อินเดียไฟเขียววัคซีน‘แอสตร้า-ภารัตไบโอเทค’

อินเดียไฟเขียววัคซีน‘แอสตร้า-ภารัตไบโอเทค’

อินเดียไฟเขียววัคซีน‘แอสตร้า-ภารัตไบโอเทค’โดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ระบุว่า วัคซีนนี้ทำให้ชาวอินเดียทุกคนภาคภูมิใจ และวัคซีนทั้งสองตัวที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินล้วนผลิตในอินเดีย

เลขาธิการ อ.ย.อินเดียอนุมัติวัคซีนโควิด 2 ตัวของแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ด และภารัตไบโอเทค ให้ใช้ได้ในกรณีฉุกเฉิน

วี จี โซมานี เลขาธิการสำนักงานควบคุมยาอินเดีย แถลงวานนี้ (3 ม.ค.) ว่า สำนักงานอนุมัติให้ใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่พัฒนาโดยแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ด และบริษัทยาอินเดีย “ภารัตไบโอเทค” ได้ในกรณีฉุกเฉินประสิทธิผลโดยรวมของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ดอยู่ที่ 70.42% ส่วน “โคแวกซิน” ของภารัตไบโอเทคนั้นปลอดภัย สร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างแข็งแกร่ง

ทั้งนี้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ด อินเดียผลิตเองโดยสถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย ส่วนโคแวกซิน ภารัตไบโอเทคร่วมมือกับสภาวิจัยทางการแพทย์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล

ด้านนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ยินดีกับการอนุมัติวัคซีน

“นี่ทำให้ชาวอินเดียทุกคนภาคภูมิใจ วัคซีนทั้งสองตัวที่ได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินล้วนผลิตในอินเดีย” นายกฯ อินเดียทวีตข้อความ พร้อมระบุด้วยว่า นี่คือสัญญาณของการเป็นประเทศพึ่งพาตนเอง

เมื่อวันเสาร์ (2 ม.ค.) ประกาศ ชวาเดการ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงข่าวสารและกระจายเสียงเผยกับผู้สื่อข่าวว่ายังมีวัคซีนรออนุมัติอีก 2 ตัวคือวัคซีนไซคอฟ-ดีของไซดัสคาดิลา บริษัทยาอินเดีย และสปุตนิกไฟว์ของรัสเซีย ทั้งสองตัวทดลองทางคลินิกในอินเดีย

“เผลอๆ อินเดียเป็นประเทศเดียวที่มีวัคซีนพร้อมใช้ถึง 4 ตัว ตัวหนึี่งอนุมัติให้ใช้ฉุกเฉินไปแล้วเมื่อวันศุกร์(1 ม.ค)” รัฐมนตรีกล่าวหมายถึงวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ด ที่ผลิตเองในประเทศโดยสถาบันเซรุมแห่งอินเดีย (เอสไอไอ)

ข่าวการอนุมัติโคแวกซินเกิดขึ้นหลังจากสุพราหมาณิยัน สวามี สมาชิกพรรคชาตินิยมของนายกฯ โมดี บ่นผ่านทวิตเตอร์ว่า วัคซีนที่พัฒนาโดยต่างชาติผ่านการอนุมัติแล้ว แต่วัคซีนอินเดียที่ทดสอบกับประชาชนในประเทศหลายพันคนยังต้องรอ

วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ด ที่ได้รับการอนุมัติจากอังกฤษเป็นชาติแรก เมื่อวันอังคาร (29 ธ.ค.) ราคาถูกและใช้ง่ายกว่าวัคซีนคู่แข่งบางตัว เช่น วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนตัวแรกที่ชาติตะวันตกไฟเขียวตอนนี้ยื่นขออนุมัติใช้ฉุกเฉินในอินเดียแล้วด้วย

อย่างไรก็ตามวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ดยังมีข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพ เนื่องจากข้อมูลที่เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ย. พบว่า ฉีดครึ่งโดสตามด้วยเต็มโดสป้องกันโควิดได้ 90% แต่ฉีด 2 โดสเต็มได้ประสิทธิผล 62% ส่วนวัคซีนอินเดีย “โคแวกซิน”แหล่งข่าววงในเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า หลังฉีดไปแล้ว 2 โดสประสิทธิภาพอาจมากกว่า 60%

อินเดียมีผู้ติดโควิด-19 กว่า 10.3 ล้านคน เสียชีวิตราว 150,000 คน แต่อัตราการติดเชื้อลดลงมากตั้งแต่กลางเดือน ก.ย.ที่เคยพุ่งสูงสุด รัฐบาลหวังว่าช่วง 6-8 เดือนแรกของปีนี้จะฉีดวัคซีนให้ประชากร 300 ล้านคนจาก 1,350 ล้านคน โดยจะเริ่มต้นจากผู้ใหญ่อายุเกิน 50 ปี คนที่มีโรคประจำตัว และบุคลากรทางการแพทย์แนวหน้า

ด้านเอสไอไอ บริษัทผลิตวัคซีนรายใหญ่สุดของโลก ตอนนี้มีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า/ออกซ์ฟอร์ดแล้วราว 50 ล้านโดส จะขายให้รัฐบาลในราคาโดสละ 250 รูปี (106 บาท) และขายให้บริษัทเอกชนในราคาโดสละ 1,000 รูปี (410.65 บาท)

การอนุมัติวัคซีนทำให้อินเดียเริ่มฉีดวัคซีนครั้งใหญ่สุดของโลกได้ รัฐบาลเองก็ซ้อมมือทั่วประเทศแล้ว ด้วยการอบรมการฉีดวัคซีนให้บุคลากรสาธารณสุข 96,000 คน

การอนุมัติวัคซีนรอบนี้โซมานีย้ำว่า สำนักงานจะไม่อนุมัติยาใดๆ “หากมีข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยแม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม” ยืนยันว่า วัคซีนปลอดภัย 100% ผลข้างเคียง เช่น ไข้ต่ำ ปวดเมื่อ และแพ้ก็เหมือนกับวัคซีนทุกตัว

องค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ก็ยินดีกับข่าว ปูนัม เคทราพาล ซิงห์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคของดับเบิลยูเอชโอ แถลงว่า การใช้วัคซีนกับประชากรกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการใช้มาตรการด้านสาธารณสุขอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง และการมีส่วนร่วมของชุมชน สำคัญยิ่งในการลดผลกระทบของโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจล่าสุดจากประชาชน 18,000 คนทั่วประเทศ พบว่า 69% ไม่รีบฉีดวัคซีน

“ตอนแรกผมก็ตื่นเต้นเรื่องวัคซีน แต่ตอนนี้ไม่แล้วเพราะไม่ผมไม่ไว้ใจ ผมจะไม่ไปฉีดวัคซีน” วิชัย ดาส นักการธนาคารวัย 58 ปีกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี สะท้อนความกลัวที่เกิดขึ้นทั่วอินเดีย