ปีใหม่แล้ว อย่าขี้บ่นขี้วีน ไม่ดีต่อ'สมอง'

ปีใหม่แล้ว อย่าขี้บ่นขี้วีน ไม่ดีต่อ'สมอง'

คนชอบบ่น ชอบวีน อาจไม่รู้ว่า วิธีการเหล่านี้ไม่ใช่หนทางระบายอารมณ์ที่ดี แต่จะส่งผลเสียต่อ"สมอง" เพิ่มโอกาสเป็นโรคหัวใจ โรคอ้วน และรบกวนกระบวนการเรียนรู้และการสร้างความจำ

เทคนิคการวิจัยสมัยใหม่ ทำให้เราได้ความรู้แปลกๆ ที่คาดกันไม่ค่อยถึงอยู่บ่อยๆ วันนี้ผมจะขอเล่าให้ฟังเกี่ยวกับงานวิจัยสมอง 2 ชิ้นครับ

ชิ้นแรกชี้ว่าความจนอาจจะส่งผลกระทบกับสมอง ทำให้กลายเป็นคนซึมเศร้าในอนาคตได้

ส่วนชิ้นที่ 2 บอกว่าการโวยวาย วีนแตก ที่เคยคิดกันว่าจะช่วยปลดปล่อยแล้ว ทำให้อารมณ์กลับมาดีนั้น ส่งผลกลับไปถึงสมองได้ และอันที่จริงแล้วไม่ช่วยอะไรเลยอีกต่างหาก

งานวิจัยแรกเป็นผลงานจากทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) ตีพิมพ์ในวารสาร Molecular Psychiatry (ฉบับ 24 พฤษภาคม 2016) เล่าเรื่องการทดลองเกี่ยวกับสมองไว้อย่างน่าสนใจ

โดยเริ่มจากให้ข้อมูลว่า ใช้อาสาสมัครวัยรุ่นอายุระหว่าง 11-15 ปีรวม 132 คน ซึ่งมาจากครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ กัน โดยราวๆ ครึ่งหนึ่งเป็นครอบครัวที่เคยมีประวัติของสมาชิกในครอบครัวที่เกิดอาการซึมเศร้า

นักวิจัยศึกษากลุ่มตัวอย่างนี้นานกว่า 3 ปี โดยอาศัยทั้งเทคนิคการสแกนสมอง และการประเมินผลทางจิตวิทยา (ตอบแบบสอบถาม)

ทีมวิจัยพบว่า พวกเยาวชนที่เติบโตขึ้นในครอบครัวที่ยากจนกว่าในช่วงเวลาแค่ 3 ปีกว่าดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นชัดเจนกับยีนชื่อ SLC6A4 ซึ่งสร้างโปรตีนควบคุมระดับของสารสื่อประสาทชื่อ เซโรเทนิน (serotonin) ในสมองชัดเจน

มีข้อมูลมาก่อนหน้านี้ว่า สมองส่วนอะมิกดาลา (amygdala) จะถูกกระตุ้นให้ทำงานมาก หากอาสาสมัครเห็นรูปใบหน้าที่โมโหโกรธา และยีนที่ว่านี้ทำหน้าที่คอยควบคุมไม่ให้มีปริมาณเซโรโทนินมากเกินไป วิธีการระดับโมเลกุลในสมองก็คือ จะมีการเติมสารกลุ่ม “เมทิล” ให้กับยีน ถ้ามีการเติมหมู่ “เมทิล” ดังกล่าวจำนวนมากที่อะมิกดาลา ก็จะทำให้มันทำงานลดลง

ที่น่าสนใจ ก็คือวัยรุ่นที่อะมิกดาลาทำงานดี (มีเซโรโทนินมาก) มีแนวโน้มจะเกิดอาการซึมเศร้าได้มากกว่า เมื่อมีอายุเพิ่มมากขึ้น

สรุปว่า งานวิจัยชิ้นนี้ถือเป็นงานชิ้นแรกๆ ที่ชี้ว่า การมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำไปมีผลควบคุมการทำงานของยีน กระทั่งเกิดอาการสะสมที่อาจนำไปสู่ความซึมเศร้าได้มากกว่า และเจ้าอาการสะสมที่ว่านี้ตรวจวัดได้ด้วย

ความจนและสถานะทางสังคมที่ต่ำต้อย จึงไปเปลี่ยนแปลงการทำงานระดับยีน และทำให้คนเรามีโอกาสเจ็บป่วยแบบจำเพาะเพิ่มมากขึ้นได้ โดยในที่นี้คืออาการ “ซึมเศร้า” ในกลุ่มที่มีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคนี้มาก่อน

งานวิจัยอีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวข้องกับการบ่นหรือพูดระบายของคนเรานี่แหละครับ หลายคนอาจจะเชื่อว่า การได้พูดระบายเรื่องคับข้องใจเป็นเรื่องดี ช่วยให้เราสบายใจมากขึ้น

แต่งานวิจัยหลายทศวรรษของศาสตราจารย์ เจฟฟรีย์ ลอห์ (Jeffrey Lohr) แห่งมหาวิทยาลัยอาร์แคนซัส (University of Arkansas) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา ไม่ได้ให้ผลลัพธ์เช่นนั้นเลย แต่กลับให้ผลตรงกันข้าม

ลอห์ ให้ข้อมูลไว้ในบทหนึ่งของหนังสือ The Pseudopsychology of Venting in the Treatment of Anger: Implications and Alternatives for Mental Health Practice (จิตวิทยาเทียมของการระบายเพื่อรักษาความโกรธ: ความเกี่ยวข้องและทางเลือกสำหรับการรักษาสุขภาพใจ) ว่า วิธีการรักษาแบบเก่าๆ ที่ให้ผู้ป่วยที่โมโหง่ายและขี้วีน พูดระบายกับคนไว้ใจได้ เพื่อนสนิท หรือแม้แต่หันไประบายกับสิ่งไม่มีชีวิต เช่น ขว้างปาสิ่งของนั้น ไม่ได้มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนเลย

การบ่นหรือโวยวายบ่อยๆ จนเป็นนิสัย จะไปกระตุ้นให้สมองสร้างส่วนเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทที่เรียกว่า ไซแนปส์ (synapse) ให้ยืดยาวออกทีละน้อย สมองจะสร้างเส้นทางส่งสัญญาณที่จะสะดวกมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงแบบนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ

ดังนั้น นิสัยของเราที่ทำซ้ำๆ ไม่ว่าจะขี้บ่น ขี้วีน หรือในทางกลับกันคือ คิดบวก ชอบมองหาข้อดีในคนหรือเรื่องต่างๆ ก็จะไปสร้าง “แผนที่สมอง” ใหม่ที่กระแสประสาทไหลคล่องมากขึ้นๆ ก็เลยจริงอย่างที่มีคนพูดว่า ให้ระวังนิสัยเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำประจำ เพราะมันจะแก้ไขยากมากในที่สุด

เหตุผลคือ สาเหตุมันเริ่มต้นมาจากการเปลี่ยนแปลงโดยตรงที่สมองนี่แหละครับ

มีการทดลองที่แสดงให้เห็นว่า การโวยวายไม่ได้ช่วยปลดปล่อย หรือลดความโกรธเลย อันที่จริงแล้วกลับนำไปสู่ความก้าวร้าวต่างหาก

นักวิจัยยังกล่าวเตือนอีกด้วยว่า ความเครียดที่เกิดจากพฤติกรรมการบ่น การวีนที่ว่านี้ ส่งผลกระทบกว้างขวางมาก ไม่ว่าจะเป็นการไปลดภูมิคุ้มกันของร่างกาย เพิ่มความดัน เพิ่มโอกาสเป็นโรคหัวใจ โรคอ้วน และโรคเบาหวาน แถมยังรบกวนกระบวนการเรียนรู้และการสร้างความจำ อีกด้วย

การอยู่ใกล้กับคนนิสัยอย่างไร ก็มีผลกับเราด้วยเช่นกัน (ตรงกับสุภาษิตเรื่องคบคนพาลมาก) เวลาเราพยายามรับรู้หรือทำความเข้าใจกับอารมณ์เพื่อน อย่างเช่น ฟังเพื่อนเล่าความทุกข์ในชีวิตประจำวัน หรือชีวิตครอบครัวนั้น สมองจะสร้างกระแสประสาทสื่ออารมณ์แบบเดียวกันขึ้นมาด้วย

นี่เองที่เป็นผลกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ร่วมรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นในคอนเสิร์ต ในม็อบ หรือแม้แต่ในการประชุมสัมมนาหรืออบรมที่บริษัทสินค้าขายตรงจัดขึ้น !

ความโกรธที่ไม่ได้แสดงออกไปกลับหายไปได้ง่ายกว่า หากเราไม่ได้วีนหรือโวยวายใส่คนอื่น วิธีแก้ความโกรธที่ดีมีตั้งแต่การสูดหายใจลึกๆ หรือหาสิ่งที่ผ่อนคลายทำ หรือหาเวลาพักผ่อนจากการทำงานบ้าง แต่หากหนักหนามากหน่อย ก็คงต้องใช้บริการจิตแพทย์ต่อไปครับ

สรุปว่าความจนและนิสัยขี้บ่นขี้วีน สร้างรอยประทับในสมองของเราที่แก้ไขยาก ได้อย่างไม่น่าเชื่อ !