จับตาเงื่อนไข “ถอยฝั่งละก้าว" เดินหน้า “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

จับตาเงื่อนไข “ถอยฝั่งละก้าว"  เดินหน้า “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

เมื่อ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล็อควันที่จะเข้ารัฐสภาปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทางที่ "กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ" ของรัฐสภา ต้องเร่งเดิน คือ หาข้อยุติในรายละเอียดที่แตกต่างกัน ให้จบกันด้วยดีที่สุด

      เมื่อไทม์ไลน์​ทางการเมืองต่อเรื่อง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้เป็นเบื้องต้นว่า จะเข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา วาระสอง ในวันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ นี้ หรือหลังจากนี้อีกประมาณ 1 เดือนเศษ

      ดูเหมือนจะมีเวลามากพอที่ กรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) รัฐสภา ที่มี “วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ​“ เป็นประธานกรรมการ จะทำเนื้อหาให้เรียบร้อยก่อนนำส่งเข้ารัฐสภา

      แต่หากดูตามเนื้อในแล้วจะพบว่า ต่อให้มีเวลามากเท่าใดหากฝ่ายการเมือง 2 ฝั่ง ยังเห็นไม่ลงรอยกัน หรือไม่เห็นพ้องต้องกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ​จะถูกกลั่นกรองออกมาได้โดยสมบูรณ์ และเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย

      และแน่นอนว่า เมื่อความเห็นที่ไม่ลงตัว ย่อมนำไปสู่การลงมติชี้ขาด ซึ่งขณะนี้มีการพูดถึงแล้วว่า “ต้องนัดวันโหวต” ไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์นี้

161115314816

      เมื่อพิจารณาจากเสียงในกรรมาธิการทั้ง 45 คน จะพบว่า เสียงข้างมาก 17 เสียง เป็นของพรรคร่วมรัฐบาลจาก 5 พรรค รองลงมาคือ ส.ว.จำนวน 15 เสียง และสุดท้ายเป็นของพรรคร่วมฝ่ายค้าน 13 เสียง

      ดังนั้นหากจะใช้เสียงข้างมากตัดสิน เชื่อแน่ว่าซีกของพรรรคร่วมรัฐบาลที่มีพลังมือมากกว่า พ่วงกับแรงหนุนของ ส.ว.จะโหวตชนะในทุกประเด็น

      อย่างไรก็ดี การโหวตชนะทุกประเด็นของ “ฝ่ายรัฐบาล” ไม่ใช่ผลดี และไม่ใช่วิถีที่พึงจะทำ เพราะผลที่ได้จะตีกลับรุนแรง ซึ่งส่งผลไปถึง “รัฐบาล” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หากมีแรงกดดันและการคัดค้าน "ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการ” จากสังคม

      ดังนั้นในทางที่เป็นไปได้ และเชื่อว่าจะเป็นทางออกคือ การเจรจาต่อรอง และถอยกันคนละก้าว

      ในชั้นนี้ สมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษก กมธ.ซีกฝ่ายค้าน บอกว่า กมธ.ซีกฝ่ายค้านพร้อมถอยในบางประเด็น หาก กมธ.เสียงข้างมากยอมให้ “สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ” หรือ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ทั้ง 200 คน ตามฉบับที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเสนอ

      “รัฐบาลไม่ต้องกลัวกับการเลือกตั้ง ต่อเมื่อรัฐบาลเป็นผู้ควบคุมและกำหนดทุกอย่าง ซึ่งการให้สิทธิประชาชนเลือก ส.ส.ร.ทั้ง 200 คนนั้น ฝ่ายค้านเห็นว่าเหมาะสมต่อการได้ตัวแทนที่จะมาทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

161115335888

      สิ่งที่ตัวแทนพรรคฝ่ายค้านยืนยันนั้น ทำให้เห็นภาพสะท้อนว่าหากจะให้โหวตกันทุกประตู ฝ่ายค้านมีแต่แพ้ กับแพ้ เพราะเสียงต่างกันมากถึงเท่าตัว

      และเมื่อนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเข้าสู่รัฐสภา และโหวตวาระสามที่ต้องใช้เสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาเป็นเกณฑ์ หรือ เกิน 375 เสียง แม้รัฐบาลจะมีเสียงข้างมากที่ 376 เสียง แต่ลำพังเสียงข้างมากของฝั่งรัฐบาลไม่เพียงพอจะให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบได้

      เพราะตามเนื้อหาของมาตรา 256 (6) ของรัฐธรรมนูญ กำหนดเกณฑ์เห็นชอบอย่างแท้จริงเอาไว้ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ต้องการให้เกิดการยอมรับในทุกฝ่ายร่วมกัน

      โดยต้องมีเสียงของ ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ส.จากพรรคที่ไม่มีสมาชิกในพรรคนั่งเก้าอี้รัฐมนตรี มีตำแหน่งประธานสภาฯ และรองประธานสภาฯ จำนวนไม่น้อยกว่า 20% ซึ่งในที่นี้คือไม่น้อยกว่า 49 เสียง และใช้เสียงของส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวน ส.ว.ที่มีอยู่ คือ 84 เสียง รวมอยู่ในเสียงเห็นชอบนั้นด้วย จึงจะทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นผ่านความเห็นชอบไปได้

      ดังนั้นหากในชั้นกรรมาธิการไม่ผ่อนความยึดติด ไม่ว่าจะประเด็นของฝ่ายใดย่อมมีผลกระเทือนถึงการลงมติในวาระสามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้