ธปท.ชี้พิษโควิด-19 กระทบ คนแรงงานกว่า3ล้านคน ตกงาน-ชม.ทำงานลด

ธปท.ชี้พิษโควิด-19 กระทบ คนแรงงานกว่า3ล้านคน ตกงาน-ชม.ทำงานลด

ผู้ว่าธปท.ชี้วิกฤตโควิด-19 กระทบกับคนหมู่มาก หากเทียบกับวิกฤตในอดีต จากผลกระทบโควิด-19 กระทบต่อแรงงานกว่า 3ล้านคน จากตกงาน 7-8 แสนคน และทำงานต่ำลง น้อยกว่า 20ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แถมเจอภาวะหนี้ครัวเรือนสูงยิ่งซ้ำเติมรายได้ครัวเรือนวูบ

      นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กล่าวปกฐกถาพิเศษ ในงานเสวนาหัวข้อ เศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 จุดยืนของไทยในเวทีโลก ในงาน Sharing Our Common Futur ร่วมแรง เปลี่ยนแปลง แบ่งปัน ที่จัดโดย ไทยรัฐ ว่า หากย้อนดูประวัติศาสตร์ไทยที่ผ่านมา เศรษฐกิจติดลบ ถดถอยมาแล้ว 3ครั้งด้วยกัน

    ครั้งแรกปี 2540 ที่ส่งผลให้ปี 2541 เศรษฐกิจติดลบถึง8% สองหลังเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2551-2552 ที่เศรษฐกิจติดลบไม่ถึง 1% และรอบนี้ที่เกิดวิกฤตไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่คาดว่า ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีติดลบราว 8% ปีนี้
   ทั้งนี้หากหลังวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2551-2552 แม้จีดีพีติดลบไม่เยอะ แต่ส่งออกติดลบถึง 15% กว่ารอบนี้ที่คาดติดลบเพียง 10%ต้นๆ แต่วิกฤตรอบนั้น แทบจะไม่รู้สึกถึงผลกระทบ เพราะด้วย โครงสร้างส่งออกที่เป็นพระเอก อย่างยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามกลุ่มนี้มีผลต่อการส่งออกถึงครึ่งของการส่งออกทั้งหมด แต่มีมการจ้างงานไม่ถึง4% ดังนั้นในแง่ความรู้สึกถูกระทบไม่มาก
    ต่างกันสิ้นเชิงกับวิกฤติรอบนี้ เพราะจุดที่เศรษฐกิจถูกผลกระทบ เป็นเสมือนกล่องดวงใจของเศรษฐกิจไทย คือภาคการท่องเที่ยว น้ำหนักแง่จีดีพีอยู่ที่ราว 11-2% แต่ที่สำคัญในแง่การจ้างงาน ภาครวมภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ค้าส่งค้าปลีก มีผลถึง 20%ของการจ้างงาน

     ดังนั้นจึงเป็นที่มา ที่ทำให้รู้สึกว่า ถูกกระทบกว่าวิกฤตครั้งก่อนๆ สำหรับคนหมู่มาก แถมโดนซ้ำเติมจากปัญหาหนี้ครัวเรอืนที่อยู่กับเราก่อนโควิด-19 ที่ก่อนหน้าวิกฤตก็เจอหนี้ครัวเรือนสูงที่ระดับ 80% ของจีดีพี และปรับขึ้นมาอยู่ที่ 84% ในปัจจุบัน
     ซึ่งทำให้แรงงานส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบ รายได้ไม่มี ตกงาน และแม้จะไม่ตกงาน100% แต่รายได้จากการทำงานลดลงมาก ตัวเลขการว่างงานที่มีการประกาศตามสื่อ อยู่ที่ราว 7-8 แสนคน แต่เหล่านี้ ไม่สะท้อนการจ้างงาน สะท้อนรายได้ของคน ที่หายไปอย่างแท้จริง เพราะมีจำนวนคนอีกมาก ที่ทำงาน แต่ทำงานน้อย เพราะหากดูจำนวนคนทำงานที่น้อยกว่า 20ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ เหล่านี้มีกว่า2ล้านคน

