‘ต่างชาติ’ กินรวบอีคอมเมิร์ซไทย แนะ ‘ผู้ค้า' ในประเทศเร่งปรับตัว

‘ต่างชาติ’ กินรวบอีคอมเมิร์ซไทย แนะ ‘ผู้ค้า' ในประเทศเร่งปรับตัว

เผยเทรนด์อีคอมเมิร์ซไทยปีนี้ “แข่งเดือด” จับตาต่างชาติโดยเฉพาะ “จีน” เผยผลสำรวจล่าสุด ร้านค้าต่างชาติ กินส่วนแบ่งตลาดไทยกว่า 63% ขณะที่ เทรนด์เด่นอีคอมเมิร์ซปีนี้ เร่งทรานส์ฟอร์มรวบทุกบริการไว้ทีเดียวตั้งแต่ ขนส่ง การเงิน โฆษณา

ไพรซ์ซ่า เผยเทรนด์อีคอมเมิร์ซไทยปีนี้ “แข่งเดือด” จับตาต่างชาติโดยเฉพาะ “จีน” เผยผลสำรวจล่าสุด ร้านค้าต่างชาติ กินส่วนแบ่งตลาดไทยกว่า 63% ขณะที่ เทรนด์เด่นอีคอมเมิร์ซปีนี้ เร่งทรานส์ฟอร์มรวบทุกบริการไว้ทีเดียวตั้งแต่ ขนส่ง การเงิน โฆษณา ส่วน "อินฟลูเอนเซอร์" ไลฟ์สดมาแรงดันยอดขายเพิ่ม ด้าน “กูรูค้าออนไลน์” เผย 3 แพลตฟอร์ม ช้อปปี้ ลาซาด้า เจดีเซ็นทรัล กินรวบค้าออนไลน์ไทย 

“อีคอมเมิร์ซ” เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ยังเดินหน้าต่อได้ท่ามกลางอีกหลายธุรกิจที่ซวนเซจากพิษโควิด-19 ทั้งยังถูกคาดหมายว่าจะเป็นช่องทางสำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะเป็นช่องทางหารายได้ของผู้ค้ายุคใหม่  เพียงแต่ในรอบปีที่ผ่านมาเม็ดเงินที่สะพัดหลายแสนล้านบาทในธุรกิจนี้ตกอยู่ในกำมือของต่างชาติมากกว่าคนไทย ปีนี้ก็คาดว่า คงเป็นเช่นเดิม แต่สิ่งที่น่าจับตาปีนี้ คือ การทรานส์ฟอร์มของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่จะดึงรวบทุกบริการตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำไว้บนแพลตฟอร์มเดียว

เปิด 5 เทรนด์เด่นเขย่าค้าออนไลน์ 

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด และนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย หรืออีคอมเมิร์ซ กล่าวถึง 5 เทรนด์ที่น่าจับตาของอีคอมเมิร์ซไทยปีนี้  ได้แก่ เทรนด์ที่ 1 E-commerce Boom creates high competition คาดการณ์มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซช่วงสถานการณ์โควิด19 ของตลาด บีทูซี (B 2 C) และซีทูซี ( C 2 C) คาดจะเติบโตขึ้น 81% จาก 163,300 ล้านบาท เป็น 294,000 ล้านบาทในปี 2563 ซึ่งจากข้อมูล พบว่า เมื่อปี 2563 จำนวนสินค้าใน 3 แพลตฟอร์ม ลาซาด้า ช้อปปี้ และ เจดี เซ็นทรัล มีจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นกว่า 32% และเมื่อดูผู้ขายจะพบว่า จำนวนพ่อค้าแม่ค้าในประเทศไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงถึง 50% ด้วยกัน 

