คกก.โรคติดต่อฯไฟเขียวตรวจ'โควิด-19'จากน้ำลาย

คกก.โรคติดต่อฯไฟเขียวตรวจ'โควิด-19'จากน้ำลาย

คกก.โรคติดต่อฯเห็นชอบแผนการให้วัคซีนโควิด-19 พร้อมไฟเขียววิธีการตรวจโควิด จากน้ำลาย-แบบกลุ่มได้ สร้างความสะดวก-รวดเร็วขึ้น หลังข้อมูลกรมวิทย์-มหาลัยสนับสนุนประสิทธิใกล้เคียงSWAB ระดับ 90 %ขึ้นไป 

        เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 11 ม.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์  อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุขเป็นประธาน ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการฯว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการให้วัคซีนโควิด-19 และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอำนวยการให้วัคซีนโควิด-19 มีนพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน  ซึ่งยืนยันว่ารัฐให้ความสำคัญในการจัดบริการวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึงมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยกับประชาชน นอกจากนี้ ยังเห็นชอบการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา2019 จากน้ำลายและการตรวจแบบรวมตัวอย่าง (pooled sample)ในการดำเนินการได้ จะทำให้สามารถเบิกจ่ายงบประมาณจากการตรวจวิธีนี้ได้ ประหยัดงบประมาณและทำให้การควบคุมโรคได้รวดเร็วขึ้น


       นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า สถานการณ์การตรวจของประเทศไทยเปลี่ยนไปมาก ขณะนี้มีผู้ต้องการตรวจมากทั้งเพื่อการควบคุมโรคและการค้นหาเชิงรุกในโรงงานเพื่อสร้างความมั่นในให้กับประชาชน ที่ประชุมจึงเห็นว่าจะต้องมีการปรับการตรวจ ให้เร็วขึ้น ครอบคลุมขึ้น  สะดวกขึ้นและประหยัดมากขึ้น จึงเห็นว่ายังใช้วิธีการSWABหรือเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากหลังโพรงจมูกเพื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธีRT-PCRเป็นหลัก แต่กรณีที่จะใช้วิธีการอื่น เช่น การตรวจจากน้ำลายแล้วนำมาตรวจด้วยวิธีRT-PCRได้ จะทำให้ตรวจได้เร็วขึ้น เพราะสามารถเก็บตัวอย่างได้จากน้ำลายได้เอง และมีข้อมูลสนับสนุนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยต่างๆว่าการตรวจด้วยการเก็บตัวอย่สงจากน้ำลาย ประสิทธิภาพใกล้เคียงกับการเก็บตัวอย่างด้วยการSWAB ระดับ 90 %ขึ้นไป นอกจากนี้ การตรวจเชิงรุกจำนวนมากๆในเวลาอันรวดเร็ว เช่น การค้นหาผู้ป่วยในโรงงาน ซึ่งการจะทำได้รวดเร็วคือการตรวจเป็นกลุ่ม หรือ pooled 
sample

      “เมื่อคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีมติก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด นำไปพิจารณาปรับใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละจังหวัด  แม้ว่าไม่ใช่พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด แต่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสามารถพิจารณาใช้วิธีการนี้ในการตรวจได้ เพราะบางจังหวัดอาจจะมีแรงงานต่างชาติทำงานอยู่จำนวนมาก เป็นต้น”นพ.โอภาสกล่าว

         นพ.โสภณ  กล่าวว่า  คณะอนุกรรมการฯจะเป็นการนำเป้าหมายตามแผนการให้วัคซีนของประเทศไทย มาจัดทำแนวทางในการฉีดวัคซีนให้บรรลุตามเป้าหมายภายในสิ้นปี 2564 ซึ่งอนุฯจะมีการประชุมในวันที่ 15 ม.ค.นี้  อย่างไรก็ตาม การให้วัคซีนนั้นเป็นการป้องกันภายใน เมื่อฉีดแล้วหากได้รับเชื้อร่างกายจะมีสิ่งเข้าไปต่อสู้ แต่การป้องกันภายนอก ไม่ให้เชื้อเข้าร่างกายยังมีความสำคัญด้วยการใส่หน้ากาก ล้างมือบ่อยๆและเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล


