เทียบความต่างของ 'โควิด-19' ปี 2563 VS ปี 2564 ในประเทศไทย

เทียบความต่างของ 'โควิด-19' ปี 2563 VS ปี 2564 ในประเทศไทย

ส่องความแตกต่างการระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 กับปี 2564 ในประเทศไทย ต่างกันอย่างไรบ้าง?

การระบาดของโควิด-19 รอบนี้ คือตั้งแต่กลางเดือน ธ.ค.2563 เป็นต้นมา มีความแตกต่างที่สำคัญจากการระบาดรอบที่แล้วในช่วงปลายเดือน มี.ค.-เม.ย.2563 ที่สามารถสรุปได้ดังนี้

1.การระบาดรอบแรกในเดือน มี.ค.-เม.ย.2563 นั้น พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยต่อวันสูงสุดประมาณ 120 คน แต่รอบล่าสุดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันประมาณกว่า 300 คนและอาจปรับตัวสูงขึ้นต่อไปอีกได้

2.รอบแรกนั้นเกิดความตื่นกลัวอย่างมาก เพราะรัฐบาลเองก็บอกให้ประชาชนกลัวและเป็นเรื่องแปลกใหม่ แต่รอบนี้แม้ว่าจะระบาดรุนแรงกว่ารอบแรกที่แล้วมาก แต่ไม่ใช่เรื่องใหม่และรัฐบาลก็พยายามไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ไม่กล้าปิดเศรษฐกิจและประกาศเคอร์ฟิว เพราะรู้ว่ารอบนี้ความเสียหายอาจจะสูงและยืดเยื้อมากกว่ารอบที่แล้วก็ได้

3.ขณะนี้เศรษฐกิจไทยยังเปราะบางอยู่มาก เพราะเศรษฐกิจยังแทบจะไม่ได้มีโอกาสฟื้นตัวจากการระบาดรอบที่แล้วเลย จีดีพีเพิ่งติดลบไป 6-7% ในปี 2563 และที่เดิมคาดเอาไว้ว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 4% ในปี 2564 นั้น อาจต้องลดการคาดการณ์ลงมาเหลือเพียง 2% หรือต่ำกว่านั้นก็ได้

4.การระบาดรอบนี้จะแก้ไขยากกว่ารอบที่แล้วอย่างมาก เพราะต้นเหตุของการระบาดแตกต่างกัน ในเดือน มี.ค.-เม.ย.2563 นั้น การระบาดมีต้นเหตุมาจากคนไทยและชาวต่างประเทศที่เป็นโควิด-19 เดินทางกลับมาประเทศไทยทางอากาศยาน แล้วนำเอาโควิด-19 กลับมาด้วย แนวทางจัดการคือการยุติการเดินทางเข้า-ออกประเทศทางอากาศแล้วปิดกิจกรรมภายในประเทศ (ล็อกดาวน์) เป็นการชั่วคราวก็สามารถยุติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมเพียง 3,000-4,000 รายและเสียชีวิต 50 กว่าราย 

ณ เวลานั้น ประเทศเพื่อนบ้านไม่มีผู้ป่วยเป็นโควิด-19 เลย เพราะประเทศแรกๆ ที่รับเอาโควิด-19 กลับมาภูมิภาคนี้คือประเทศที่เศรษฐกิจเปิดและพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง เช่น ประเทศไทย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และฮ่องกง เป็นต้น

5.แต่รอบนี้คือปี 2564 ประเทศไทยอยู่กับภาวะที่ประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญ คือ เมียนมาและมาเลเซียกำลังต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ที่ค่อนข้างจะหนักหน่วง กล่าวคือ

5.1 เมียนมา : มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 127,584 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 2,766 ราย และยังมีผู้ป่วยที่ต้องดูแลอยู่ในขณะนี้ 15,000 ราย โดยพบผู้ป่วยรายใหม่วันละประมาณ 630 คน

5.2 มาเลเซีย  มีจำนวนผู้ป่วยสะสม 122,845 ราย เสียชีวิตไปแล้ว 509 คน และยังมีผู้ป่วยที่ต้องดูแลอยู่ในขณะนี้ 22,089 คน โดยพบผู้ป่วยรายใหม่วันละประมาณ 2,000 คน

