เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘ทรงตัว’ที่ 29.99บาทต่อดอลลาร์

เงินบาท’วันนี้เปิดตลาด ‘ทรงตัว’ที่ 29.99บาทต่อดอลลาร์

ตลาดเงินปิดรับความเสี่ยง เงินบาทระบะสั้นเคลื่อนไหวกรอบแคบ ตลาดอยู่ในโหมดระวังตัวในช่วงใกล้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 29.99 บาทต่อดอลลาร์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อน ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.90-30.10 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดหุ้นฝั่งตะวันตกปิดรับความเสี่ยง (Risk Off) นช่วงคืนที่ผ่านมา นำโดยดัชนี S&P 500 ของสหรัฐที่ปิดลบ 0.17% และดัชนี STOXX 600 ของยุโรปที่ปรับตัวลง 0.80% นักลงทุนส่วนมากกำลังจับตาไปที่เงื่อนไขเรื่องระยะเวลาของการผ่านนโยบายการคลังในสหรัฐ และเลือกที่จะขายทำกำไรการลงทุนที่เคลื่อนไหวไปพร้อมตลาด (High beta) และกลับเข้าลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่การลงทุนที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากวัคซีนในระยะถัดไป

เช่นเดียวกันกับในฝั่งสินทรัพย์ปลอดภัย บอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปี ย่อตัวกลับ 5bps มาที่ระดับ 1.03% หลังตลาดมองว่าข้อตกลงเรื่องนโยบายการคลังอาจถูกเลื่อนไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม ซึ่งเป็นช่วงที่นโยบายช่วยเหลือผู้ว่างงานในสหรัฐจะหมดอายุลง ภาพดังกล่าวหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าราว 0.2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยสกุลเงินในฝั่งยุโรปอ่อนค่าลงจากความกังวลว่าจะมีมาตรการล็อคดาวน์ที่เข้มงวดขึ้นในหลายประเทศ

ส่วนทางเงินบาทระยะสั้นเคลื่อนไหวในกรอบแคบโดยมีแรงขายหุ้นและบอนด์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติประปราย แต่ก็มีแรงซื้อเงินบาทกลับจากผู้ส่งออกเพราะหลากหลายอุตสาหกรรมฟื้นตัว อย่างไรก็ดีในวันนี้เชื่อว่าตลาดจะอยู่ในโหมดระวังตัวเนื่องจากเป็นช่วงใกล้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.95-30.05 บาทต่อดอลลาร์

ความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 และความไม่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่จากสหรัฐฯ ส่งผลให้ ตลาดเริ่มลดสถานะ "Reflation trades" (ซื้อสินทรัพย์ cyclical และสินทรัพย์ในฝั่ง EM, ขายพันธบัตรระยะยาว) และกลับมาเพิ่มสถานะ "COVID-19 trades" (เน้นสินทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหา COVID-19 น้อยรวมถึง สินทรัพย์ปลอดภัย อย่าง บอนด์และเงินดอลลาร์)

ส่งผลให้ ตลาดการเงินยังคงเผชิญความผันผวน โดย ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นขนาดเล็ก Russell 2000  ย่อตัวลง 0.3%  ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ NASDAQ ปรับตัวขึ้นราว 0.7%หลังตลาดรอลุ้นผลประกอบการที่เติบโตต่อเนื่องจากหุ้นเทคฯขนาดใกญ่ อาทิ Apple, Microsoft, Facebook และ Tesla ขณะที่ ในฝั่งยุโรป ตลาดโดยรวมปิดรับความเสี่ยง กดดันให้ ดัชนีstoxx50 ปิดลบ 1.4% หลังดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนี (Ifo business climate) เดือนมกราคม ออกมาแย่กว่าคาดไปมาก

นอกจากนี้ ท่าทีระมัดระวังของผู้เล่น หนุนความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ลดลงกว่า5.6bps แตะระดับ 1.03% ส่วนเงินดอลลาร์ก็แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดย ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้น 0.14% สู่ระดับ 90.37 จุด  ส่วนเงินยูโร อ่อนค่าลง 0.3% สู่ระดับ 1.214 ดอลลาร์ต่อยูโร

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตาม รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะในฝั่งสหรัฐฯที่สัปดาห์นี้จะมีบริษัทจดทะเบียนกว่า 280 บริษัทรายงานผลประกอบการ ซึ่งตลาดคาดว่า ผลประกอบการของหุ้นกลุ่มเทคฯ อาจจะ มีแนวโน้มดีขึ้น

นอกจากนี้ ตลาดจะรอลุ้นรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโดย IMF (World Economic Outlook) ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าIMF อาจปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเล็กน้อยเหลือ 5.2% จาก ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่ยังคงทวีความรุนแรงต่อเนื่องและเริ่มมีการกลายพันธุ์

เรามองว่า เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบ Sideways ในระยะสั้น โดยในกรณีที่ ตลาดปิดรับความเสี่ยงจากความผิดหวัง ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ความล่าช้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือสถานการณ์การระบาดCOVID-19 ที่รุนแรงขึ้นตลาดก็จะกลับมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น หนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าได้

กลับกันเงินดอลลาร์ก็พร้อมอ่อนค่าลง หากตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น จากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากของเฟด หรือ ภาพรวมเศรษฐกิจที่ไม่ได้แย่ลงไปมาก

ส่วนในฝั่งเงินบาท  ยังคงมีทิศทางเคลื่อนไหวตามเงินดอลลาร์และฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ขณะที่ต้องระวังแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าในช่วงปลายเดือน โดยผู้นำเข้าส่วนมากรอเข้าซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 29.90-29.95 บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทจะยังไม่แข็งค่าไปมากในระยะสั้น ส่วนผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับ 30.10บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ +/- 10 สตางค์ จนกว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเงินดอลลาร์หรือฟันด์โฟลว์ชัดเจน