'เจ้าท่า' ปลุกเดินเรือเฟอร์รี่ เชื่อมเส้นทางจุกเสม็ด-สงขลา

'เจ้าท่า' ปลุกเดินเรือเฟอร์รี่ เชื่อมเส้นทางจุกเสม็ด-สงขลา

“กรมเจ้าท่า” เร่งตรวจความปลอดภัย หนุนเอกชนเปิดเดินเรือเฟอร์รี่เชื่อมทะเลใต้และอีอีซีสายแรกของไทย เส้นทางสัตหีบ – สงขลา คาดให้บริการไตรมาส1 เชื่อหนุนการท่องเที่ยวและขนส่งสินค้า ชี้หากปริมาณผู้โดยสารถึง 60% ลุยลงทุนลำที่ 2

รัฐบาลและกองทัพเรือกำลังเร่งพัฒนาท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ หรือท่าเรือจุกเสม็ด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้ท่าเรือแห่งนี้เป็นโครงข่ายการขนส่งขนาดใหญ่ในภาคตะวันออก เชื่อมโยงกับสนามบินอู่ตะเภา และรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการเดินเรือ เช่น เรือเฟอร์รี่ เรือสำราญขนาดใหญ่

วิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีความพร้อมของการเปิดให้บริการเดินเรือเฟอร์รี่เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทยภาตใต้ และภาคตะวันออก โดยได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบความพร้อม และความปลอดภัยในการเปิดให้บริการเดินเรือเฟอร์รี่ (บรรทุกรถยนต์และคนโดยสาร) ของ บริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด ซึ่งจะเปิดเดินเรือในเส้นทางจังหวัดชลบุรี-สงขลา ระหว่างท่าเรือจุกเสม็ด (สัตหีบ)–ท่าเรือเซาท์เทิร์น (สงขลา)

การเดินเรือในเส้นทางนี้ เอกชนได้รับสัมปทานเดินเรือจากทางสัตหีบมา จึงมาขอเดินเรือเชื่อมจากสัตหีบไปยังท่าเรือของเอกชนเอง คือที่ท่าเรือเซาท์เทิรน์ จังหวัดสงขลา ซึ่งถือเป็นการเปิดเดินเรือเชื่อมโยงชายฝั่งทะเลทางภาคตะวันออก และภาคใต้ เส้นทางยาวที่สุดเส้นแรกของไทย เพราะปัจจุบันจะมีเดินเรือไปไกลสุดในช่วง จ.สุราษฎร์ธานี” 

  161129558241

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมากรมเจ้าท่าได้พยายามผลักดันการเดินเรือในเส้นทางเชื่อมโยงฝั่งทะเลตะวันออก และภาคใต้มาอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นความต้องการเดินทางท่องเที่ยวและขนส่งสินค้าทางเรือที่มีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยที่ผ่านมาได้ผลักดันเส้นทางเดินเรือเชื่อมท่าเรือสัตหีบ–บางสะพาน (ประจวบคีรีขันธ์) แต่ยังติดปัญหาทางถนนเชื่อมต่อท่าเรือประจวบฯ ทำให้เอกชนยังไม่สามารถเดินเรือเส้นทางนี้ได้

ทั้งนี้ เอกชนรายนี้เดิมจะเปิดเดินเรือในเส้นทาท่าเรือสัตหีบ-บางสะพาน แต่เนื่องด้วยยังติดปัญหาทางถนน จึงปรับแผนมาเปิดเดินเรือในเส้นทางท่าเรือสัตหีบ–สงขลา เป็นเส้นทางแรกก่อน เนื่องจจากเล็งเห็นถึงความต้องการเดินทางและขนส่งสินค้าที่มีสูง หลังจากนั้น หากปัญหาทางถนนแก้ไขแล้วเสร็จ ก็ทราบว่าเอกชนจะเปิดเดินเรือเพิ่มเติมในเส้นทางท่าเรือสัตหีบ - บางสะพานด้วย

สำหรับกรมเจ้าท่า ได้เข้ามาช่วยเหลือเอกชนในเรื่องของการเตรียมความพร้อมและแผนความปลอดภัย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการใกล้แล้วเสร็จ ตามแผนเดินของทางเอกชนคาดว่าจะเปิดให้บริการเดินเรือภายในต้นเดือน ก.พ.นี้ โดยกรมเจ้าท่าเล็งเห็นว่าควรดำเนินการด้านความปลอดภัยให้เป็นไปตามระเบียบของกรมเจ้าท่า หากแผนความปลอดภัยแล้วเสร็จจึงจะเปิดให้บริการได้ทันที คาดว่าการตรวจความปลอดภัย จะแล้วเสร็จและอนุญาตให้เอกชนเดินเรือได้ภายในไตรมาส 1 ปีนี้