       ด้าน นพ.สุรพล โล่ห์สิริวัฒน์ ที่ปรึกษาสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า รพ.เอกชนพร้อมสนับสนุนภาครัฐในการกระจายวัคซีนให้ทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ต้องให้รัฐบาลดำเนินการให้วัคซีนในกลุ่มเสี่ยงตามเป้าหมายก่อน ซึ่งภาคเอกชนจะนำเข้าวัคซีนได้จะต้องเป็นวัคซีนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ไทยก่อนเท่านั้น

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนการให้วัคซีนโควิด-19นั้น เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 นพ.โอภาส กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมในการให้บริการวัคซีนโควิด-19 เริ่มจากการนำเข้าวัคซีน ต่อด้วยการขึ้นทะเบียน การขนส่งวัคซีนและเก็บรักษา ซึ่งต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม แนวทางการให้บริการ การเบิกจ่ายวัคซีนและหลังฉีดแล้วจะต้องมีการเฝ้าระวังอาการ ไม่พึงประสงค์ ภายหลังได้รับวัคซีน ทั้งนี้ คำแนะนำการให้วัคซีนโควิด-19 โดยคณะกรรมการวิชาการแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรกเมื่อมีวัคซีน 2 ล้านโดส วัตถุประสงค์เพื่อลดการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโควิด-19และเพื่อรักษา ระบบสุขภาพของประเทศ ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีน อีก 26 ล้านโดสวัตถุประสงค์ เพื่อรักษาเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ และระยะที่ 3 เมื่อมีวัคซีนพอเพียงสำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันในชุมชนวัตถุประสงค์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในระดับประชากรและ ฟื้นฟูให้ประเทศกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

      กลุ่มเป้าหมายในการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในระยะแรก 2 ล้านโดสหรือ 1 ล้านคนซึ่ง 1 คนต้องฉีด 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์จะดำเนินการใน 5 จังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดงและเข้มงวดก่อน คือ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด จะฉีดให้คน 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ด่านหน้าทั้งภาครัฐ เอกชนและอสม. รวม 80,000 คน 2. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย ทั้งฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง และอื่นๆรวม 20,000 คน 3. บุคคลที่มีโรคประจำตัว เช่น ปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหอบหืดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังที่อยู่ระยะ 5 ขึ้นไป(ไตวายเรื้อรัง) โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิดที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยเคมีบำบัดรังสีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด และ โรคเบาหวาน และ 4.ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดย 2 กลุ่มหลังรวมกัน 9 แสนคน

     เป้าหมายของการฉีดวัคซีน 2 ล้านโดสระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2564 คือ 1.วัคซีน 2 แสนโดสแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์สาธารณสุขด่านหน้า รวมถึงอสม.และเจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนาม ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดจำนวน 20,000 คนและในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อในการมีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่นๆ 180,000 คน 2. วัคซีน 8แสนโดสแรกในเดือนมีนาคม 2564 ฉีดเข็ม 2 ในกลุ่มข้อ 1 จำนวน 2 แสนโดส ส่วนอีก 6 แสนโดสฉีดในกลุ่มจังหวัดควบคุมสูงสุดและชายแดนตะวันตกและภาคใต้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้ารวมอสม.จำนวน 60,000 คนและกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่นๆ 540,000 คนและ 3.วัคซีน 1 ล้านโดสในเดือนเมษายน 2564 ฉีดเข็มที่ 2 ในกลุ่มตามข้อ 2 จำนวน 600,000 คนและอีก 4 แสนโดสสำรองไว้กรณีที่มีการระบาด

     การกระจายวัคซีนนั้น องค์การเภสัชกรรม(อภ.)จะเป็นผู้นำเข้าและขนส่งกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ซึ่งการเตรียมการของหน่วยบริการนั้นทุกสถานพยาบาลเป้าหมายตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปโรงพยาบาลชุมชนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเตรียมการให้บริการวัคซีนโควิชโดยทุกสถานพยาบาลจัดบริการวัคซีนโควิดทุกวันตามความเหมาะสมให้ทุกสถานพยาบาลกำหนดจุดบริการวัคซีนโควิคแบบ fast track โดยมีจุดบริการที่ชัดเจน และให้แต่ละสถานพยาบาลกำหนดทีมผู้รับผิดชอบการให้วัคซีน