‘แก้รธน.-ปรองดอง’ไร้จุดร่วม ปมร้อนสั่นคลอน‘นิติบัญญัติ’

 ‘แก้รธน.-ปรองดอง’ไร้จุดร่วม ปมร้อนสั่นคลอน‘นิติบัญญัติ’

แก้รัฐธรรมนูญที่ "ไร้จุดร่วม" ที่ลงตัว "โมเดลปรองดอง" ที่ยังมองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ ปมร้อนที่รอวัดใจฝ่ายนิติบัญญัติอย่าง "รัฐสภา"

ผ่านพ้นปีหนูไฟ ก้าวเข้าสู่ปีวัวดุ การเมืองและการชุมนุม เวลานี้ดูเหมือนหยุดชะงักลงชั่วจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด19ระลอกใหม่เท่านั้น หากแต่ยังรอจังหวะ “ประทุรอบใหม่” ในปี2564จากปัจจัยต่างๆ

ทั้งกระบวนการ “แก้รัฐธรรมนูญ” ที่ได้รับการโหวตจากสื่อมวลชนประจำรัฐสภาว่าเป็น “เหตุการณ์แห่งปี” อันมีผลมาจากความยืดเยื้อการลงมติรับหลัการ ในวาระแรก ที่มีการตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาฯ

กระทั่งนำกลับมาประชุมรัฐสภาอีกครั้งในเดือนพ.ย. ท่ามกลางสถานการณ์สุดเดือดจากภายนอกนั่นคือ“ม็อบราษฎร” ที่รุมเร้าเข้ามายังสมาชิกผู้ทรงเกียรติทั้ง736คน(จำนวนที่มีอยู่) เพื่อทวงถามถึงความจริงใจในการดึง “ฟืนออกจากไฟ” เพื่อหาทางออกให้ประเทศ

160959991963

ผลที่ออกมาคือ รัฐสภาลงมติรับหลักการเพียง2ร่าง ที่มีเนื้อหา กล่าวถึงการได้มาซึ่ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.จากร่างแก้ไขทั้งหมด7ร่าง ส่วนที่เหลือถูกตีตกตั้งแต่วาระแรก ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนผ่านการล่ารายชื่อโดยโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ จนถูกมองว่า เป็นหนึ่งในชนวนขัดแย้งที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข

แม้เวลานั้น “ฝั่งรัฐบาล” จะให้เหตุผลในการโหวตรับหลักการวารแรกเพียง2ฉบับและตีตกอีก5ฉบับว่า “ให้เป็นหน้าที่ของส.ส.ร.เป็นผู้ดำเนินการ”

เอาเข้าจริงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้เริ่มต้น “ตั้งไข่” ในการเสนอโมเดลส.ส.ร.เพื่อมาพิจารณาข้อเรียกร้องหรือประเด็นต่างๆที่มีการเสนอ ให้ตกผลึก

กลับดูเหมือนว่า ทั้ง “ฝ่ายค้าน” และ “รัฐบาล” ยังคงพยายามที่จะเดินเกมชิงไหวชิงพริบ ต่างฝ่ายต่างยังคงยืนยันตามโมเดลที่ตนเสนอ จนไม่สามารถหาจุดร่วมที่ลงตัวร่วมกันได้

“ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล” ต้องการให้มี ส.ส.ร.200คน แบ่งเป็น150คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ตามสัดส่วนจังหวัด และอีก50คน มาจากการเลือกทางอ้อม เหตุผลคือ หากมาจากการเลือกตั้งทั้งหมดอาจขาดผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเข้าใจปัญหา

ต่างจาก “ฉบับฝ่ายค้าน” ที่ต้องการให้มีส.ส.ร. 200คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ด้วยเหตุผลเป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชน ผ่านตัวแทนที่ถูกคัดเลือกโดยประชาชน

สอดคล้องกับ “ม็อบราษฎร” ที่ต้องการให้โมเดลส.ส.ร.ออกมาในรูปแบบฝ่ายค้านเสนอ

แต่เมื่อเช็คเสียงในกมธ.จำนวน45คนดูแล้ว เสียงจากกมธ.ซีกค้านมีเพียง 13 คน ดังนั้นหากท้ายที่สุดกมธ.เลือกที่จะชี้ขาดด้วยการโหวตนั่นย่อมหมายถึง ฝ่านค้านมีโอกาสสูงที่จะเพรี่ยงพร้ำให้กับเสียงจากฝั่งรัฐบาลและฝั่งส.ว.ได้

แต่หากมองในแง่ดี ทั้ง2ฝ่ายหาจุดร่วมซึ่งเป็นที่พอใจร่วมกันได้ สิ่งที่จะต้องติดตามต่อคือ บทบาทของส.ส.ร.ที่กลายเป็นความหวังในการปลดชนวนขัดแย้ง ท่ามกลางแรงกดดัน และอุณหภูมิการเมืองที่รอประทุ

160959996490

ไม่ต่างไปจาก “โมเดลปรองดองสมานฉันท์” อีกหนึ่งประตูฝ่าวิกฤติประเทศ ที่แม้เวลานี้จะได้เห็นโฉมหน้า “6กรรมการสมานฉันท์”ไปเป็นที่เรียบร้อย

ทว่า6รายชื่อที่ปรากฎออกมากลับไร้รายชื่อส.ส.ซีกฝ่ายค้าน รวมถึงกลุ่มผู้ชุมนุมทั้ง2กลุ่มอันถือเป็นคู่ขัดแย้ง อันเป็นเสมือนต้นตอของปัญหา

160960011974

หรือแม้แต่โควตากรรมการในซีกรัฐบาลเอง ก่อนหน้านี้ยังยังปรากฎภาพการปีนเกลียวกันภายในขั้วรัฐบาล ยิ่งเป็นการสะท้อนเกมการเมืองเกมหนึ่ง ที่อาจทำให้เส้นทางสมานฉันท์ในครั้งนี้ล่มไม่เป็นท่าตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น

ทั้ง2ประเด็นถือเป็นตัวแปรสำคัญ และเป็นด่านวัดใจรัฐสภาว่า ที่สุดแล้วจะเป็นตัวปลดชนวนขัดแย้งที่มีอยู่ หรือ จะยิ่งเป็นการสุมฟืนเข้ากองไฟให้ลุกโชนมากยิ่งขึ้นกันแน่?

เปิดศักราชปีวัวดุ ยังคงต้องจับตาการเมืองที่หยุดนิ่งท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสมรณะ เพราะยังอีกหลายปมร้อนที่รอปะทุ และอาจถึงขั้นเป็นการสั่นคลอนฝ่ายนิติบัญญัติอย่างรัฐสภาเป็นได้!