'กอ.รมน.ภาค1' ชี้ 10 ข้อจริง 'สยามไบโอไซเอนซ์' ไม่บิดเบือน

'กอ.รมน.ภาค1' ชี้ 10 ข้อจริง 'สยามไบโอไซเอนซ์' ไม่บิดเบือน

'กอ.รมน.ภาค1' เผยแพร่ที่มา 'สยามไบโอไซเอนซ์' เกิดจาก อาจารย์หมอมหาวิทยาลัยมหิดล เสนอให้ 'สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์' ดำเนินการ

19 ม.ค.2564 จากกรณี นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมาวิจารณ์ถึงการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล และเชื่อมโยงบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ 

ล่าสุดเพจ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรภาค1 โพสต์ขอมูลโดยระบุว่าข้อจริง...ไม่มีเท็จ หรือบิดเบือน เกี่ยวกับ "สยามไบโอไซเอนซ์"
1. สยามไบโอไซเอน​ซ์ เกิดจากอาจารย์หมอจากมหาวิทยาลัยมหิดล เสนอให้สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาทำ (โดยสำนักทรัพย์สินฯ ออกทุนทั้งหมด) และมีคณะแพทย์ฯ ศิริราช เป็นหุ้นส่วนฝ่ายการวิจัยและพัฒนา

2. มีการดึงทีมบริหารจาก SCC มาช่วยสยามไบโอไซเอน​ซ์ เนื่องจากต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีการผลิต  "ยาชีววัตถุ" ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีเทคโนโลยีชั้นสูงแบบนี้มาก่อน

3. ต้องแสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติม เพราะเป็นเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ จึงร่วมกับ CIMAB รัฐวิสาหกิจของคิวบา เพราะเป็นประเทศชั้นแนวหน้าของโลก ในอุตสาหกรรมยาชีววัตถุ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

4. จากนั้น ขยายการร่วมทุนตั้งบริษัทเอบินิส แยกมา ทำโรงงานผลิต เพื่อป้อนยาชีววัตถุให้กับคิวบา และการส่งออกไปต่างประเทศ ด้วยสัดส่วนการลงทุน 70/30 (สยามไบโอไซเอนซ์/คิวบา)

5. โรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ ออกแบบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ได้มาตราฐานสูงมาก ทั้ง PIC/S และ GMP เป็นโรงงานที่ไม่มีการปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม (Zero Emission)​

6. วิจัยยาชีววัตถุสำเร็จแล้ว 6 รายการ และได้รับการรับรองแล้ว 2 รายการ มีสายการผลิตอยู่ที่ 1 ล้านโดสต่อปี ตอบสนองความต้องการยาภายในประเทศได้ 1/4  ประหยัดงบประมาณการซื้อยาจากต่างประเทศได้ 50% (หรือ 3,000 ล้านบาทต่อปี) แต่สยามไบโอไซเอนซ์เอง "ขาดทุน" 70 ล้านบาทต่อปี
7. การผลิตวัคซีนโควิด (ความร่วมมือระหว่างอังกฤษกับไทย)  โดยฝ่ายอังกฤษเป็นผู้เลือกเอง  เพราะเขามีฐานการวิจัยและการอุดหนุนจากองค์การอนามัยโลกอยู่แล้ว รัฐบาลไทยไม่มีหน้าที่ชี้นำใดๆ

8. ปัจจัยสำคัญในการ "เลือกโรงงาน" ของสยามไบโอไซเอน​ซ์ น่าจะเป็นเพราะว่าต้องเลือกโรงงานที่ทันสมัยที่สุด และมี ความพร้อมในการผลิตสูงที่สุด

9. รัฐบาลอนุมัติงบ 6 พันล้าน เป็นการจัดซื้อจัดหาจากแอสตราเซนเนกา และสยามไบโอไซเอน​ซ์แค่รับจ้างผลิตให้แอสตราเซนเนกา ไม่ได้รับจ้างรัฐบาลไทย

10. ความร่วมมือระหว่างแอสตราเซนเนกา กับรัฐบาลไทย  เป็นความร่วมมือในการวิจัย-การผลิต-การถ่ายทอดองค์ความรู้ อันนี้เป็น "ผลพลอยได้" นอกเหนือจากการทำสัญญาซื้อวัคซีน (ที่จะทำให้คนไทยเข้าถึงยาที่ผลิตเองในประเทศ ราคาถูก และไทยก็จะมีความมั่นคงด้านวัคซีนในอนาคต และสามารถเป็นฐานการผลิตวัคซีนในภูมิภาคนี้อีกด้วย)

161105985150