เที่ยวไทยยุคนิวนอร์มอล ‘การ์ดไม่ตก’ สู้โควิด!

เที่ยวไทยยุคนิวนอร์มอล ‘การ์ดไม่ตก’ สู้โควิด!

แม้จะเกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในหลายจังหวัดขณะนี้ การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศถือเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่งที่ “นักท่องเที่ยว” ต้องเพิ่มดีกรีความเข้มข้นปฏิบัติตามมาตรการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยเพื่อดูแลตัวเองและคนรอบข้างอย่างเคร่งครัด!

เรียกว่า ต้องร่วมมือร่วมใจ ยกการ์ดให้สูงขึ้นอีก

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หลังผ่านมากว่า 9 เดือนนับตั้งแต่รัฐบาลมีคำสั่งล็อคดาวน์เดือน มี.ค.ที่ผ่านมาเมื่อเจอการแพร่ระบาดในประเทศครั้งแรก กระทั่งรัฐบาลประกาศปลดล็อคกิจกรรมด้านเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การท่องเที่ยวในประเทศก็เริ่มฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน

แต่ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีอุปสรรคเสมอ! เมื่อเกิดการแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ในช่วงโค้งท้ายเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ สิ่งที่คนไทยทั้งประเทศต้องทำคือร่วมมือกัน “ก้าวข้ามโควิด-19” ไปให้ได้อีกครั้ง

โดยเชื่อว่าขณะนี้คนไทยต่างทราบดีว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อเจอกับโควิด และอยากให้เชื่อมั่นในมาตรฐานด้านสาธารณสุขของไทยซึ่งติดอันดับต้นๆ ของโลกว่าจะรับมือกับการแพร่ระบาดรอบใหม่ได้แน่นอน อย่าเพิ่งกังวลอะไรเกินกว่าเหตุ

“ไม่อยากให้เหตุการณ์นี้ฉุดบรรยากาศการท่องเที่ยวถอยหลังเหมือนเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว หากต้องเดินทางขอแค่ป้องกันตัวเองให้ดี ต้องใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า พกเจลล้างมือ และเว้นระยะห่างทางสังคม อย่าเที่ยวแบบประมาท ยกการ์ดให้สูงเข้าไว้ นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องถือปฏิบัติตามอย่างเข้มข้น”

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ในยุคโควิด-19 พฤติกรรมนักท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ “การท่องเที่ยววิถีใหม่” หรือ New Normal ซึ่งคำนึงถึงปัจจัยมาตรฐานด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยเป็นสำคัญ ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการสร้างมิติใหม่ของการท่องเที่ยวและยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้สูงขึ้น

ททท.ในฐานะผู้นำการขับเคลื่อนและส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงได้วางแผนกลยุทธ์แนวการทำงานขององค์กรในปี 2564 ภายใต้แนวคิด 3D ได้แก่ Domestic ส่งเสริมและผลักดันการท่องเที่ยวในประเทศ Digital ปรับตัวสู่ระบบดิจิทัล สร้างการท่องเที่ยวให้เชื่อมโยงกันทางดิจิทัล ก้าวทันอนาคต และ Dynamic มีความสามารถในการปรับตัว ปรับสู่สมดุลใหม่ เผชิญความผันผวนของสถานการณ์ และมีความยืดหยุ่นในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีใหม่ตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

สำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวในประเทศปี 2563 ททท.คาดว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวไทยจะปิดที่จำนวน 95-100 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ราว 5 แสนล้านบาท หลัง 11 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่ ม.ค.-พ.ย.2563 มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยออกเดินทางสะสมแล้ว 81 ล้านคน-ครั้ง หลังตัวเลขการเดินทางดีดตัวขึ้นมาที่ 15 ล้านคน-ครั้งในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา และเพิ่มเป็น 16 ล้านคน-ครั้งในเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยการเดินทางในประเทศแต่ละเดือนของปี 2562 ก่อนเจอวิกฤติโควิดซึ่งอยู่ที่ 18 ล้านคน-ครั้ง

โดย ททท.ยังคงหวังว่าในเดือน ธ.ค.นี้จะมีการเดินทางไม่ต่ำกว่า 15 ล้านคน-ครั้ง เพื่อให้ได้จำนวนนักท่องเที่ยวไทยตลอดปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และเมื่อเทียบกับสถิติตลาดท่องเที่ยวในประเทศปี 2562 ที่มีการเดินทาง 172 ล้านคน-ครั้ง ก็ถือว่าเป็นการลดลงที่ไม่มากเกินไป

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ ททท.คาดปิดที่ 6.7 ล้านคน สร้างรายได้ 3.3 แสนล้านบาท และเมื่อรวมรายได้ทั้งตลาดในและต่างประเทศปีนี้ เบื้องต้นคาดปิดที่ 8.3 แสนล้านบาท

“ขอให้นักท่องเที่ยวเที่ยวแบบนิวนอร์มอล ด้วยการดูแลตัวเอง และเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขที่ดีของบ้านเรา” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว

ด้านธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวเสริมว่า นอกเหนือจาก “การท่องเที่ยวแบบการ์ดไม่ตก” หนึ่งในนิวนอร์มอลตามความหมายของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมุ่งให้ความสำคัญกับการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เน้นเที่ยวกับคนใกล้ชิด พกเจลแอลกอฮอล์ติดตัวตลอดเวลา และที่ขาดไม่ได้เลยคือหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าซึ่งเป็นเครื่องป้องกันชั้นดี ททท.มองว่าการท่องเที่ยวภายใต้นิวนอร์มอลอีกรูปแบบหนึ่งคือ “การรักษาสิ่งแวดล้อม” เพื่อร่วมกันสร้างสังคม “การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ” (Responsible Tourism) ควบคู่ไปด้วย

“นิวนอร์มอลในมุมของ ททท.จะเป็นมิติที่ลึกขึ้น ไม่ใช่แค่มิติการป้องกันโรคเท่านั้น แต่ครอบคลุมมิติที่ต้องการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวออกเดินทางอย่างมีวินัยมากขึ้น ช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบมากขึ้น”

เพราะนี่เป็นหัวใจสำคัญที่จะรับกับแคมเปญสื่อสารการตลาดตัวใหม่ “เที่ยวเมืองไทย อะเมซิ่งยิ่งกว่าเดิม” ในเมื่อเมืองไทยกลับมาสวยกว่าเดิม ธรรมชาติฟื้นตัวกลับมา ททท.จึงต้องการย้อนถามนักท่องเที่ยวว่า ธรรมชาติกลับมาสวยขนาดนี้ คุณยังอยากจะเที่ยวแบบเดิมๆ ที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอีกหรือไม่