"วุฒิสภา"ถกวุ่นปมตั้ง กมธ.สอบประวัติ "กสทช." - "สมเจตน์" ชี้มีระบบไม่ชอบกับส.ว.

"วุฒิสภา"ถกวุ่นปมตั้ง กมธ.สอบประวัติ "กสทช." - "สมเจตน์" ชี้มีระบบไม่ชอบกับส.ว.

วุฒิสภา ใช้เวลา กว่า 2 ชั่วโมงเพื่อพิจารณาตั้งกรรมการสอบประวัติ ผู้เสนอชื่อกสทช. หลัง มีส.ว. ติดใจ กรณีเร่งรัดพิจารณา หวั่นไม่รอบคอบ ถูกสังคมมองว่ามีระบบไม่ชอบเกิดขึ้น ก่อนใช้มติตัดสิน

     ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ซึ่งพิจารณาเรื่องด่วน การตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำหน่งเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามที่คณะกรรมการสรรหา กสทช. นำเสนอรายชื่อบุคคลที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 14 คน ให้วุฒิสภาลงมติเห็นชอบให้เหลือ 7 คน ภายใน 30 วันตามกฎหมายกสทช. นับแต่วันที่วุฒิสภาได้รับบัญชีรายชื่อ
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการพิจารณาเรื่องดังกล่าวใช้เวลานานกว่า 2ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นการพิจารณาตั้งกรรมาธิการสอบประวัติที่นานเมื่อเทียบกับหลายครั้งที่ผ่านมา ส่วนนหนึ่งเป็นเพราะ มีส.ว. ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการที่เกิดขึ้น ทั้งกรอบเวลาทำงานตรวจสอบประวัติฯ  หลังจากที่มีกระแสข่าวว่า วุฒิสภาจะลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่ วันที่ 23 กุมภาพันธ์  ทำให้เวลาทำงานของกรรมาธิการสอบประวัติฯ ต้องเร่งรัด และเกิดปัญหาต่อความเชื่อมั่นของวุฒิสภา
     โดย พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว. อภิปรายตั้งข้อสังเกต ต่อกรณีที่นายนัฑ ผาสุก เลขาธิการวุฒิสภา ฐานะฝ่ายธุรการของคณะกรรมการสรรหาบุคคลให้เป็น กสทช. รีบส่งบัญชีรายชื่อผู้ไดัรับเลือกทั้ง 14 คนมายังประธานวุฒิสภา คือ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ หลังจากที่ได้รับรายชื่อจากกรรมการสรรหา เมื่อ 29 มกราคม ทั้งนี้ตามกฎหมายให้เวลาดำเนินการ 30 วัน ซึ่งการเร่งรีบดังกล่าวทำให้ กรรมาธิการตรวจสอบประวัติต้องเร่งรัดการทำงาน เพื่อให้ทันการปิดสมัยประชุม วันที่ 28 กุมภาพันธ์​นี้ ซึ่งจะกระทบต่อการทำงานที่ไม่รอบคอบ ตามมาตรฐานการทำงานที่ผ่านมา และสังคมไม่ไว้วางใจ  นอกจากนั้นการตั้งกรรมาธิการฯ 15 คนนั้น  ไม่มีโควต้าของกมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค และกมธ. เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่สารและการโทรคมนาคม ของวุฒิสภา ทั้งที่ กสทช.​นั้นเกี่ยวข้องกับงานด้านเทคโนโลยี และสิทธิมนุษยชน
 
     ขณะที่พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายด้วยว่า ตามที่ได้ยินว่า จะเร่งลงมติวันที่ 24 กุมภาพันธ์  ตนตกใจ เพราะการตรวจสอบของกรรมาธิการสอบประวัติ ต้องทำงานที่มากกว่าการสอบประวัติ ความประพฤติ เพราะต้องตรวจสอบความเหมาะสมในการทำหน้าที่ที่ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ดีกฎหมายกสทช. มีความแปลกที่กำหนดให้เลือก กสทช. ภายใน 30 วันและในสมัยประชุมรัฐสภา ดังนั้นมีแนวทางให้เลือก คือ จะพิจารณาให้เสร็จภายในสมัยประชุมปัจจุบันที่จะปิดสมัย 28 กุมภาพันธ์ หรือไปดำเนินการหลังจากการเปิดสมัยประชุมครั้งถัดไป เดือนพฤษภาคม ซึ่งตนเชื่อว่าทำได้
     “แนวทางทั้ง 2 แบบมีผลกระทบแน่นอน เพราะหากเลือกแนวทาง ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทำให้เวลาทำงานของกรรมาธการสอบประวัติ มีเพียง 10 วัน และอาจถูกตั้งประเด็นการตรวจสอบได้ แต่จะแก้ปัญหาการเกียร์ว่างของการทำงานของกสทช. แต่หากใช้แนวทางเลือกสมัยประชุมหน้า จะมีปัญหาเรื่องสูญญากาศการทำงานของกสทช.” พล.อ.ต.เฉลิมชัย อภิปราย
    ทั้งนี้นายพรเพชร ชี้แจงว่า ตนงง กับ กฎหมาย กสทช. ฉบับปัจจุบันและร่างกฎหมายกสทช.​ที่อยู่ระหว่างพิจารณาในวุฒิสภา ว่าด้วยการให้อำนาจ ส.ว. ทำหน้าที่เห็นชอบ และให้เวลา 30 วันไม่มีข้อยกเว้นหรือทางเลือก แต่สัปดาห็ที่ผ่านมา พิจารณารายละเอียดและสอบถามจากเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งระบุว่ากระบวนการตรวจสอบประวัตินั้นกฎหมาย กสทช. ไม่ได้กำหนด แต่การตรวจสอบประวัตินั้นต้องทำตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา ข้อ 105   
161276452133
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายของส.ว. นั้นมีความเห็นด้วยว่าควรทำงานตามกรอบเวลาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา ดำเนินการ และยึดตามกฎหมายที่ใช้บังคับปัจจุบัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ทั้งนี้นายพรเพชร กล่าวสรุปให้ดำเนินการตามกรอบของกฎหมาย คือ การตั้งกรรมาธิการสอบประวัติฯ​ จำนวน 15 คน   และได้ปรับโควต้ากมธ.สอบประวัติ เพื่อเพิ่มกมธ. สัดส่วนของ กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค และกมธ. เทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่สารและการโทรคมนาคม ของวุฒิสภา หลังจากที่ ส.ว.โควต้า คือ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. และนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ส.ว.​ถอนตัว
 