สิ่งนี้ ชี้ให้เห็นถึงการปรับตัว และเข้ามาแข่งขันในตลาดออนไลน์มากขึ้น แม้ว่าจำนวนของพ่อค้าแม่ค้าในไทยจะมีเพิ่ม แต่เมื่อเจาะลึกลงไปกลับพบว่า ส่วนแบ่งตลาดของจำนวนสินค้าในไทยยังคงเป็นสินค้าจากต่างชาติที่ครองส่วนแบ่งกว่า 63% เลยทีเดียว

“นี่เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ค้าชาวไทยต้องเร่งพัฒนาสินค้า เพราะการแข่งขันด้วยราคาไม่อาจสู้สินค้าจากประเทศจีนได้อย่างแน่นอน” นายธนาวัฒน์ กล่าว 

เทรนด์ที่ 2 Direct to Consumer หลายแบรนด์ จะหันมาสร้างช่องทางขายสินค้าโดยตรงสู่ผู้บริโภค โดยไม่ผ่านช่องทางกระจายสินค้าเช่นเดิม จากข้อมูล พบว่า จำนวนร้านค้า แบรนด์ ออฟฟิเชียล ช็อป ในช้อปปี้ มอลล์ และลาซ มอลล์ มีจำนวนร้านค้าเพิ่มขึ้นกว่า 46% ชี้ให้เห็นถึงแบรนด์ที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้า ตลอดจนลูกค้าก็มีความรู้สึกมั่นใจได้ว่าการได้ซื้อสินค้าโดยตรงกับแบรนด์จะได้รับสินค้าที่ถูกต้อง ของแท้แน่นอน

เทรนด์ที่ 3 From search base shopping to Discovery-base Shopping เทคโนโลยีปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องค้นหาสินค้าอีกต่อไป แต่สินค้าเรียนรู้จากสิ่งที่เราสนใจ และค้นหาจนโผล่มาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ข้อมูล ระบุว่า 53% ของออนไลน์ชอปปิงมาจากสินค้าเรียนรู้และค้นหาสิ่งที่ผู้คนสนใจ และอีก 35% มาจากคนเสิร์ชหาข้อมูลสินค้าเอง

“KOL-คอนเวอร์เจนซ์แพลตฟอร์ม”แรง

เทรนด์ที่ 4 Influencer Commerce น่าจับตามากในส่วนของ KOL หรือ Key Opinion Leader ที่ได้รับความนิยมพุ่งสูง เห็นจากกรณีศึกษาของจีนที่แบรนด์สินค้านิยมจ้างดารา นักแสดง หรือผู้ที่มีชื่อเสียงมาโปรโมทสินค้าไม่ว่าจะเป็นผ่านไลฟ์สด หรือ บนโซเชียลมีเดียโพสต์ต่างๆ ซึ่งได้สร้างยอดขายถล่มทลายให้กับแบรนด์สินค้า เป็นอีกหนึ่งรูปแบบโซเชียล มาร์เก็ตติ้ง ที่น่าจับตามองในปี 2564 นี้

เทรนด์ที่ 5 Convergence of Platform การขยายตัวของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในไทยจะกินรวบตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จากจุดเริ่มต้นของแพลตฟอร์มที่เน้นให้บริการเดียว ได้ขยายตัวให้บริการในด้านอื่นๆกันมากขึ้น ตั้งแต่ สื่อ โฆษณา อีคอมเมิร์ซ ธนาคาร ไปจนถึงระบบขนส่ง

"ทั้ง 5 เทรนด์ นี้เป็นที่น่าจับตามองของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทั้งการแข่งขันกันของแต่ละแพลตฟอร์ม รูปแบบการทำการตลาด ตลอดจนการแข่งขันของสินค้าจีนที่ผู้ประกอบการไทยต้องเร่งหาวิธีพัฒนา สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับแบรนด์ตัวเองเพื่อต่อสู้ในสงครามอีคอมเมิร์ซกันต่อไปในอนาคต" 

โตได้ไม่สุด เหตุปัจจัยด้านศก.

นายธนาวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ภาพรวม อีคอมเมิร์ซปีนี้ยังเป็นปีที่ท้าทาย แม้โควิด-19 จะเป็นปัจจัยบวกดันให้ภาพรวมเติบโต แต่สภาพเศรษฐกิจอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยฉุดให้อีคอมเมิร์ซโตได้ไม่สุด เมื่อยอดสั่งซื้อโดยเฉลี่ยมีอัตราที่ลดลง

ขณะที่ เขามองว่า ปีนี้ อี-มาร์เก็ตเพลสจะเติบโต และจะเริ่มให้แบรนด์ต่างๆ ที่อยู่บนอีมาร์เก็ตเพลสออกค่าโฆษณาเอง ทำให้อีมาร์เก็ตเพลสลดค่าใช้จ่าย ลดการขาดทุนลง นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของโซเชียลมีเดีย ยักษ์ใหญ่อย่าง “เฟซบุ๊ค” ที่คาดว่าจะเปิดตัว เฟซบุ๊ค ช็อป ในไทยให้ผู้ขายไทยลงโฆษณาในเฟซบุ๊คและปิดการขายได้เลย

บริการออนไลน์โต 100%

ขณะที่ นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้งตลาดดอทคอม กล่าวเสริมว่า ถ้าโควิด-19 ยังไม่จบจะส่งผลให้บริการออนไลน์ต่างๆ รวมถึงอีคอมเมิร์ซในประเทศเติบโตสูง ประกอบกับช่วงปีทีผ่านมา ฟู้ดดิลิเวอรี่ได้รับความนิยมมาก ขนส่งโลจิสติกส์มีความพร้อม ดังนั้นเชื่อว่า โควิดจะเป็นปัจจัยหนุนให้บริการออนไลน์โต 100% 

ส่วนอีมาร์เก็ตเพลส และโซเชียลคอมเมิร์ซ จะเติบโต โดยเฉพาะอีมาร์เก็ตเพลสจะแข่งกันรุนแรง ด้วยรายใหญ่ที่ทุนหนาและอัดโปรโมชั่น รวมถึงแบรนด์จะลงมาเล่นในตลาดนี้เองทำให้มีความคึกคักอย่างมาก

"ปีนี้จะตอกย้ำว่า ออนไลน์คือช่องทางหลักของคนไทยในการซื้อสินค้าในหลายกลุ่มสินค้า อานิสงส์จากโครงการของรัฐมากมายกระตุ้นให้คนไทยกระโดดเข้าสู่ออนไลน์เพิ่มขึ้น"

กลุ่ม JSL คุมตลาดเบ็ดเสร็จ

นายภาวุธ กล่าวย้ำว่า กลุ่ม เจดีเซ็นทรัล ช้อปปี้ และลาซาด้า (JSL) จะมีบทบาทสำคัญต่ออีคอมเมิร์ซไทยมาก จะคุมตลาดค้าปลีกออนไลน์หลายกลุ่มสินค้าแบบเบ็ดเสร็จ และจะคุมกำลังซื้อคนไทยช่วงวัน Double Day ได้ เช่น 11.11, 12.12 เม็ดเงินที่เคยสะพัดในท้องถิ่นจะถูกดึงเข้าโลกออนไลน์ ร้านค้าชุมชนจะได้รับผลกระทบ เพราะคนในชุมชนจะมาซื้อออนไลน์มากกว่าซื้อร้านใกล้บ้านด้วยราคาถูกกว่า และตัวเลือกมากกว่า

ส่วนการแข่งขันของบริษัทขนส่ง จะกระตุ้นให้ค้าออนไลน์โตก้าวกระโดด ทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันการขนส่งแบบดุเดือด ราคาค่าส่งสินค้าจะถูกลง แต่ส่งได้เร็วขึ้น การชำระเงินที่ง่าย ช่วยปิดการขายได้เร็ว ขณะที่ โรงงานผลิตสินค้า และแบรนด์ จะรุกขายตรงสู่ผู้บริโภคผ่านทางออนไลน์ เรียกว่าข้ามหัวค้าปลีกแบบเดิมๆ