เรื่องมาตรการเว้นระยะห่าง หรือแผนป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ขณะนี้ทางเอกชนดำเนินการพร้อมแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าเอกชนจะไม่รอจนกว่าโควิด-19 จะคลี่คลาย เพราะทางเรือมีมาตรการรองรับ และป้องกันอย่างดี อีกทั้งการเปิดเดินเรือนี้ก็จะสนับสนุนการขนส่งสินค้า เมื่อโควิด-19 คลี่คลายลงก็จะส่งเสริมการท่องเที่ยวสองฝั่งทะเลเพิ่มขึ้นด้วย”

สำหรับแผนเปิดให้บริการของเรือเฟอร์รี่นี้ เอกชนได้จัดเวลาเดินเรือวันละ 1 เที่ยว แบ่งเป็น ออกจากท่าเรือจุกเสม็ด (สัตหีบ) ในเวลา 14.00 น. ถึงท่าเรือเซอท์เทิร์น (สงขลา) ในเวลา 10.00 น.ของวันถัดไป และเดินเรืออีกครั้งจากท่าเรือเซอท์เทิร์น (สงขลา) ในเวลาออก 14.00 น. ถึงท่าเรือจุกเสม็ด (สัตหีบ) ในเวลา 10.00 น. ของวันถัดไป โดยภายในเรือมีขีดความสามารถรองรับปริมาณผู้โดยสาร 500 – 600 คน รองรับรถเทรลเลอร์ขนส่งสินค้า 80 คัน และรถเก๋ง 20 คัน

นอกจากนี้ เอกชนมีแผนเพิ่มขีดความสามารถโดยหลังการเปิดบริการเดินเรือเฟอร์รี่ลำแรก หากมีปริมาณผู้โดยสารสูงถึง 60% มีแผนจะลงทุนเรือเฟอร์รี่เพิ่มอีก 1 ลำ ซึ่งกรมเจ้าท่ามองว่าการลงทุนของเอกชนในครั้งนี้ เป็นส่วนกระตุ้นให้เกิดการเดินทางและการขนส่งอย่างมาก อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาเดินทางเมื่อเทียบกับการเดินทางและการขนส่งสินค้าทางบก ที่ต้องใช้ระยะทางกว่า 1 พันกิโลเมตร ขณะที่เส้นทางเดินเรือมีระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร 

161129563670

รายงานข่าวจากกองทัพเรือระบุว่า “ท่าเรือจุกเสม็ด” อยู่ในความดูแลของกองทัพเรือ มีท่าเรือด้วยย่อยในพื้นที่ 6 ท่า โดยในท่าเรือที่ 1-3 ใช้ในการจอดเรือรบ ส่วนที่เหลือเป็นท่าเรือที่ใช้ขนส่งน้ำมันและพัฒนาเป็นท่าเรือพาณิชย์รองรับโครงการอีอีซี

ทั้งนี้ ในโครงการแรกเป็นโครงการก่อสร้างท่าเรือเฟอร์รี่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก โดยได้ปรับปรุงท่าเรือหมายเลข 6 ซึ่งเป็นสะพานท่าเทียบเรือ 2 สะพาน กว้าง 13 เมตร ยาว 75 เมตร เพื่อให้รองรับผู้โดยสารได้วันละ 4,000 คน พร้อมกับรองรับเรือเฟอร์รี่ ซึ่งจะมาจาก 3 เส้นทาง คือ 1.เส้นทางสัตหีบ-หัวหิน-ปราณบุรี

2.เส้นทางสัตหีบ-เกาะช้าง-สีหนุวิลล์ (กัมพูชา) -นครโฮจิมินห์ (เวียดนาม) และ 3.เส้นทางสัตหีบ-เกาะสมุย-สิงคโปร์

รวมทั้งได้ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารเฟอร์รี่ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก รองรับผู้โดยสารวันละ 1,200 คน บนพื้นที่ 20,000 ตารางเมตร ประกอบด้วยอาคารผู้โดยสารพื้นที่ใช้สอย 6,000 ตารางเมตร ใช้รองรับผู้เดินทางท่องเที่ยว และขนส่งรถยนต์ พร้อมกับปรับปรุงส่วนขึ้นลงเรือเฟอร์รี่ของผู้โดยสาร และรถยนต์บริเวณหน้าท่าเทียบเรือเฟอร์รี่

อย่างไรก็ตามยังมีโครงการอื่นๆ ทั้งโครงการปรับปรุงร่องน้ำ และบริเวณพื้นที่จอดเรือท่าเรือจุกเสม็ด ,การศึกษาสำรวจออกแบบ และวางผังการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกัน ทั้งทางทหาร และเป็นท่าเรือสนับสนุนส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน และท่าเรือส่งเสริมกิจกรรมขนส่งภาครัฐ ,โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือน้ำมัน เพื่อเป็นท่าเรือเอนกประสงค์ รองรับเรือครูซส์