อาร์เอส ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจใหม่ เสริมอาณาจักรเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ 

อาร์เอส ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจใหม่  เสริมอาณาจักรเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ 

กางแผนธุรกิจ “อาร์เอส” ปี 64 เดินหน้าปั้นธุรกิจแห่งอนาคตหรือ New S-Curve กำเงิน 600-1,200 ล้านบาท ซื้อกิจการ ร่วมทุน เปิดเกมบุกตลาดฟังก์ชันนอลดริ้งค์ รับเทรนด์สุขภาพ ซีนเนอร์ยี “เชฎฐ์” เสริมทัพอีโคซิสเทมเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนการดำเนินธุรกิจปี 2564 บริษัทให้น้ำหนักในการหาธุรกิจใหม่หรือ New S-Curve สร้างการเติบโตในอนาคตรอบทิศภายใต้ยุทธศาสตร์เอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ โดยมี 4 กลยุทธ์ ต่อยอดจุดแข็ง ประกอบด้วย 1.การต่อยอดจุดแข็งของบริษัท โดยอาร์เอสมอลล์ จะสร้างฐานลูกค้าใหม่เพิ่ม 30% กระตุ้นการซื้อสินค้าและบริการซ้ำเพิ่ม 2.4 ครั้งจาก 2 ครั้ง และบุกตลาดออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มดึงลูกค้าเติบโต 150% ต่อเดือน

2.การก้าวสู่ตลาดใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน ประเดิมบุกตลาดเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอลรับเทรนด์ผู้บริโครุกสุขภาพ และตลาดดังกล่าวมีขนาดใหญ่ 9 เดือนปี 2563 มีมูลค่า 9,100 ล้านบาท เติบโต 14% โดยสินค้าใหม่ ไลฟ์สตาร์ จะเป็นผู้ผลิตสินค้า 3 รายการ เปิดตัวสู่ตลาดเดือนเมษายน มิถุนายนและกันยายน เน้นจำหน่ายผ่านเซเว่นอีเลฟเว่น 50% ร้านค้าทั่วไป 23% ร้านสะดวกซื้ออื่นๆ 17% และอีคอมเมิร์ซ 10%

161169030818

ส่วนสินค้าเพื่อสุขภาพตลาดมูลค่า 23,900 ล้านบาท เติบโต 15% บริษัทจะสร้างช่องทางเอ็กซ์คลูสีพ(Exclusive Distribution Network:EDN)เพื่อจำหน่ายสินค้าถึง 90% ที่เหลือ 10% ขายผ่านอีคอมเมิร์ซ และบุกหนักตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงมูลค่า 16,000 ล้านบาท เติบโต 9% แผนดังกล่าวจะทำให้ไลฟ์สตาร์มีสัดส่วนการผลิตเครื่องดื่มฟังก์ชั่นนอล 40% สินค้านวัตกรรมเพื่อสุขภาพ 40% และอาหารสัตว์ 20%

3.ธุรกิจสื่อและบันเทิง จะใช้คอนเทนท์เป็นอาวุธสำคัญบุกตลาด โดยช่อง 8 ยังเน้นขายสินค้าสร้างรายได้หลัก 40% บริหารลิขสิทธิ์คอนเทนท์ เสิร์ฟเนื้อหาเจาะแพลตฟอร์มออนไลน์ 20% โฆษณา 30% อีเวนท์ 10% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ปรับลดลง หลังจากเผชิญโควิดระลอกใหม่ วิทยุจะรักษาแชมป์คลื่นเพลงไทยที่คนฟูงสูงสุดอย่างคูลฟาเรนไฮต์และแปลงฐานผู้ฟังเป็นผู้ซื้อสินค้า ธุรกิจเพลงจะปั้นศิลปินออกเพลงใหม่ 80 เพลง เตรียมจัดอีเวนท์ คอนเสิร์ตเจาะแฟนคลับอาร์เอส

“แผนทั้งหมดเป็นการปรับตัวหลังเกิดโรคโควิดระบาดระลอกใหม่ และกลยุทธ์เหล่านี้เป็นการต่อยอดกระแสโตมากับอาร์เอส ซึ่งเป็นฐานผู้บริโภคของเราที่มีกำลังซื้อสูงสุดในตอนนี้”

นอกจากนี้ บริษัทยังให้ความสำคัญกับการซื้อและควบรวมกิจการ(M&A) การร่วมทุนกับพันธมิตรในธุรกิจใหม่ต่อยอดโมเดลเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซ เสริมศักยภาพให้อีโคซิสเทมของอาร์เอสขยายตัวไม่มีสิ้นสุดด้วย

นายวิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้เจรจาซื้อกิจการและร่วมทุนกับพันธมิตรอีก 1-2 ราย เพื่อเสริมแกร่งธุรกิจ โดยแต่ละดีลมีมูลค่าการลงทุนราว 300-600 ล้านบาท หรือรวม 600-1,200 ล้านบาท และคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในครึ่งปีแรก

“เรามองหาพาร์ทเนอร์มาต่อยอดอีโคซิสเทม และโมเดลธุรกิจอาร์เอส ทุกดีลจะสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และเป้าหมายการรุกธุรกิจใหม่จะสร้างกำไรให้บริษัทราว 20-30%”

161169034396

ส่วนการเข้าซื้อหุ้นในบริษัท เชฎฐ์ เอเชียสัดส่วน 35% หรือมูลค่าการลงทุน 920 ล้านบาท เพื่อขยายเข้าสู่ธุรกิจบริหารสินทรัพย์-สินเชื่อรายย่อย เนื่องจากมองเห็นโอกาสเติบโต และธุรกิจดังกล่าว โดยเฉพาะบริหารสินเชื่อรายย่อยสร้างผลตอบแทนที่ดี อีกทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ผลกระทบจากโควิด-19 คาดว่าจะทำให้หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ขยายตัว เป็นโอกาสของผู้ประกอบการ

“คาดการณ์หนี้เอ็นพีแอลจะมีปริมาณมากขึ้นราว 5-6 แสนล้านบาท ซัพพลายออกมาจำนวนมาก เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการมหาศาลเกินกว่าที่จะดูดซับได้”

นอกจากนี้ จะเห็นการซีนเนอร์ยีกับเชฎฐ์ในการสร้างโปรดักท์ทางการเงิน ตอบสนองผู้บริโภค เช่น การผ่อนชำระสินค้าและบริการ เพิ่มโอกาสและมูลค่าการซื้อสินค้าต่อบิลให้สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปี 2564 บริษัทตั้งเป้ารายได้ 5,700 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 12-14%