อย่าให้เกิดรุนแรง เพื่อรัฐประหาร

อย่าให้เกิดรุนแรง เพื่อรัฐประหาร

สถานการณ์ประเทศวันนี้ควรเข้าสู่โหมดสมานฉันท์ ผู้ที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจต่างๆ ต้องตระหนักและอย่าสร้างเงื่อนไขใหม่ให้เกิดความแตกแยกปะทะกัน โดยเฉพาะการตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่อย่าทำให้เกิดเป้าประสงค์เพื่อการซื้อเวลาหรืออาจนำไปสู่การยึดอำนาจรัฐประหาร

เรามีความรู้สึกว่ามีคนบางกลุ่มหวังจะสร้างเงื่อนไข สร้างประเด็นเพื่อนำไปสู่ความขัดแย้ง ปะทะ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายยึดอำนาจ รัฐประหาร ทั้งๆ ที่สถานการณ์วันนี้ ควรเข้าสู่โหมดสมานฉันท์ ประนีประนอม ซึ่งเราเห็นว่าเดินมาถูกทางแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ ส.ส. ส.ว.และรัฐบาล หรือใครก็ตามที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจต่างๆ ต้องตระหนักและอย่าสร้างเงื่อนไขใหม่ ให้สังคมมีข้อสงสัย หรือนำไปสู่วาทกรรมเกิดความแตกแยก ปะทะ

เพราะต้องย้อนกลับไปก่อนหน้าที่เกิดการชุมนุมในหลายจุด เพราะมีข้อสงสัยว่ารัฐบาลและรัฐสภากำลังซื้อเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านกลไกตั้งคณะกรรมการศึกษา ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นก็มีกรรมาธิการศึกษาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้แล้ว ดังนั้นเมื่อมีกระแสข่าว ส.ส.และ ส.ว.กลุ่มหนึ่งมีความพยายามที่จะร่วมกันเสนอญัตติ เข้าชื่อยื่นประธานรัฐสภา เพื่อให้ส่งศาลชี้ขาดร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตั้ง ส.ส.ร. อ้างกฎหมายไม่ให้อำนาจสภาทำใหม่ทั้งฉบับ

โดยก่อนหน้านี้ สมชาย แสวงการ ส.ว. และไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ร่วมกันเสนอญัตติตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ.2563 ข้อที่ 31 ให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 (2) โดยมีสาระสำคัญ เนื่องจากสมาชิกรัฐสภาได้มีการยื่นญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจำนวน 2 ฉบับ ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาในวาระที่ 1 และประชาชนเข้าชื่อยื่นญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 1 ฉบับ ซึ่งอยู่ในระหว่างประธานรัฐสภาเตรียมบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม โดยปรากฏว่าญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมทั้ง 3 ฉบับ ได้มีหลักการและเหตุผล ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น

โดยเนื้อหาสาระในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมบัญญัติให้มีหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และมาตรา 256/1 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ เห็นว่าตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจรัฐสภาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น ตามหลักกฎหมายมหาชน “ไม่มีกฎหมายไม่มีอำนาจ” หมายความว่าหากไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจไว้จะกระทำมิได้ รัฐสภาจึงไม่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐสภามีอำนาจเฉพาะที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 256 คือ ให้มีแต่อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น

ดังนั้นเราห่วงว่า ปมเรื่องการตีความการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นอีกเงื่อนไขใหม่ ทำให้แผนเดินหน้าประเทศแห่งประนีประนอมตามแนวทางสมานฉันท์จะสะดุด และทั้งสองฝ่ายจะหันไปเคลื่อนไหว ปลุกระดมบนท้องถนน สู่เส้นทางปะทะ แตกแยก นำไปสู่การยึดอำนาจรัฐประหาร การเสนอให้ตีความอย่าทำให้เกิดเป้าประสงค์เพื่อการซื้อเวลา เพราะนั่นจะทำให้ประเทศไม่สงบสุข และเดินเข้าสู่เกมของบางกลุ่ม