     อย่างไรก็ตามพล.อ.สมเจตน์ กล่าวตั้งข้อสังเกตต่อการตั้งกมธ. ที่ไม่มีชื่อของพล.อ.อู้ด เบื้องบน ส.ว. ด้วยว่า เป็นความผิดปกติ ทั้งนี้ตนไม่เห็นด้วยที่ตั้งบุคคลซ้ำแล้วซ้ำอีก หากคนคิดไม่ชอบมีมูลค่ามหาศาล สิ่งที่ตนยอมรับการทำหน้าที่ของพล.อ.อู้ด  อย่าทำให้เกิดเป็นเครื่องหมายคำถาม ผิดสังเกต ไม่เช่นนั้นส.ว. จะไม่ได้รับความไว้วางใจจากสังคม 
     ทำให้ นายพรเพชร ชี้แจงว่า กมธ.ฯ ปกติ มาโดยการเสนอชื่อ มีบางครั้งกมธ.​ไม่ลงตัว และมีบางครั้งที่พล.อ.อู้ดไม่ได้รับการเสนอชื่อ ประวัติความรรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ที่ได้รับ. 
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการกำหนดกรอบเวลาทำงานของกมธ.ฯ วิปวุฒิสภา เสนอ 15 วัน ทำให้ พล.อ.สมเจตน์ อภิปรายทักท้วง ว่าการเร่งรัดเวลานั้นสะท้อนถึงความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการ แต่ตนไม่ต้องการกล่าวหาใคร และขอให้แก้ไขวันทำงานเป็น 25 วัน ซึ่งยึดตามกรอบเวลาที่เหลืออยู่ของกฎหมาย กสทช. ระบุว่าวุฒิสภาต้องลงมติเลือกภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับบัญชีรายชื่อจากเลขาธิการวุฒิสภา คือ  3 กุมภาพันธ์  
     "วุฒิสภาอย่าทำอะไรสังคมสงสัย ดังนั้นการทำงานต้องตรงไปตรงมาตามกฎหมายไม่มีผิด ผมได้รับข้อมูลมา แต่ไม่อยากกล่าวหากัน ผมยืนยันขอให้ใช้กรอบเวลา 25 วันและเมื่อทำเสร็จแล้วจึงเสนอให้วุฒิสภาพิจารณา และเป็นความรับผิดชอบของกรรมาธิการ โดยการทำงานอย่าให้มีข้อสงสัย หรือทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามกับสังคม ว่าเกิดระบบไม่ชอบในวุฒิสภา” พล.อ.สมเจตน์ อภิปราย
161276452048
      ทั้งนี้มีส.ว. อภิปรายสนับสนุนให้ยึดตามกรอบกฎหมาย คือ 30 วัน อาทิ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ที่อภิปรายเสนอ 30 วันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและคำถามจากสังคม เช่นเดียวกับ พล.อ.ต.เฉลิมชัย  และหากเวลาทำงานไม่แล้วเสร็จทันสมัยประชุม ให้ดำเนินการต่อในสมัยประชุมถัดไป
161276452060
      อย่างไรก็ดี นายพรเพชร ชี้แจงว่าตนดูข้อกฎหมาย และหารือจน ได้กมธ.ที่ดี และวิธีการที่ดี  แต่เมื่อมีการเสนอ ต้องพิจารณากรรมาธิการต้องดำเนินการ ไม่ทราบว่าไทม์ไลน์ เป็นอย่างไร เพราะ 30 วันที่เสนอนั้นไม่เกี่ยวกับการลงมติของวุฒิสภา และหากต้องลงมติภายใน 30 วันด้วยเหตุใดก็ตามสามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้กรอบเวลาที่กำหนดนั้น  หากกมธ. ทำไม่เสร็จ สามารถขอขยายเวลาต่อตนได้ ตามอำนาจ ส่วนกรณีจะลงมติในช่วงการเปิดประชุมสมัยวิสามัญหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของอนาคต ตนไม่ขอพูด  
       ก่อนจะลงจากการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม และให้พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ทำหน้าที่แทน
      ทั้งนี้ในข้อยุติของเวลาทำงานของกรรมธิการสอบประวัตินั้น ต้องใช้การลงมติเพื่อเลือกระหว่าง 15 วันตามที่วิปวุฒิสภาเสนอ หรือ 25 วันตามที่พล.อ.สมเจตน์เสนอ ผลปรากฎว่าเสียงข้างมาก 128 เสียง เห็นชอบกับระยะเวลา 15 วัน ขณะที่ 68 เสียง เห็นตามเวลา 25 วันทั้งนี้มีงดออกเสียง 20 เสียง.