"ส.ว." เกินร้อย รับหลักการ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ-ตีตก ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน

"ส.ว." เกินร้อย รับหลักการ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ-ตีตก ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับประชาชน

การลงมติขั้นรับหลักการของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องจับตาการออกเสียง ส่วนของส.ว​. ที่ มาตรา 256 กำหนดให้เป็นเกณฑ์ผ่าน ล่าสุดมีความเคลื่อนไหวพร้อมเทเสียงสนับสนุนเกิน100 เสียง 2ร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.

       ผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาถึงความเคลื่อนไหวของรัฐสภา ต่อการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จำนวน7 ญัตติในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 17 - 18 พฤศจิกายน นี้ ว่า ตามรัฐธรรมนูญ​มาตรา 256 (3) กำหนดเกณฑ์การออกเสียงลงคะแนนขั้นรับหลักการ ต้องได้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา และต้องมี ส.ว.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนส.ว.ที่มีอยู่ โดยปัจจุบันพบสมาชิกรัฐสภา มีอยู่ทั้งสิ้น 732 คน แบ่งเป็น ส.ส. จำนวน 487 คน และ ส.ว. จำนวน 245 คน ดังนั้นเสียงเห็นชอบต้องได้ไม่น้อยกว่า 366 เสียง โดยในจำนวนดังกล่าวต้องมีเสียงส.ว.ร่วมด้วย 82 คน

       โดยความเคลื่อนไหวล่าสุดของฝั่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เบื้องต้นคาดว่าจะมีส.ว. ลงมติรับหลักการและสนับสนุน ประมาณ 100 - 150 คนที่จะลงมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ คือ ฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล และ ฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่เสนอแก้ไขมาตรา 256 และตั้งหมวดแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่ ให้อำนาจสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็นผู้ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนที่เหลือนั้นยังยืนยันจุดยืนเดิมไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าฉบับใดก็ตาม

       ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับของประชาชนเข้าชื่อ จำนวน 98,041 คน ที่ริเริ่มและเสนอโดยนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงกาอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) พร้อมคณะนั้น ส.ว.มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าจะไม่รับหลักการ แม้จะมีหลักการว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญคล้ายกับ ร่างของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน เนื่องจากมีข้อเสนอให้แก้ไขหลายมาตรา และมีความกังวลต่อประเด็นการยกเลิกกรรมการองค์กรอิสระชุดปัจจุบัน รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่อาจส่งผลให้ถูกตีความได้ว่าคือการนิรโทษกรรมคดีทุจริต ได้

       ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อีก 4 ฉบับ ที่เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้านให้แก้ไขเป็นรายมาตรานั้น ได้แก่ 1.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 ว่าด้วยการยกเลิกบทบัญญัติที่รับรองความถูกต้อง ชอบธรรมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), 2.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 ว่าด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีพรรคการเมือง และยกเลิกมาตรา 272 ว่าด้วยให้อำนาจส.ว.ร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี , 3. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 และมาตรา 271 ว่าด้วยอำนาจของส.ว.ต่อการติดตามแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ และ 4.ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราว่าด้วยระบบเลือกตั้ง นั้น ส.ว.และส.ส.ฝั่งรัฐบาลจะใช้สิทธิงดออกเสียง และบางฉบับไม่รับหลักการ

       ขณะที่การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมในที่ประชุมร่วมรัฐสภา นั้นได้แนวทางปฏิบัติตามที่คณะกรรมการประสานงาน 3 ฝ่าย คือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล, ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน และ ส.ว. ที่ตกลงร่วมกัน คือ วันที่ 17 พฤศจิกายน การประชุมจะเร่ิมเวลา 09.30 น. โดยเริ่มพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ 6 ฉบับก่อน ต่อด้วยการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน ซึ่งกำหนดให้ตัวแทนประชาชน ได้แก่ นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการไอลอว์, นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการไอลอว์ เป็นผู้นำเสนอและตอบข้อซักถาม ก่อนจะพักการประชุม ส่วนวันที่ 18 พฤศจิกายน เวลา 09.30 น. จะเร่ิมกระบวนการลงมติในวาระแรก ด้วยการขานชื่อสมาชิกรัฐสภาทีละคน เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง.