Weekly Oil 1 February 2021

Weekly Oil 1 February 2021

ราคาน้ำมันดิบทรงตัวในระดับสูง ตอบรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ท่ามกลางแรงกดดันความต้องการใช้น้ำมันจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 53-58 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (1-5 ก.พ. 64)

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวต่อเนื่องในระดับสูง หลังคาดว่าสหรัฐฯจะสามารถผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ภายในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนเกี่ยวกับความกังวลด้านอุปทานน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่อาจปรับเพิ่มขึ้นไม่มากนักหลังนายโจ ไบเดนมีแผนระงับใบอนุญาติขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติใหม่ของสหรัฐฯ  ขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ล่าสุดปรับลดลงด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคายังคงได้รับแรงกดดันจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้หลายประเทศยังคงมาตรการล็อคดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ พยายามผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูเศรษฐกิจสหรัฐฯ คาดว่าจะสามารถอนุมัติได้ภายในวันที่ 8 ก.พ. 64 อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจและความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้เร็ว
  • ด้านนโยบายพลังงาน ประธานาธิบดีโจ ไบเดนมีแผนที่จะยกเลิกการสนับสนุบด้านพลังงานฟอสซิสมูลค่า 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ผ่านการอนุมัติของสภาคองเกรสแล้ว และระงับใบอนุญาติขุดเจาะน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติใหม่บนที่ดินรัฐชั่วคราว เพื่อให้สอดคล้องแผนระยะยาวที่ตั้งเป้าจะสงวนพื้นที่ร้อยละ 30 ของที่ดินและแหล่งน้ำของรัฐเพื่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มปริมาณการผลิตพลังงานจากพลังงานลมเป็นเท่าตัวภายในปี 73 ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำมันสหรัฐฯ ในระยะยาว
  • ผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) เมื่อวันที่ 27 ม.ค. 64 ที่ผ่านมา มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ระดับต่ำใกล้ร้อยละ 0 เช่นเดิม และคงปริมาณ QE ต่อเดือนไว้ที่ระดับ 120 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จนกว่าเศรษฐกิจจะมีการฟื้นตัวจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย และสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย
  • สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ สำหรับสัปดาห์นี้โดยสิ้นสุด ณ วันที่ 22 .. 64 มีการปรับลดลง 9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 476.7 ล้านบาร์เรล นับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 ซึ่งสวนทางกับนักวิเคราะห์ที่คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่ม 0.43 ล้านบาร์เรล โดยการปรับลดดังกล่าวเนื่องจากปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบสหรัฐฯปรับลดลง 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ตลาดกังวลจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในประเทศจีน ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่รุนแรง นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 63 โดยรัฐบาลจีนออกมาตรการหลายอย่างเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด อาทิเช่น มาตรล็อคดาวน์ในบางพื้นที่ และขอให้ประชาชนงดการเดินทางในช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมถึงการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก นอกจากนั้น ฮ่องกงและฝรั่งเศสเองก็ยังมีการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด โดยบังคับใช้มาตรการล็อคดาวน์
  • บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์ รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์ สิ้นสุด ณ วันที่ 22 ม.ค. 64 ปรับเพิ่มขึ้น 5 แท่น ไปอยู่ที่ระดับ 378 แท่น ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น 9 สัปดาห์ติดต่อกัน และเป็นระดับที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 63 หลังราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง
  • ปริมาณส่งออกน้ำมันดิบของเวเนซุเอล่าเพิ่มสูงขึ้น โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังเวเนซุเอล่าปรับลดลง 85 ล้านบาร์เรล ซึ่งสัปดาห์นี้สิ้นสุด ณ 25 ม.ค. 64 จากระดับ 9 ล้านบาร์เรล ณ วันที่ 21 ธ.ค. 63 เช่นเดียวกันกับอิหร่านที่ส่งออกน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังคาดหวังจะได้รับการยกเลิกมาตรคว่ำบาตรจากรัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน
  • ธนาคารบาร์เคลย์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปี 64 ที่ระดับ 55 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลและราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสที่ระดับ 52 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยบาร์เคลย์ประเมินว่าความต้องการใช้น้ำมันในช่วงครึ่งปีแรกจะถูกกดดันจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังรุนแรงโดยเฉพาะในประเทศจีน แต่จะค่อยๆ ฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 64 ขณะที่ด้านอุปทานยังได้รับแรงสนับสนุนจากการลดกำลังการผลิตของซาอุดิอาระเบีย อย่างไรก็ตาม คาดว่ากลุ่มโอเปคพลัสจะเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงไตรมาส 2 ราว 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และช่วงครึ่งหลังของปี 64 อีกราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • เศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตของยูโรโซน สหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ เดือน ม.ค. 64 จีดีพีของกลุ่มยูโรโซนไตรมาส 4/63 และรายงานนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (25-29 ม.ค. 64)  

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.07 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 52.20 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 0.47 ดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 55.88 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 54.75  ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังตลาดคาดหวังการฟื้นตัวของความต้องการใช้น้ำมัน ซึ่งได้รับแรงหนุนจากตัวเลขผู้ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 80 ล้านโดสใน 59 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่คาดว่าจะมีการผ่านสภาคองเกรสในเร็วนี้ อย่างไรก็ตาม ราคาได้รับแรงกดดันจากความกังวลต่อความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังหลายประเทศเริ่มมีการบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19