ปฏิวัติวิธีเรียนรู้ 'สมอง'จำได้ดีช่วงเวลาไหน

ปฏิวัติวิธีเรียนรู้ 'สมอง'จำได้ดีช่วงเวลาไหน

ถ้าเข้าใจเรื่อง"สมอง" ก็จะทำให้การเรียนรู้ดีขึ้น สมองคนสูงวัยจะเรียนรู้ได้ดีช่วงเช้า ส่วนคนหนุ่มสาวไม่ว่าเช้าหรือบ่ายก็ยังกระฉับกระเฉง นอกจากนี้สมองยังต้องพัก เมื่อเรียนรู้เรื่องใดแล้ว นอนหลับสักพัก ก็จะทำให้การเรียนรู้ดีขึ้น

งานวิจัยใหม่ๆ เกี่ยวกับสมองและวิธีการเรียนรู้ ทำให้เราได้ทราบว่า วิธีการเรียนบางอย่างที่เราทำอยู่นั้น แม้จะไม่รู้เหตุผลเบื้องหลัง แต่ก็ใช้งานได้จริงตามที่เคยเชื่อกัน แต่ในทางตรงกันข้าม วิธีการอีกหลายๆ อย่างก็ยังไม่ถูกต้อง ควรต้องมีการปรับปรุงกันยกใหญ่ หรือยกเลิกวิธีเก่าๆ เสีย

ความรู้ใหม่ๆ ก็เช่น สมองคนแต่ละช่วงอายุจะทำงานได้ดีที่สุดในช่วงเวลาของวันที่แตกต่างกันออกไป การศึกษาของนักวิจัยที่สถาบันวิจัยร็อตแมน (Rotman Research Institute) ประเทศแคนาดา พบว่าคนวัยทองอายุ 60–82 ปี มีสมองแบบ “บานเช้า” เพราะทำงานได้อย่างมีสมาธิ ไม่หลุดวอกแวกง่ายๆ ในช่วง 8:30–10:30 น. เมื่อเทียบกับช่วง 13:00–17:00 น.

ผลการสแกนสมองด้วยเครื่อง fMRI (การตรวจสมองและร่างกายแบบพิเศษเพื่อที่จะสร้างภาพการทำงานของเซลล์ประสาทในสมองหรือในไขสันหลังในมนุษย์หรือในสัตว์)พบว่า ในช่วงบ่ายสมองของ สว. เหล่านี้จะเข้าโหมด “เฉื่อย” และทำงานไปตามโปรแกรมอัตโนมัติที่ตั้งมาแต่โรงงาน เอ้ย ตั้งแต่เกิด โดยมีการฝันกลางวัน เป็นตัวอย่างสำคัญที่พบได้บ่อย

ในทางกลับกัน พวกคนหนุ่มสาวจะยังคงแอกทีฟ แม้จะเข้าในช่วงบ่ายแล้ว

การทดลองอีกชุดหนึ่งที่ทำในมหาวิทยาลัยไฟร์บวร์ก (Freiburg University) ประเทศเยอรมนี ทดสอบเปรียบเทียบการท่องจำข้อมูลของวัยรุ่นอายุ 16–17 ปี ในช่วงเวลาบ่าย 3 โมงกับตอน 3 ทุ่ม พบว่าตอนบ่ายเวิร์คกว่ามาก แต่เรื่องน่าสนใจก็คือ หากเป็นการฝึกทักษะที่ต้องมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ตอนเย็นๆ กลับทำได้ดีกว่า

คำแนะนำของนักวิจัยคือ น่าจะใช้เวลาช่วงบ่ายเป็นตารางเรียนพวกภาษา ที่ต้องอาศัยการท่องจำมากสักหน่อย ขณะที่พอถึงช่วงเย็นๆ ให้เข้าคลาสเปียโนหรือเครื่องดนตรีอื่นๆ ก็น่าจะดี

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ พบกันว่าการนอนหลังจากเรียนเนื้อหาหรือทักษะใหม่ๆ ช่วยให้จำได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การนอนที่จะช่วยในแบบนี้ ก็ใช้เวลาไม่เท่ากันด้วย โดยหากเป็นการนอนหลังฝึกทักษะจะใช้เวลาแค่แป้บๆ ต่างกับการนอนหลังร่ำเรียนเนื้อหา เชื่อกันว่าเวลาที่ใช้ไปคือ เอาไป “จัดระเบียบ” ข้อมูลในสมองให้เป็นระเบียบ จะได้จดจำได้นานและดียิ่งขึ้นนั่นเอง

ถ้าการนอนช่วยจัดระเบียบความจำจริงๆ การหยุดพักระหว่างเรียนเป็นระยะๆ จะช่วยอะไรหรือเปล่า ? มีนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยนิวยอร์กสงสัย ก็เลยทดลองดูครับ เขาจับเอาอาสาสมัครมาดูภาพไปชุดใหญ่ๆ ก่อนให้พักทำสมองให้โล่ง คิดอะไรเรื่อยเปื่อยได้ตามใจชอบ