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีชายแดนติดกับเมียนมายาวประมาณ 2,400 กิโลเมตร และชายแดนติดกับมาเลเซียยาวประมาณ 595 กิโลเมตร ดังนั้น หากเวลาผ่านไปแล้วจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศไทยต่อวันจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนใกล้เคียงกับประเทศเมียนมาและมาเลเซีย ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดแต่อย่างใด

6.ประเด็นที่สำคัญคือ ประเทศไทยพึ่งพาเมียนมาและมาเลเซียอย่างมากในเชิงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งพาแรงงานจากประเทศเมียนมา และส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่าน่าจะมีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายเป็นจำนวนมากเป็นล้านราย ซึ่งควบคุมได้ยาก เพราะเป็นกระบวนการที่ผู้ที่มีอิทธิพลได้ผลประโยชน์มูลค่ามหาศาล คล้ายคลึงกับกิจกรรมเลี่ยงกฎหมายอื่นๆ ที่กำลังเป็นสาเหตุการแพร่ขยายของโควิด-19 คือ “บ่อนการพนัน” เป็นต้น

กล่าวคือการปราบปรามจึงน่าจะทำได้อย่างไม่ทั่วถึงและขาดประสิทธิภาพ ทำให้ปัญหาน่าจะยืดเยื้อ แตกต่างจากการยุติการบินเข้า-ออกประเทศเมื่อเดือน มี.ค.-เม.ย.2563

7.รอบที่แล้วเศรษฐกิจได้รับผลกระทบหลักๆ จากการสูญเสียอุปสงค์ (demand) ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดิมเคยเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 40 ล้านคนต่อปี เหลือเพียง 6 ล้านคนในปี 2563 และในปี 2564 นั้นอาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้เพียง 5-6 ล้านคนหรือน้อยกว่านั้นก็เป็นได้ 

แต่ผมคิดว่าประเด็นสำคัญที่แตกต่างจากรอบที่แล้ว (ในเดือน มี.ค.-เม.ย.2563) คือรอบนี้ภาคการผลิต (supply) เสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญด้วย ไม่เพียงแต่การต้องเผชิญกับการหดตัวของอุปสงค์ เพราะดังที่เห็นได้จากกรณีของสมุทรสาคร แหล่งแพร่เชื้อคือแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายที่มีปะปนอยู่กับแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายและแรงงานไทยในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ (โควิด-19 คงไม่เลือกเข้าไปเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการทำอาหารทะเล) 

ดังนั้น เมื่อเห็นว่าโควิด-19 แพร่ขยายไปถึง จ.ชลบุรีและระยอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือหลัก 2 ท่าเรือของประเทศคือแหลมฉบังและมาบตาพุด ก็ทำให้เห็นได้ว่าระบบห่วงโซ่การผลิต (supply chain) ของประเทศไทยเสี่ยงได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญได้ในการระบาดใหม่รอบนี้​

8.การพึ่งพาแรงงานต่างด้าว (ที่ปัจจุบันมีทั้งแบบที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย) นั้น เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไทย เพราะประชากรของไทยกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว โดยจำนวนประชากรที่อยู่ในวัยทำงานจะลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 43.26 ล้านคนในปี 2563 มาเป็น 36.5 ล้านคนในปี 2583 การสูญเสียแรงงานกว่า 6 ล้านคนใน 20 ปีข้างหน้า

หมายความว่าประเทศไทยจะต้องมีนโยบายแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจนและถูกต้องในการส่งเสริมเศรษฐกิจพร้อมไปกับความมั่นคงทางสาธารณสุข ซึ่งอาจเน้นการใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์ หรือการที่ระบบนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่ถูกกฎหมายและปลอดภัย เช่นที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น 

ทั้งนี้ สิงคโปร์นำเข้าแรงงานประมาณ 1.35 ล้านคน (คิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของประชากรสิงคโปร์) และเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานต่างด้าวในเดือน เม.ย.และ พ.ค.2563 แต่ก็สามารถควบคุมการระบาดได้จนประสบความสำเร็จ กล่าวคือปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพียงวันละประมาณ 27 คน