'สุริยะ' ดันเศรษฐกิจหมุนเวียน หวังรับมือกีดกันการค้าโลก

'สุริยะ' ดันเศรษฐกิจหมุนเวียน หวังรับมือกีดกันการค้าโลก

ในอนาคต มาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และมาตรฐานสิ่งแวดล้อม จะเป็นมาตรการสำคัญด้านการค้า และคาดว่าอีกภายใน 3 ปี จะกลายมาเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศที่พัฒนาแล้ว มาตรฐานใหม่ที่ว่านี้กำลังเป็นโจทย์ที่รอคำตอบจากนโยบาย BCGของไทย

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อส่งเสริมมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCG ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมขานรับนโยบายดังกล่าว ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการ โดยเฉพาะ สมอ. ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติที่กำกับดูแลและส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมนำมาตรฐานไปใช้

นอกจากนี้ ยังได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม BCG เพื่อที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อผลักดันมาตรการนี้ต่อไป รวมทั้งยังได้มอบหมายให้การนิคมอุตสาหกรรม (กนอ.) เข้าไปเข้มงวดกับนิคมฯ และภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ให้มีการดำเนินงานตามมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนนี้ ทั้งนี้ ภายหลังจากที่โจ ไบเดน ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ จะให้ความสำคัญในเรื่องของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และจะเป็นมาตรการกีดกันการค้าในอนาคต ประเทศต่าง ๆ ที่ทำการค้ากับสหรัฐจะต้องปรับตัวในแนวทางนี้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่พึ่งพาตลาดสหรัฐในสัดส่วนที่สูง

"มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน จะได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคดีขึ้น และยังช่วยให้สินค้าไทยก้าวข้ามกำแพงกีดกันการค้าได้ในอนาคต โดยการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ภาครัฐและเอกชนชั้นนำของไทยจะเข้ามาร่วมเป็นพี่เลี้ยงให้กับบริษัทขนาดกลางและเล็กให้ปรับตัวไปสู่มาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนต่อไป”

160553485726

วันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า สมอ. ได้ดำเนินการกำหนดมาตรฐานตามนโยบายรัฐบาลด้าน BCG โดยกำหนดมาตรฐานพลาสติกชีวภาพ มาตรฐานการนำวัสดุเหลือใช้มาหมุนเวียนใช้ใหม่ และมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์ และลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม   ตั้งแต่กระบวนการผลิต การใช้งาน และการนำกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นวัตถุดิบใหม่ รวมถึงการออกแบบการดำเนินงานของธุรกิจ และการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการ เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่องค์กรทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่งผลให้ปริมาณของเสียที่เกิดขึ้นมีจำนวนลดน้อยลง จนกระทั่งนำไปสู่การไม่มีของเสีย

โดยซึ่งหลังจากนี้ สมอ. จะออกมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์รีไซเคิล ที่จะรับรองว่าสินค้าแต่ละชนิดใช้วัตถุดิบรีไซเคิลกี่เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ผู้ซื้อต่างชาติมั่นใจว่าใช้วัสดุรีไซเคิลจริง และมีความแข็งแรงทดทานตามที่กำหนด

“ สมอ. จะร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในการออกไปให้ความรู้กับผู้ประกอบการทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัวได้ก่อนที่จะมีมาตรการกีดกันการค้า ซึ่งจะทำให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ในอนาคต”

รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. จะออกมาตรการกำหนดให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะต้องใส่ข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (ESG) ในรายงานประจำปีที่เผยแพร่ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ โดยจะเริ่มใช้ในปี 2565

ยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจี ยังได้ใช้เงินลงทุนปีละไม่ต่ำกว่า 1% ของยอดขาย หรือกว่า 4 พันล้านบาท ในการลงทุน innovation spending หรือการใช้จ่ายด้านนวัตกรรม เพื่อใช้นวัตกรรมเข้ามาปรับปรุงกระบวนการผลิตให้รักษษสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ ด้าน