'อีเวนท์ ป็อป' ผ่ากะลาฝ่าวิกฤติ สู่ บริการออนไลน์

'อีเวนท์ ป็อป' ผ่ากะลาฝ่าวิกฤติ สู่ บริการออนไลน์

แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่ทุกธุรกิจยังคงต้องประคองตัว จึงตัดงบงาน“อีเวนท์”เนื่องจากผลกระทบของโควิดที่เข้ามาได้เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนสู่วิถีชีวิตใหม่ ทำให้อีเวนท์ ป็อป ต้องปรับตัวจากผู้จัดงานอีเวนท์ สู่บริการออนไลน์ ฝ่าทางรอดวิกฤติ

แม็กซ์-ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ ซีอีโอ ผู้ก่อตั้ง อีเวนท์ ป็อป (Event Pop) สตาร์ทอัพแพลตฟอร์มสำหรับงานอีเวนท์ที่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานบริหารจัดการระบบแบบครบวงจร ตั้งแต่การจำหน่ายบัตร ลงทะเบียนเข้างาน ไปจนถึงการจ่ายเงินแบบไร้เงินสด ที่เกี่ยวกับธุรกิจอีเวนท์ต้องปรับตัวหลังเจอวิกฤติโควิดเพราะทำให้ไม่สามารถจัดงานได้

เมื่อโควิดเข้ามาลูกค้าไม่ต้องการสิ่งที่เราพัฒนาอีกแล้วตั้งแต่เดือนก.พ. ถึงเม.ย. เราเปลี่ยนธุรกิจอีเวนท์กลายเป็นธุรกิจพักผ่อน นอนอยู่บ้านแทน เพราะหลังจากที่ส่งอีเมล์ไปหาลูกค้า 2,000 -3,000 รายว่าจะปรับตัวรับโควิดด้วยกันโดยการทำออนไลน์อีเวนท์กันไหมปรากฏว่ามีเมล์ตอบกับมาไม่ถึง100 และมีเจ้าเดียวที่อยากทำ

จากธุรกิจที่เคยเป็น'ดาวรุ่ง' จึงกลับกลายเป็นดาว'ร่วง' ทันที เมื่องานคอนเสิร์ต งานแสดงสินค้าระดับอินเตอร์เนชั่นแนล งานสัมมนาถูกยกเลิกจากที่บริษัทเคยมีรายได้เดือนละหลายล้านบาท ปีๆหนึ่งมีเงินผ่านมือ1,000ล้านบาทก็หายไปในพริบตา !

 แถมยังมี “ต้นทุน”ค่าใช้จ่ายไม่น้อย เมื่อธุรกิจหยุดชะงัก การปรับตัวจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำ เพราะถ้านั่งรอให้ทุกอย่างคลี่คลาย หรือฟื้นตัวคงต้องรอยาวไปถึงปีหน้า อาจส่งผลให้บริษัทต้องเผชิญปัญหาใหญ่

"เรามีต้นทุนคงที่ (fixed cost) อยู่เฉยไม่ได้ ยิ่งในช่วงโควิดถือเป็นความท้าทายมากด้วยพื้นฐานที่เป็นคนชอบทำกับข้าวจึงคิดว่า ถ้าเปลี่ยนจากคลาสเรียนทำอาหารในห้องมาเป็นรีโมท ทุกคนอยู่ที่บ้านแล้วมาเรียนคลาสเรียนทำอาหารออนไลน์น่าจะดี สิ่งที่เราทำคือส่งวัตถุดิบไปให้ที่บ้าน ส่วนเชฟแค่เข้ามาเข้าซูม (Zoom) เพื่อสอน ปรากฏว่า ได้รับความสนใจเพราะมีคนสมัครเรียนเต็มทุกรอบ จึงออกมาหลายคอร์ส ไม่ว่าจะเป็น สอนทำอาหาร ออกกำลังกาย"

แต่ทำแค่นี้ธุรกิจอยู่ไม่ได้ ต่อมาจึงได้จับมือกับ Penguin eat shabu ขายเซ็ทชาบูพร้อมหม้อต้ม โดยใช้ระบบของอีเวนท์ ป็อป เพื่อลดการเกิดปัญหาเข้าจองไม่ได้ลงไป เพราะมีระบบหลังบ้านรองรับการเข้ามาจองในเวลาเดียวกันได้ จึงสร้างปรากฏการณ์การขายชาบูขายหมดหลายร้อยหม้อ ภายใน 4 นาทีเกิดขึ้นในช่วงโควิด นอกจากนั้นยังขาย E-voucher ให้โรงแรมและสินค้าอื่นๆ ซึ่งประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีระบบ O to O  (offline to online and online to offline) ที่สามารถรองรับลูกค้าจากหลากหลายอุตสาหกรรม