    ดังนั้นเบ็ดเสร็จแล้ว สองกลุ่มนี้ มีถึงกว่า 3ล้านคน จึงเป็นที่มา ให้ปัญหาครั้งนี้ มีผลกระทบเป็นวงกว้าง จากรายได้ลดลง แถมหนี้สูง ดังนั้นการแก้ปัญหาครั้งนี้จึงต้องแก้ที่รายได้คน และแก้ที่ปัญหาหนี้
    "สิ่งที่จะทำให้มั่นใจว่าเราจะผ่านวิกฤตไปได้ คือด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศ เสถียรภาพระบบการเงิน ดีกว่าวิกฤตก่อนหน้า ชัดที่สุดคือ ทุนสำรองสูง หนี้ต่างประเทศต่ำ ทำให้ภาพต่างกันชัดเจนกับวิกฤตปี 40 ดังนั้นในด้านต่างประเทศเราจึงไม่กลัวว่าจะมีปัญหาอะไร อีกด้านคือระบบธนาคาร ปี40 แบงก์มีปัญหาสารพัด แต่รอบนี้ระบบธนาคารเข้มแข็ง สภาพคล่องสูง เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 19% สูงติดอันดับ3ของภูมิภาค ถือว่าเข้มแข็ง เอ็นพีแอลต่ำอยู่ที่ระดับ3% หากเทียบกับปี40 ที่เอ็นพีแอลวิ่งไปถึง40% ด้านการคลัง หากเทียบกับอดีต ยังเข็มแข็ง สัดส่วนหนี้สาธารณะยังอยู่ระดับต่ำ หากเทียบกับปี 40 สะท้อนฐานะการคลังเข้มแข็ง ดังนั้นเสถียรภาพโดยรวมโอเค”

     ดังนั้นจากด้านเสถียรภาพที่โดยรวมที่ยังดี ทำให้มั่นใจว่า ปัญหารอบนี้แก้ได้ แต่ต้องใช้เวลา และต้องแก้และต้องแก้แบบถูกจุด หากพยายามทำมาตรการเหวี่ยงแห จะไปสร้างผลข้างเคียงที่ไม่ดี ไปสร้างผลข้างเคียงให้เกิดปัญหาเพิ่มเติม และทำให้การแก้ไขปัญหาลำบากขึ้น ดังนั้นต้องแก้แบบที่ถูกต้อง ไม่ใช่เอาถูกใจ
    อย่างการทำมาตรการของธปท.ในช่วงที่ผ่านมา เช่นการพักหนี้ให้กับเอสเอ็มอีเป็นการทั่วไป แบบปูพรหม เหมาเข่ง ที่หมดมาตรการไปแล้วเมื่อ22ต.ค. ดังนั้น หากต่อมาตรการปูพรหมต่อ เชื่อว่าไม่ใช่วิธีที่แก้ปัญหาถูกต้อง แม้จะถูกใจ เพราะกลายเป็นซ้ำเติม และยิ่งปัญหา สร้างผลข้างเคียงที่ไม่ดี
    ตัวอย่างการพักหนี้ แม้จะดูดี แต่จริงๆไม่ได้พักจริงๆ เพราะดอกเบี้ยยังเดินอยู่ แต่จากวิกฤตโควิด-19 ทำให้เราต้องทำ เพราะปัญหามาเร็ว แรง จึงต้องพักหนี้เหมาเข่ง แต่ปัจจุบันเริ่มมีการคลายล็อกดาวน์ กิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ทำให้มีลูกหนี้บางส่วนกลับมาชำระหนี้ได้ และไม่ได้บ้าง

    ดังนั้นเหล่านี้ต้องแยกแยะ จึงไม่เลือกที่จะทำมาตรการปูพรหม เพราะอีกด้านหากพักหนี้ต่อ จะทำให้เกิดแรงจูงใจในการผิดนัดชำระหนี้ หรือ Moral Hazard จนอาจนำไปสู่การเกิดเอ็นพีแอลได้ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหา
    อีกด้าน การพักหนี้แบบเหมาเข่ง จะทำให้กระแสเงินสดจากเจ้าหนี้หายไป ฝั่งธนาคารอาจอ่อนแอลง ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ดี ดังนั้นเหล่านี้คือตัวอย่าง ที่ธปท.พยายามทำ ในสิ่งที่ถูกต้อง มากกว่า ถูกใจ