เตรียมชงผลสอบทุจริต 'การบินไทย' ให้ ป.ป.ช.พบผู้เข้าข่ายทำความผิด20 คน

เตรียมชงผลสอบทุจริต 'การบินไทย' ให้ ป.ป.ช.พบผู้เข้าข่ายทำความผิด20 คน

คณะตรวจสอบทุจริตการบินไทย เผย 14 ธ.ค.นี้ เตรียมให้ถ้อยคำ ป.ป.ช. ชี้มูลผู้กระทำผิด เผยผลตรวจสอบ 6 ด้าน พบผู้เข้าข่ายรวม 20 คน

พล.ต.ท.สาโรช นิ่มเจริญ รองหัวหน้าคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงการบริหารกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และปัญหาการทุจริตของบริษัทฯ ซึ่งทำให้ประสบภาวะขาดทุน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะตรวจสอบเท็จจริงฯ โดยมี พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เป็นประธาน โดยระบุว่า หลังจากคณะทำงานได้ส่งข้อมูลการตรวจสอบไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ และประธานสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ขณะนี้ทางสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งหนังสือกลับมาถึงนายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อขอทราบข้อเท็จจริง และขอเอกสารเพิ่มเติมประกอบการพิจารณา จึงเป็นที่มาของการเรียกประชุมคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ในครั้งนี้

โดยคณะกรรมการฯ เตรียมไปให้ถ้อยคำในวันที่ 14 ธ.ค.นี้ โดยในวันนั้นจะเป็นการไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมในบางข้อที่ ป.ป.ช. มีข้อสงสัย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในขั้นตอนการไต่สวนของ สำนักงาน ป.ป.ช. ที่มี นายสุพจน์ ศรีงามเมือง ผู้อำนวยการสำนักไต่สวนการสุจริตภาครัฐวิสาหกิจ 1 รับหน้าที่เป็นหัวหน้าพนักงานไต่สวน ซึ่งอาจมีการดึงคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ ไปร่วมเป็นหนึ่งในอนุคณะกรรมการไต่สวนฯ อีกด้วย

พล.ต.ท.สาโรช กล่าวอีกว่า จากการประชุมในครั้งนี้สรุปได้ว่า การตรวจสอบทุจริตได้ดำเนินการเสร็จสิ้นกระบวนการในอำนาจที่มีอยู่แล้ว รวมถึงส่งประเด็นไปให้ ป.ป.ช. เพื่อสามารถดำเนินการต่อไป ส่วนเรื่องที่จะไปให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับทาง ป.ป.ช. ในเบื้องต้น ประกอบด้วย 2 เรื่องหลัก คือ

1.การตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารการบินไทย ทาง ป.ป.ช.ได้ขอข้อมูลผู้ส่อทุจริตว่าประกอบด้วยเรื่องใดบ้าง พร้อมทั้งขอทราบชื่อ นามสกุล ตำแหน่งหน้าที่ และมีข้อหาความผิดในเรื่องใด มีผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยหรือไม่

2. จากความผิดในเบื้องต้น ทางคณะกรรมการฯ เคยมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานของรัฐ หรือฟ้องผู้ถูกร้องเป็นคดีอาญาต่อศาล หรือร้องเรียนต่อศาลแล้วอย่างไรบ้าง

“หลังจากการตรวจสอบตลอดระยะเวลา 43 วัน ได้มีการเสนอไปที่ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2563 แต่ไม่ได้มีการระบุว่าผู้กระทำผิดเป็นใครบ้าง ซึ่งใน 6 ด้าน ที่ได้ทำการตรวจสอบแต่ละกรณีพบว่ามีผู้กระทำผิด 2-3 รายต่อด้าน หรือรวมประมาณ 20 คน ซึ่งต้องตรวจสอบว่าใครมีส่วนรับผิดชอบในด้านใด ก็ถือว่าอยู่ในข่ายที่จะต้องสืบสวนออกมาให้ชัดเจนว่าผิดหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบเบื้องต้นมีสิ่งบอกเหตุว่า บุคคลที่เข้าข่ายเป็นผู้กระทำผิดเหล่านี้มีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง อาทิ ฝ่ายช่าง พบว่ามีการเบิกค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ประมาณ 1,500 ชั่วโมงต่อปี จำนวนกว่า 567 ราย คิดเป็นวงเงินค่าใช้จ่ายประมาณ 6 ล้านบาท ซึ่งเรื่องนี้ต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ถึงสาเหตุที่มีการปล่อยให้เบิกจ่ายค่าล่วงเวลาเยอะ และมีเหตุจำเป็นอย่างไร