  หลังจากนั้น ยังได้ร่วมกับ The Standard ที่ต้องการจัดฟอรั่มเป็นงานแรกๆในประเทศที่เป็นออนไลน์ 100% โดยเข้ามาดูแลเรื่องเทคโนโลยี และเรื่อง live streaming เป็นครั้งแรก กลายตัวอย่างของ virtual conference ในไทยหลังจากจบงานนั้นทำให้คนเข้าใจว่า virtual conference เป็นอย่างไร"

ภัทรพร ยังกล่าวว่า จากเดิมทำธุรกิจอีเวนท์ออฟไลน์ ขณะนี้เปลี่ยนมาเป็นอีเวนท์แบบเวอร์ชวล เพื่อรองรับจากงานอีเวนท์ในรูปแบบต่างๆในยุคนิวนอร์มอล เช่น เวอร์ชวลรัน ที่เข้ามาเป็นทางเลือกให้กับคนชื่นชอบการวิ่ง ถือเป็นการเปิดกว้างจากบริษัทที่ทำอีเวนท์มาทำอะไรใหม่ๆที่ไม่เคยทำมาก่อนเสมือนเจาะกะลาออกมาดูว่านอกกะลา มันมีอะไรให้น่าสนใจบ้างแล้วกลับไปดูว่า องค์กรตนเองมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีอะไรที่จะสามารถต่อยอดในการทำธุรกิจและเหมาะกับคนกลุ่มไหนบ้าง

160470603437

“ผมไม่ได้ทำงานเยอะเพราะบ้าพลัง แต่เป็นเพราะรายได้เดิมที่ทำมาจาก 100% ลดลงเหลือ 10% ฉะนั้นต้องสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมาเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น อย่างน้อยก็หาให้ได้เท่าเดิมก็ยังดี จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องทำหลายอย่างเพื่อเปิดไพ่หาโอกาสว่าอันไหนจะเวิร์ค อีคอมเมิร์ซก็ทำ จองตั๋วเข้าสวนสัตว์ ก็ทำทุกอย่าง”

ภัทรพร ระบุว่า ทุกอย่างมักเริ่มต้นจากวลีที่ว่า'ก็คงดี'  เช่น ถ้าไม่ต้องมาต่อแถว ก็คงดี เพราะใครที่จัดงานอีเวนท์เวลาเก็บเงินถือเงินเป็นล้านเดินรอบงาน ทุกอย่างเริ่มต้นจากคำว่าก็คงดี ถ้าทุกอย่างมันดีกว่านี้ กลายเป็นแนวทางทำให้อีเวนท์ ป็อป พัฒนาเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหา โดยมองปัญหาด้วยมุมมองใหม่ โซลูชั่นใหม่ แล้วพัฒนาขึ้นมาเป็น ‘บริการ’ ที่ช่วยในการแก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นตามสถานการณ์นั้นๆ

สิ่งสำคัญที่ทำให้เราก้าวผ่านช่วงโควิดมาได้ คือคำว่าไวไปไปไว หมายความว่า ทุกอย่างต้องเร็ว เพราะคนในยุคนี้อายุประมาณ 20 ปีหรือหลานๆเราที่อายุประมาณ10กว่าเขาไม่ได้เสพความรู้เหมือนเราสมัยก่อน เขาสามารเปิดยูทูปหาอะไรก็ได้ ลองถามอะไร เขาเปิดกูเกิ้ลตอบได้เด็กรุ่นใหม่ทุกคนมีรสนิยมในการฟังดนตรีที่แตกต่างกัน ดูยูทูปที่แตกต่างกันเพราะว่า เขาสามารถเลือกได้เขาไม่จำเป็นต้องเปิดทีวีช่องหนึ่งเพื่อดูรายการเดียวเหมือนกันอีกต่อไป

จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้อีเวนท์ ป็อป ต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร จากเดิมเป็นบริษัทที่มีหลายแผนกเปลี่ยนเป็นบริษัทที่มีทีมงานหลายทีม ที่มีทรัพยากรมากพอที่จะทำธุรกิจของตัวเองได้เพื่อเปิดโอกาสให้ลองทำสิ่งใหม่ๆ และพร้อมที่จะนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า

ทั้งหมดเหล่านี้ถือเป็น โอกาสในวิกฤติ ที่เกิดขึ้นกับอีเวนท์ ป็อป ในการทรานฟอร์มองค์กรให้มีความยืดหยุ่นและแข็งแกร่งขึ้นในอนาคต เพียงแค่ไม่หยุดนิ่ง และพร้อมที่ปรับตัวให้เข้าสถานการณ์หาโอกาสใหม่ๆ ลูกเล่นใหม่ๆ ในการทำออนไลน์อีเว้นท์ให้น่าสนใจมากขึ้นโดยไม่ยึดติดกับความสำเร็จแบบเดิมในอดีต