ขณะทดลองที่ว่าก็สแกนสมองไปด้วย ทำให้พบว่าในช่วงพักนั้น สมองส่วน “ฮิปโปแคมปัส” ที่เกี่ยวกับความจำทำงานเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับสมองส่วน “คอร์เทกซ์ (cortex)” ที่ทำหน้าที่คิด

นอกจากนี้ ยังพบอีกด้วยว่า ถ้าคนไหนมีผลสแกนสมองแสดงว่า สมองทั้ง 2 ส่วนทำงานมากขึ้นเท่าใดในช่วงพัก คนๆ นั้นก็จะทำแบบทดสอบในภายหลังได้คะแนนสูงมากขึ้นด้วย นักวิจัยเชื่อว่านี่เป็นหลักฐานว่า หลังการเรียนรู้มีการจัดระเบียบข้อมูลในสมองเกิดขึ้นจริงๆ

คำแนะนำจึงเป็นว่าหากเป็นการเรียนท่องจำคำศัพท์หรือข้อมูลประวัติศาสตร์ การหยุดพักหลังการเรียนจะช่วยให้จดจำเนื้อหาได้แม่นยำมากขึ้น แต่ยังไม่มีข้อมูลนะครับ ต้องพักกันนานแค่ไหนจึงจะเหมาะ อีกทางเลือกหนึ่งที่ดีเหมือนกันคือ ท่องจำอะไรหนักๆ แล้วก็ไปพักเล่นกีฬาครับ เพราะใช้สมองส่วนควบคุมที่แตกต่างกัน จึงช่วยได้เช่นกัน

อีกคำถามหนึ่งที่ยังตอบไม่ได้เช่นกันก็คือ การหยุดพักทำกิจกรรมอื่นหรือไปออกกำลัง ได้ผลดีกว่าหรือแย่กว่าการไปนอนพัก ? แต่คงได้คำตอบในอนาคตอันใกล้นี่แหละครับ

เคยสงสัยไหมครับ การเรียนแบบเป็นกลุ่มช่วยให้คะแนนดีขึ้นจริงหรือเปล่า ?

แม้ไม่ต้องทดลอง หลายคนก็เชื่อว่าต้องเป็นอย่างนั้นแน่ เพราะจบมาแบบเพื่อนช่วยฉุด ช่วยดึงแบบนี้กันมาแล้วในชีวิตจริง ผลการทดลองก็สนับสนุนเรื่องนี้นะครับ  

ซอนดรา แม็กไกวร์ (Saundra McGuire) และโรนัลด์ ฮอฟฟ์แมน (Ronald Hoffman) แนะนำใหการศึกษาด้วยตัวเองกับการไปติวกับกลุ่มเพื่อนๆ นะครับ โดยเฉพาะให้ทำในกลุ่มเล็กๆ ขนาด 3–6 คนเท่านั้น คำอธิบายในเรื่องนี้ก็คือ การเรียนแบบเป็นกลุ่มนี้มันมีกิจกรรม 2 อย่างที่สำคัญเข้ามาช่วยเสริม ทำให้เกิด “การเรียนรู้แบบมีความหมาย (meaningful learning)” มากยิ่งขึ้น คือ มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน

และบ่อยครั้งที่ต้องมีการช่วยกันแก้โจทย์ปัญหา (problem-solving) ที่ไม่เกิดหากอ่านตัวคนเดียว วิธีการแบบนี้ดีมากๆ สำหรับใช้เตรียมตัวสอบครับ เพราะการถาม-ตอบกันในกลุ่มก็คล้ายกับเป็นการ “สอบซ้อม” กันแบบกลายๆ คำแนะนำแถมท้ายเรื่องนี้คือ จะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อกลับไปอ่านเองตัวคนเดียวอีกครั้งหลังจากการติวกันแล้ว

เรื่องสุดท้ายที่นำมาฝากกันก็คือ เราเรียนกันผิดๆ เพราะคิดจะเรียนไปสอบ ผลการวิจัยบอกว่า เราจะเรียนได้ดีขึ้นไปอีกมาก หากเราทำตัวเสมือนว่าต้องเรียนเพื่อนำไป “สอนคนอื่นต่อ”

นักวิจัยที่คอร์แนลทดลองให้นักศึกษาอ่านเนื้อหาส่วนหนึ่ง (ราว 1,500 คำ) ในหนังสือ The Charge of the Light Brigade นาน 10 นาที โดยแบ่งกลุ่มทดลองเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกไม่ได้บอกอะไร ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งนั้นบอกล่วงหน้าก่อนว่า พวกเขาจะต้องเอาเนื้อหาไปเล่าต่อ

ผลก็คือกลุ่มหลังจดจำประเด็นต่างๆ ในเนื้อหาได้มากกว่า และจดจำได้อย่างเป็นหมวดหมู่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด แต่ที่เด็ดสุดคือแม้จะ “หลอกตัวเอง” ว่าต้องอ่านไปเพื่อสอน ปรากฏการณ์นี้ก็ยังเกิดขึ้นได้อยู่

การอ่านเพื่อไปสอบจึงผิด ที่ถูกคือต้องอ่านไปเพื่อสอนต่างหาก !