จาก ‘กาละแมร์’ ถึง 'ถั่งเช่า' ต้องรู้ทัน! อาหารเสริมแบบไหน ‘โฆษณาเกินจริง’

จาก ‘กาละแมร์’ ถึง 'ถั่งเช่า' ต้องรู้ทัน! อาหารเสริมแบบไหน ‘โฆษณาเกินจริง’

กรณีอาหารเสริมของ "กาละแมร์" ที่ อย. เข้าตรวจสอบพบว่ามีการ "โฆษณาเกินจริง" ทำให้คนไทยตื่นตัวเรื่องนี้กันมากขึ้น ชวนรู้เท่าทันวงการโฆษณาอาหารเสริม ว่าต้องเช็คยังไง? ถึงจะไม่โดนหลอกให้เสียเงิน

กระแสดราม่าแรงไม่หยุด สำหรับกรณี "อาหารเสริมกาละแมร์" ที่ทาง อย. ตรวจสอบพบว่ามีการอวดอ้างสรรพคุณครอบจักรวาล เข้าข่าย "โฆษณาเกินจริง" ด้านชาวเน็ตก็ขุดคลิปออกมาแฉอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีหลายคลิปพบว่า "กาละแมร์" พูดอวดอ้างสรรพคุณเวอร์เกินจริง เช่น สามารถรักษามะเร็งระยะที่ 3 ได้ รักษาโควิด-19 ได้ ช่วยเพิ่มตาสองชั้น จมูกเข้ารูป กระชับใบหน้า เหนียงหาย ฯลฯ ซึ่งล่าสุดถูกดำเนินการทางกฎหมายแล้ว

ไม่ใช่แค่เคส "อาหารเสริมกาละแมร์" ที่กำลังถูกจับตามอง แต่ยังรวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอื่นๆ ในเมืองไทย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ "ถั่งเช่า" ที่มีการ "โฆษณาเกินจริง" ว่อนโซเชียลมีเดีย ทางฝั่งหน่วยงานผู้ดูแลเรื่องนี้อย่าง กสทช. หรือ อย. ก็เร่งตรวจสอบและดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนฝั่งประชาชนเองก็ต้องรู้จักสังเกตและตรวจสอบอาหารเสริมเหล่านี้ให้ดีก่อนซื้อด้วย

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ชวนผู้บริโภคตั้งสติก่อนซื้อ "อาหารเสริม" ต้องแยกแยะความจริงและความเกินจริงให้ออก ..แล้วจะรู้ได้ไง? ว่าแบบไหนเรียกว่า "โฆษณาเกินจริง" เรารวบรวมมาให้เช็คลิสต์ ดังนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

161123358529

  • อาหารเสริม ไม่ใช่ ยา

อันดับแรก ต้องเข้าใจก่อนว่าผลิตภัณฑ์ "อาหารเสริม" ไม่ใช่ยา และส่วนประกอบของอาหารเสริมก็ต้องไม่ใช่ยาด้วย ใช้รักษาโรคไม่ได้ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าอาหารเสริมที่วางขายทั่วไปเกือบทั้งหมดมักอวดสรรพคุณว่ารักษาโรคได้ เช่น ลดความอ้วน เพิ่มหน้าอก เพิ่มความขาว เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เหล่านี้ถือว่าเป็นการอวดอ้างสรรพคุณทางยา ซึ่งเข้าข่ายโฆษณาเกินจริงและผิดกฎหมาย

และเนื่องจากว่าอาหารเสริมไม่ใช่ยา จึงไม่สามารถออกฤทธิ์ให้เห็นผลได้ทันทีที่รับประทานเข้าไป หากอาหารเสริมตัวใดที่รับประทานแล้วเกิดปฏิกิริยาหรืออาการภายใน 30 นาที ให้สันนิษฐานว่ามีการแอบใส่ยาอันตรายเป็นส่วนผสม

  • แม้จะมีเครื่องหมาย อย. ก็ใช่ว่าจะไม่ผิดเรื่องโฆษณาเกินจริง

มีข้อมูลจาก สำนักคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บส.) ระบุว่า ผลิตภัณฑ์ "อาหารเสริม" ใดๆ ก็ตาม แม้ว่าจะมีเครื่องหมาย อย. / เลขสารบบอาหาร และเลขทะเบียนยา / เลขที่ใบรับแจ้ง การมีเครื่องหมายเหล่านี้เป็นการยืนยันอนุญาตผลิตภัณฑ์เท่านั้น ไม่ได้เป็นการแจ้งว่าผลิตภัณฑ์นั้นผ่านการอนุญาตให้โฆษณาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ดังนั้น การตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีการโฆษณาอย่างถูกกฎหมาย จะต้องดูที่ "เลขที่อนุญาตโฆษณา" ซึ่งจะแบ่งตามประเภทของผลิตภัณฑ์แต่ละอย่าง ได้แก่ 

- อาหาร/อาหารเสริม ต้องระบุ >> ฆอ. .../....

