ไทยยันหนุนต่อ 'ท่าเรือทวาย' เฟ้นแนวทางเดินหน้าโครงการ 

 ไทยยันหนุนต่อ 'ท่าเรือทวาย'  เฟ้นแนวทางเดินหน้าโครงการ 

ไทยถือว่ามีข้อได้เปรียบทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจอย่างรอบด้านซึ่งโครงการหนึ่งที่มีการริเริ่มมานานคือโครงการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษบ้านพุน้ำร้อน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี  ซึ่งเชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัทฯ และคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนภายใต้บริษัทที่จดทะเบียนในเมียนมา กับคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของเมียนมา ต่อกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ความว่าตามที่บริษัทฯ และคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุนภายใต้บริษัท ที่จดทะเบียนในเมียนมา (“Project Companies”) รวม 5 บริษัท ได้รับสัมปทานโครงการเขตเศรษฐกิจ พิเศษทวายระยะแรก โดยได้ลงนามสัญญาสัมปทานกับคณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายของ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (Dawei Special Economic Zone Management Committee (“DSEZ MC”)) เพื่อดำเนินการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในพื้นรวมสัญญาสัมปทานจำนวน 7 ฉบับ                

กระทั่ง เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา Project Companies ทั้ง 5 บริษัท ได้รับหนังสือแจ้ง การบอกเลิกสัญญาสัมปทานรวม 7 ฉบับ จาก DSEZ MCเนื่องจาก DSEZ MC อ้างว่า Project Companies ผิดนัดไม่ชำระ ค่าสิทธิตามสัญญาสัมปทาน และไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขบังคับก่อนบางประการในการเริ่มดำเนินการตามสัญญาสัมปทานได้

โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติให้ที่ปรึกษากฎหมายของบริษัทฯ ดำเนินการจัดทำหนังสือชี้แจงและโต้แย้งข้อกล่าวหา ของ DSEZ MC ข้างต้นโดยด่วน

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการร่วมระดับสูงระหว่างไทย-เมียนมาเพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (JHC) กล่าวถึง โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย ว่าในทางนโยบายของรัฐบาลยังคงสนับสนุนและต้องการที่จะเดินหน้าโครงการนี้ โดยยังถือว่าเป็นโครงการสำคัญในทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาล 

 

โดยที่ผ่านมารัฐบาลไทยมีการลงทุนในโครงการในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ เช่น ถนนมอเตอร์เวย์สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี ซึ่งเตรียมพร้อมที่จะเปิดให้บริการได้ในเร็วๆนี้ 

ทั้งนี้ โครงการนี้มีคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่ายได้แก่ไทย เมียนมา และญี่ปุ่น ซึ่งก็ควรที่จะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง เนื่องจากไม่ได้มีการประชุมกันมานานแล้วเพื่อหาทางออกโครงการให้เดินหน้าต่อไป รวมถึงก็ต้องดูด้วยว่าจะคุ้มครองนักลงทุนชาวไทยอย่างไรหากเขาไม่ได้ทำผิดสัญญาก็ควรที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศ 

 “กรณีของบริษัทเอกชน (บมจ.อิตาเลียนไทย) ที่ถูกยกเลิกสัญญาสัมปทาน 7 ฉบับคิดว่าบริษัทจะได้รับความคุ้มครองตามกฎบัตรอาเซียน บริษัทเองก็คงต้องไปดูว่าในทางข้อกฎหมายสามารถที่จะทำอะไรได้บ้างต้องดูร่างสัญญาที่มีอยู่ว่าทำอะไรได้บ้าง”  

วันฉัตร สุวรรณกิตติ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) กล่าวว่า ตอนนี้ สศช.กำลังรวบรวมข้อมูลและความคืบหน้าของโครงการทั้งหมด เสนอรองนายกรัฐมนตรีสุพัฒนพงษ์พิจารณา และจะต้องมีการหารือร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศด้วยว่าจะมีแนวทางการดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้

161068552563

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 14 ม.ค.ที่ผ่านมาอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน

คณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย-เมียนมา เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง (JCC)ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการทวายฯประกอบด้วยกระทรวงคมนาคม ,สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ. ,สศช. และสำนักงบประมาณ 

โดยประเด็นที่หารือกันคือสถานะของโครงการ การปล่อยกู้ให้รัฐบาลเมียนมาสร้างถนนจากชายแดนบ้านพุน้ำร้อน กาญจนบุรี ไปถึงพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทวาย ซึ่งรัฐบาลยังกันเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำไว้ให้รัฐบาลเมียนมา 4.9 พันล้านบาท รวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่เอกชนของไทยถูกถอนสัมปทานในโครงการทวาย