‘เคเอสแอล’ ลุ้นยอดขายปีหน้าโต 10%

‘เคเอสแอล’ ลุ้นยอดขายปีหน้าโต 10%

“เคเอสแอล” ตั้งเป้ายอดขายปี64 เติบโต 10% รับอานิสงส์ราคาน้ำตาลตลาดโลกขยับ ปริมาณการผลิตเพิ่ม เมินร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ชี้เงื่อนไขเข้มกำหนดปลูกพืชใหม่80% บิดดิ้งค่าไฟอาจไม่คุ้มทุน

นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในงวดปี 2563/2564 คาดว่า ยอดขายจะปรับเพิ่มขึ้น ประมาณ 10% เมื่อเทียบกับปี ผลการดำเนินงานในงวดปี 2562/2563 ที่คาดว่าจะต่ำสุดแล้ว จากปัจจัยลบการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปัญหาภัยแล้งที่ทำให้ปริมาณหีบอ้อยลดลง โดยยอดขายที่เพิ่มขึ้นในปีหน้า จะมากจากปริมาณการขายที่คาดว่าจะมีการส่งออกเติบโตขึ้น ขณะที่ราคาน้ำตาลปีนี้ ปรับเพิ่มขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 13-14 เซนต์ต่อปอนด์ มาอยู่ที่ระดับ 16-17 เซนต์ต่อปอนด์

สำหรับปริมาณอ้อยเข้าหีบของประเทศ ปี 2563/2564 น่าปรับเพิ่มขึ้น ประเมินจากปริมาณน้ำฝนที่เริ่มตกในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น สะท้อนปริมาณอ้อยฤดูกาลใหม่ และน่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น 40-50 % หรือ อยู่ที่ 90-100 ล้านตันอ้อย เมื่อเทียบกับฤดูกาลที่ผ่านมา อยู่ที่ประมาณ 70 ล้านตันอ้อย ขณะเดียวกันราคาขายและปริมาณการส่งออกก็ดีขึ้นเช่นกัน

ขณะที่แนวโน้มธุรกิจเอทานอล ในปี 2564 คาดว่า จะดีขึ้นจากปีก่อน ตามทิศทางราคาขายที่น่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 25-26 บาทต่อลิตร เทียบกับปี 2563 ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 22-23 บาทต่อลิตร เนื่องจากวัตถุดิบปริมาณอ้อยเข้าหีบปี 2562/2563 ออกมาน้อย ส่งผลให้ราคากากน้ำตาล(โมลาส) แพงขึ้นจาก 3,000 บาทต่อตัน เป็น 5,000 บาทต่อตัน

โดยปีนี้ คาดว่ายอดขายเอทานอล จะลดลงประมาณ 5-6% จากผลกระทบโควิด-19 ที่ส่งผลให้ความต้องการใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ สำหรับการผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ปรับลดลง แต่ในส่วนของเอทานอลทางการแพทย์เพิ่มขึ้น จากการที่รัฐผ่อนผันกฏหมายให้สามารถจัดซื้อเอทานอลไปใช้ทางการแพทย์ได้ทำให้มีผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งที่มีความต้องการจัดซื้อเอทานอล สำหรับนำไปผลิตเจลล้างมือและแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ สำหรับป้องกันโรคโควิด-19 และมาตรการนี้กำลังจะสิ้นสุดลงในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเบื้องต้นทางผู้ผลิตเอทานอล จะขอให้ภาครัฐขยายระยะผ่อนผันกฎหมายดังกล่าวต่อไป

ส่วนธุรกิจไฟฟ้าในปี 2564 คาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อน ที่มีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐ ประมาณ 60 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 250 เมกะวัตต์ ซึ่งขณะนี้ บริษัท ยังไม่มีความสนใจที่จะขยายการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้าเพิ่มเติม และกำลังผลิตไฟฟ้าที่มีอยู่ใช้ป้อนโรงงานน้ำตาลก็คุ้มค่ากว่าการขายไฟให้กับรัฐและต้องลงทุนเชื่อมสายส่ง

อีกทั้ง บริษัท ไม่สนใจเข้าร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่ภาครัฐเตรียมประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการนำร่อง 150 เมกะวัตต์ในปี 2564 เนื่องจากพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการในเบื้องต้น ยังไม่คุ้มค่า เพราะกำหนดให้ประมูลแข่งขันค่าไฟฟ้าซึ่งจะทำให้ได้ผลตอบแทนในอัตราที่ไม่สูง ขณะที่การจัดหาวัสถุดิบป้อนโรงไฟฟ้ายังดำเนินการได้ยาก เนื่องจากกำลังให้ต้องมีพื้นที่ปลูกพืชใหม่ประมาณ 80%