3ปี เงินลงทุนโรโบติกส์ 1.67 แสนล้าน เร่งหนุนการเติบโตรับโอกาสยุคโควิด-19

3ปี เงินลงทุนโรโบติกส์ 1.67 แสนล้าน เร่งหนุนการเติบโตรับโอกาสยุคโควิด-19

ครม.รับทราบ ความก้าวหน้าการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ระยะ 3 ปี เม็ดเงินลงทุนแล้วกว่า 1.67 แสนล้าน มองโอกาสหลังโควิดอุตสาหกรรมยังเติบโตจากความต้องการใช้งานหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้น

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.ที่ผ่านมา รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ซึ่งเป็นมาตรการที่ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการผลิตและการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอาเซียนโดยการมีเทคโนโลยีเป็นของตนเองภายในปี 2569 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2561 - 2563) กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีความก้าวหน้าที่สำคัญ เช่น 

1.การลงทุนด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรม มีมูลค่ารวมประมาณ 1.67 แสนล้านบาท ซึ่งมีอุตสาหกรรมที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการ 92 กิจการ ที่ลงทุนปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มูลค่ารวม 13,984 ล้านบาท

2.จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ Center of Robotics Excellence (CoRE) เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านหุ่นยนต์และอัตโนมัติ โดยรับผิดชอบด้านการพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี รวม 15 หน่วยงาน เช่น สถาบันไทย-เยอรมัน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ นอกจากนี้ ในปี 2562-2563 ได้มีการพัฒนาความพร้อมของผู้ประกอบการเครื่องจักรกลอัตโนมัติและหุ่นยนต์ System Integrator (SI) และผู้ใช้งาน (User) ให้มีความสามารถทางวิศวกรรมระบบ รวม 1,395 คน และ Startup อีก 70 กิจการ รวมถึงพัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบเพื่อประยุกต์ใช้ในโรงงาน รวม 185 ต้นแบบ

160872227495

3.ฝึกอบรมการใช้หุ่นยนต์ฯ ให้กับแรงงาน รวม 2,612 คน พร้อมยกระดับ SI ให้มีความรู้ความสามารถตามมาตรฐานที่ CoRE กำหนด ซึ่งปัจจุบันมี SI ขึ้นทะเบียนกับ CoRE แล้ว 68 ราย

4.พัฒนาระบบสารสนเทศและบริหารจัดการเครือข่าย CoRE ในรูปแบบ Web Service เช่น ระบบขึ้นทะเบียนและรับรองคุณสมบัติของ SI ระบบลงทะเบียนสำหรับฝึกอบรม ระบบการรับรองกิจการที่ขอใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น

5.โครงการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เมืองนวัตกรรม ระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะ (EECi-ARIPOLIS for BCG)

6.การยกร่างประกาศการยกเว้นอากรนำเข้าชิ้นส่วน อุปกรณ์หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และผลักดัน SI ให้มีจำนวนเพียงพอในการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ฯ ในอนาคต

และ 7.การพัฒนาดิจิตอลแพลตฟอร์ม Industrial Transformation เชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ปัญหาของผู้ประกอบการที่ต้องการใช้หุ่นยนต์ฯ อย่างครบวงจร

160872228577

นอกจากนี้ ครม.ยังรับทราบโอกาสสำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ฯ ไทยในอนาคต ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คาดว่า จะมีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านสาธารณสุขและภาคบริการ จึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ผลิตไทย ดังนั้นเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับความต้องการในอนาคต กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนและพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ฯ ในระยะต่อไป โดยเน้นใน 3 ประเด็นได้แก่

 1.เชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานในประเทศอย่างครบวงจรและยกระดับระบบสารสนเทศให้เป็นแพลตฟอร์ม โดยเพิ่มกลไกการคัดเลือก SI การจัดทำสัญญา การควบคุมโครงการ และการบริหารโครงการ 2.พัฒนาระบบอัตโนมัติอย่างง่ายที่เหมาะสมกับบริบทของ SME ในภูมิภาค รวมทั้งเพิ่มจำนวน SI ในต่างจังหวัดให้มีจำนวนเพียงพอ 

และ3.ส่งเสริมการผลิตอุตสาหกรรมด้วยการเชื่อมโยงงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ และ บูรณาการการทำงานเครือข่าย CoRE กับผู้ประกอบการ SI รวมถึงยกระดับการทำงานของเครือข่ายให้มีรูปแบบทางธุรกิจในการหารายได้ เช่น การขึ้นทะเบียน SI การตรวจสอบรับรองคุณสมบัติ เป็นต้น