- ยา ต้องระบุ >> ฆท. .../....

- เครื่องสำอาง >> ไม่ต้องขออนุญาตโฆษณา แต่ต้องไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญ

161123358519

  • อ้างสรรพคุณรักษาโรค = โฆษณาเกินจริง

หากอาหารเสริมนั้นๆ มีการโฆษณาอวดอ้างถึงสรรพคุณเรื่องการรักษาโรค เช่น สามารถบำบัด รักษา ป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาด สามารถรักษาโรคได้ครอบจักรวาล และสามารถรักษาโรคเรื้อรัง ร้ายแรง เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ เสริมสมรรถภาพทางเพศ เหล่านี้เข้าข่ายโฆษณาเกินจริง

  • อ้างสรรพคุณทางเวชสำอาง = โฆษณาเกินจริง

หากอาหารเสริมนั้นๆ มีการโฆษณาอวดอ้างถึงสรรพคุณทางเวชสำอาง เช่น กินแล้วทำให้ผิวขาวขึ้นภายใน...วัน ลดความอ้วน ลดไขมันส่วนเกิน อกฟูรูฟิต ระงับกลิ่น หน้าอกเต่งตึง เหล่านี้เข้าข่ายโฆษณาเกินจริง

161123358567

  • อ้างว่าทดแทนศัลยกรรมได้ = โฆษณาเกินจริง

หากอาหารเสริมนั้นๆ มีการโฆษณาอวดอ้างเปรียบเทียบว่าสามารถทดแทนการศัลยกรรมได้ เช่น กรอบหน้าชัด ช่วยกระชับผิวหน้า เหนียงหาย หน้ายก เปลี่ยนหนังตาตกเป็นตา 2 ชั้น รอยขมวดคิ้วหาย ร่องแก้มตื้น จมูกเข้ารูป ลดไขมันส่วนเกินบนใบหน้า เหล่านี้เข้าข่ายโฆษณาเกินจริง 

โดยทาง อย. ออกมาชี้ชัดแล้วว่าคำโฆษณาเหล่านี้ ไม่เป็นความจริง ไม่มีผลิตภัณฑ์อาหารตัวใดที่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใบหน้า หรือการทำงานของร่างกายได้ตามที่กล่าวอ้าง การโฆษณาดังกล่าวเป็นการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นการโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณอันเป็นเท็จ หลอกลวงให้หลงเชื่อโดยไม่สมควร อ่านเพิ่ม : อย. เอาผิด "กาละแมร์" โฆษณาโอ้อวดเกินจริง

  • 4 ข้อต้องทำก่อนซื้อ "อาหารเสริม"

1. ใช้สติวิเคราะห์แยกแยะ ‘ความเป็นจริง’ กับ ‘ความเกินจริง’

2. อ่านฉลากผลิตภัณฑ์อย่างละเอียดก่อนซื้อทุกครั้ง (หรือขอดูภาพฉลากหากเป็นการซื้อออนไลน์)

161129511847

3. มองหาสัญลักษณ์ที่ผ่านการอนุญาตจาก อย. รวมถึงต้องดู "เลขที่อนุญาตโฆษณา" ด้วย เช่น ฆอ. XX/25YY ที่แสดงไว้บนพื้นที่สื่อโฆษณา

4. รู้จักสืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์ โดยตรวจสอบจากเว็บไซด์ www.fda.moph.go.th คลิกไปที่ในหัวข้อ “สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์” โดยนำเลขทะเบียน อย.ที่อยู่บนฉลากมาตรวจสอบว่าชื่อที่จดแจ้งไว้กับ อย. ตรงกับที่ปรากฏบนฉลากหรือไม่

ย้ำอีกทีว่า.. การโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอันเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินจริง ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค หากพบโฆษณาที่เข้าข่ายโอ้อวดเกินจริงผ่านสื่อวิทยุหรือโทรทัศน์ สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังที่ผู้ประกอบการสื่อที่โฆษณานั้นๆ หรือที่สายด่วน อย. 1556 หรือที่สำนักงาน กสทช. Call Center 1200

----------------------

อ้างอิง : 

กองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค อย.

oryor.com

bcp.nbtc.go.th

food.fda.moph.go.th

ocpb.go.th