร” ขณะนี้ได้

        และประจวบเหมาะกับ “ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ” 10รัฐมนตรี กลางเดือนกุมภาพันธ์ นี้ ที่ พรรคฝ่ายค้าน ทั้งคัดและเน้น เรื่องความล้มเหลวของการบริหารราชการแผ่นดิน, เศรษฐกิจที่ย้ำแย่, การแก้ปัญหาโควิด-19 ล่าช้า และผลประโยชน์ทับซ้อน เอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง มานำเสนอ ขยายปมสั่นคลอนเสถียรภาพรัฐบาล

        จึงถือเป็นตัวสร้างน้ำหนัก ให้ "ศึกนอกสภาฯ” เข้มแข็งกว่าแต่ก่อน และเมื่อหันมาดู "คนกันเอง” ในสภาหินอ่อน ที่เชื่อว่าตอนนี้ระแวงว่าจะถูกหักหลังซ้ำอีก ทั้งหมดนี้ ล้วนเพิ่มความน่าจะเป็น "ล่มเรือเหล็ก” ของ “พล.อ.ประยุทธ์” ได้.